‘แม่แจ่มโมเดล’ต้นแบบจัดการป่าแก้ปัญหาฝุ่นควันเชียงใหม่ยั่งยืน

ดัชนีคุณภาพอากาศของเชียงใหม่ในปี 2562 มีความรุนแรงของมลพิษติดอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งมีสาเหตุจากหลายปัจจัยด้วยกัน โดยหนึ่งในนั้นก็คือการเผาวัสดุทางการเกษตรจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวโดยเฉพาะข้าวโพด ซึ่งจากการประเมินพบว่ามีปริมาณซังข้าวโพดเหลือทิ้ง จำนวน 1.2 ล้านตัน/ปี เปลือกข้าวโพด จำนวน 3.1 แสนตัน/ปี หรือคิดเป็น 25% ของผลผลิต (สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2560) การเผาป่าเพื่อหาของป่า และเกิดลุกลามไหม้เข้าไปยังพื้นที่ป่าจนไม่สามารถควบคุมไม่ได้

แม่แจ่มเป็นอำเภอมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดมากที่สุดในเชียงใหม่ จึงต้องหาทางสลัดข้อกล่าวหาผู้สร้างมลพิษทางอากาศให้กับเมือง ซึ่งหนึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหาก็คือการลดพื้นที่เพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อลดการเผา ตลอดจนส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน

นี่เป็นที่มาของ “แม่แจ่มโมเดล” หรือพื้นที่นำร่องที่เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันและไฟป่าควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาเรื่องสิทธิของชาวบ้านในการจัดการป่าไม้และที่ดิน จนนำไปสู่การปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิต ระบบเศรษฐกิจ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่อำเภอแม่แจ่มให้เกิดเป็นรูปธรรม

กระทั่งความสำเร็จของแม่แจ่มโมเดลได้ถูกขยายการขับเคลื่อนไปเป็น “แม่แจ่มโมเดลพลัส” หรือกลไกเพื่อพลิกฟื้นป่า ยับยั้งการบุกรุกป่า  หยุดปัญหาไฟป่า  ฝุ่นควัน  ลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว  ลดการใช้สารเคมี  ฯลฯ และมีการส่งเสริมการปลูกไผ่  กาแฟ  เป็นพืชเศรษฐกิจ และเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ชุมชนมากขึ้น

ดร.พลภัทร เหมวรรณ  หัวหน้าศูนย์ภูมิภาคและเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (ภาคเหนือ) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า ปัญหาฝุ่นควันในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือโดยเฉพาะเชียงใหม่มาจากหลายปัจจัย เช่น สภาพภูมิประเทศที่เป็นแอ่งกระทะและภูเขาล้อมรอบ ปัญหาการเผาป่า เผาเศษซากวัสดุในภาคเกษตร เมื่อประกอบกับสภาพกดอากาศที่เอื้อให้เกิดการสะสมฝุ่นควันและฝุ่นพิษในอากาศก็ยิ่งทำให้ปัญหาทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

ดร.พลภัทร เหมวรรณ  หัวหน้าศูนย์ภูมิภาคและเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (ภาคเหนือ) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (คนกลาง)

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA ระบุว่า พื้นที่เผาไหม้ของอำเภอแม่แจ่ม ปี 2563 มีประมาณ 227,365 ไร่ ลดลงจากปี 2558 ที่มีการเผา  563,799 ไร่ ต้นตอปัญหาหลัก ๆ ที่ทำให้เกิดการเผาป่ามีความเชื่อมโยงกันหลายมิติ เริ่มจากชีวิตความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ที่มีความยากจน มีความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากการทำการเกษตรเชิงเดี่ยวที่ล้มเหลวในการสร้างรายได้ที่ไม่แน่นอนแถมเกษตรกรมีหนