สถานการณ์วิกฤตแม่น้ำโขงสายน้ำสีฟ้าครามระดับลดลงต่อเนื่อง

สถานการณ์น้ำโขงยังวิกฤตเนื่องจากระดับน้ำลดลงต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 ล่าสุดระดับน้ำเฉลี่ยต่ำสุดประมาณ 1 เมตร ซึ่งต่ำสุดในรอบ 10 ปี ทำให้พื้นที่แม่น้ำบางจุดเกิดหาดทรายเป็นพื้นที่กว้างเป็นระยะทางยาวนับกิโลเมตร อีกทั้งเมื่อน้ำไหลไม่เชี่ยวจึงเกิดการตกตะกอนกลายเป็นสีฟ้าครามคล้ายน้ำทะเล


จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลต่อลำน้ำสาขาสายหลักทั้งลำน้ำอูน ลำน้ำสงคราม และลำน้ำก่ำ ที่มีปริมาณน้ำน้อย ส่งผลกระทบต่อการทำอาชีพประมง กระทบต่อการขยายพันธุ์ของปลาแม่น้ำโขง ที่ไม่สามารถขึ้นไปวางไข่ได้ตามฤดูกาล

ด้านนางสาวศิราณี งอยจันทร์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดนครพนม เปิดเผยกับสำนักข่าวไทยว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แม่น้ำโขงมีความเปลี่ยนแปลงผิดธรรมชาติอย่างมาก ระดับน้ำลดลงเร็วตั้งแต่ช่วงฤดูฝน ซึ่งมาจากผลกระทบการสร้างเขื่อนในประเทศเพื่อนบ้าน จากข้อมูลการสำรวจในช่วงปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบันพบว่าปลาน้ำโขงที่เคยมีประมาณ 1,000 กว่าชนิด ปัจจุบันเริ่มสูญพันธุ์กว่า 100 ชนิด โดยเฉพาะปลาเศรษฐกิจที่มีราคาแพง และมีระยะเวลาการขยายพันธุ์ช้า ส่งผลให้รายได้จากอาชีพประมงลดลงกว่า 50%

ภายหลังจากกระทรวงทรัพยากรน้ำของจีนมีหนังสือ แจ้งเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2564 เรื่อง ปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนจิ่งหง จากเดิมระบายน้ำวันละ 1,904 ลบ.ม./วินาที เหลือวันละ 1,000 ลบ.ม./วินาที เพื่อบำรุงรักษาสายส่งโครงข่ายระบบไฟฟ้า ระหว่างวันที่ 5-24 มกราคม ทางเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้รวบรวมข้อมูลจากพื้นที่แม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนไทย-ลาว พบว่า บริเวณสามเหลี่ยมทองคำถึง อ.เชียงแสน อ.เชียงของ จ.เชียงราย แม่น้ำโขงลดระดับอย่างรวดเร็ว

จากข้อมูลของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ช่วงที่ลดแรงที่สุดคือ วันที่ 2 มกราคม 2564 ระดับน้ำที่สถานีเชียงแสน อยู่ที่ 2.85 เมตร ในวันที่ 4 มกราคม ลดลงเหลือเพียง 1.94 เมตร จากการสำรวจของกลุ่มรักษ์เชียงของ พบว่าระดับน้ำโขงได้ดึงน้ำจากลำน้ำสาขา เช่น แม่น้ำกก ลดลงอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อเครื่องมือหาปลา การประมง และแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค

ระดับน้ำโขงที่ลดลงยังทำให้แพของกลุ่มประมงพื้นบ้านเชียงคานและแพหาปลาของชาวบ้านเขต อ.เชียงคาน และแก่งคุดคู้ ได้รับความเดือดร้อน และมีความกังวลใจถึงแหล่งน้ำดิบสำหรับทำน้ำประปาหมู่บ้านและอำเภอ

ผลกระทบที่เกิดในพื้นที่ดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลระดับน้ำ MRC ที่ระบุว่า แม่น้ำโขงตอนล่างตั้งแต่เชียงแสน จ.เชียงราย ถึงปากแม่น้ำโขง ที่เวียดนาม ระยะทางกว่า 2,000 กิโลเมตร ข้อมูลสถานีวัดระดับน้ำแม่น้ำโขงทั้ง 15 สถานี ปรากฎกว่า สถานีหลวงพระบาง มีระดับน้ำที่สูงมากที่สุด เนื่องจากการบริหารจัดการเขื่อนตอนบนและเขื่อนไซยะบุรี

โดยระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2563 – 4 มกราคม 2564 ระดับแม่น้ำโขงที่ อ.เชียงแสน ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว (Long Term Average) ขณะที่ระดับน้ำแม่น้ำโขงที่เมืองหลวงพระบาง สปป.ลาว เพิ่มขึ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว เนื่องจากผลกระทบของการบริหารจัดการเขื่อนตอนบนและเขื่อนไซยะบุรี โดยเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2563 ระดับน้ำที่สถานีหลวงพระบาง ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 9.44 เมตร ขณะที่ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 6.43 เมตร ซึ่งระดับน้ำผันผวนมากถึง 3.60 เมตร

ข้อมูลของ MRC ระบุอีกว่า ระดับน้ำที่สถานีเชียงคาน สถานีเวียงจันทน์ และสถานีหนองคาย อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวในขั้นวิกฤต ระดับเดียวกับปี 2562 ระดับน้ำที่ลดลงต่ำมากนี้อาจเกี่ยวเนื่องจากการบริหารเขื่อนตอนบน โดยเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2563 ระดับน้ำโขง ที่หนองคายอยู่ที่ระดับ 1.0 เมตร ซึ่งต่ำมากกว่าค่าเฉลี่ยของระดับน้ำโขงในอดีตที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำสั่งคดีเขื่อนปากแบง บนแม่น้ำโขงสายประธาน แขวงอุดมไซ สปป.ลาว วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 9.30 น. ณ ศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ

โครงการเขื่อนปากแบง (Pak Beng dam project) เป็นเขื่อนแบบน้ำไหลผ่าน (Run Off River) มีแผนจะก่อสร้างอยู่บนแม่น้ำโขงสายประธาน ในเขตเมืองปากแบง แขวงอุดมไชย ทางภาคเหนือของ สปป.ลาว หัวงานเขื่อนตั้งอยู่บริเวณดอนเทด ห่างจากเมืองปากแบงขึ้นไปประมาณ 14 กิโลเมตร ห่างจากชายแดนไทยบริเวณแก่งผาได ต.ม่วงยาย อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ประมาณ 97 กิโลเมตร และห่างจากเมืองหลวงพระบาง ประมาณ 100 กิโลเมตร กำลังผลิตติดตั้ง 912 เมกะวัตต์ และมีแผนจะไฟฟ้าขายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประมาณ 90%

ทั้งนี้มี บริษัทไชน่า ต้าถัง โอเวอร์ซี อินเวสเมนต์ จำกัด (China Datang Oversea Investment Co.,Ltd (CDTO) ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติจีนเป็นผู้พัฒนาโครงการ โดยโครงการเขื่อนปากแบงได้เข้าสู่กระบวนการแจ้งล่วงหน้าและปรึกษาหารือ (PNPCA) ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ. 2538 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2559 และครบระยะเวลา 6 เดือน ในวันที่ 19 มิถุนายน 2560

ขณะนั้นกรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ได้มีการจัดเวทีให้ข้อมูลใน 3 จังหวัด รวม 4 ครั้ง คือ เชียงราย 2 ครั้ง หนองคาย 1 ครั้ง อุบลราชธานี 1 ครั้ง

ประเด็นที่ชาวบ้านกังวลหนักคือ ผลกระทบจากภาวะ “น้ำเท้อ” จากท้ายอ่างเก็บน้ำของเขื่อนปากแบงในเขตชายแดนไทยบริเวณ อ.เวียงแก่น เชียงของ เชียงแสน และผลกระทบต่อลุ่มน้ำสาขาคือ น้ำงาว และน้ำอิง

นอกจากนั้น ในรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม ไม่มีการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดน ทั้งยังมีข้อกังลเรื่องผลกระทบสะสมจากเขื่อนจิงหง หนึ่งใน 11 เขื่อนแม่น้ำโขงตอนบนของจีนที่สร้างผลกระทบต่อระดับน้ำในแม่น้ำโขง ส่งผลต่อระบบนิเวศ การอพยพของปลา ปริมาณตะกอน การเกษตร ประมงพื้นบ้าน รายได้ของชุมชน และตลิ่งพัง

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2560 ตัวแทนกลุ่มรักษ์เชียงของ จำนวน 4 คนและตัวแทนเครือข่าย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ยื่นฟ้องศาลปกครอง โดยผู้ถูกฟ้องคือ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ และคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย โดยขอให้ศาลปกครองพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างเขื่อนพลังงานไฟฟ้าปากแบง และความเห็นต่างๆ ที่ได้ดำเนินการส่งไปยังคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง

เนื่องจากการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมาไม่ครอบคลุมและละเลยดำเนินการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย รวมทั้งการแจ้งข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเหมาะสม การรับฟังความคิดเห็นอย่างเพียงพอและจริงจัง การแปลเอกสารเป็นภาษาไทยเกี่ยวกับโครงการทั้งหมด และการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคม

ทั้งในฝั่งประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้านซึ่งจะได้รับผลกระทบจากอันตรายข้ามพรมแดน ก่อนที่รัฐบาลลาวจะดำเนินการก่อสร้างเขื่อนปากแบง หรือก่อนที่จะมีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าอันเป็นล่าช้าเกินสมควรตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

ต่อมา เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2560 ศาลปกครองมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องกรณีของเขื่อนปากแบง ทางกลุ่มรักษ์เชียงของจึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2560 และจะมีการอ่านคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564

สำหรับความเคลื่อนไหวจากบริษัทไชน่า ต้าถัง โอเวอร์ซี อินเวสเมนต์ ในฐานะผู้พัฒนาโครงการเขื่อนปากแบง เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2562 นายจันสะแหวง บุนนอง อธิบดีกรมนโยบายและแผน กระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ สปป.ลาว พร้อมกับตัวแทนบริษัทไชน่า ต้าถัง โอเวอร์ซี อินเวสเมนต์ ได้ร่วมประชุมกับตัวแทนเครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ณ โฮงเฮียนแม่น้ำของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย

โดยได้หารือในประเด็นข้อกังวลต่อผลกระทบข้ามพรมแดนกรณีน้ำเท้อจากท้ายอ่างเก็บน้ำและผลกระทบต่อระดับน้ำและที่ดินทำกินของชาวบ้านป่าพื้นที่ชุ่มน้ำในแม่น้ำสาขา เช่น แม่น้ำอิง แม่น้ำงาว และผลกระทบการอพยพของปลาแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขา ผลกระทบต่อเกษตรริมฝั่งโขงและระบบนิเวศแก่งต่างๆ โดยทางภาคประชาชนเสนอให้มีการทบทวนการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น

ต่อมาเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2562 มีการประชุมร่วมกันอีกครั้งที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อหาแนวทางการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนจากเขื่อนดังกล่าว แต่ยังไม่มีความคืบหน้าเรื่องกระบวนการศึกษาร่วมกับรัฐบาลลาวและบริษัทจีน

ถัดมา เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 กฟผ.ได้ส่งหนังสือตอบกลุ่มรักษ์เชียงของ กรณีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าว่า กฟผ. ยังไม่ได้มีการเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนปากแบง เนื่องจากอยู่ในกระบวนการทบทวนแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า หรือ พีดีพี 2018 (PDP2018) และต้องรอความชัดเจนจากแผนการพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ก่อน

และเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2562 มีรายงานข่าวว่า รัฐบาลลาวได้ระงับโครงการเขื่อนปากแบงและเขื่อนปากลายไว้ก่อน เนื่องจากต้องศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมข้ามพรมแดนให้ละเอียดครบถ้วนก่อน ดังนั้นปัจจุบันโครงการเขื่อนปากแบงจึงยังไม่มีการลงมือก่อสร้าง

ขอบคุณข้อมูล : www.mymekong.org

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

ชุบชีวิต ‘ขยะทะเล’ เพิ่มมูลค่า ชุมชนยั่งยืน ลดโลกร้อน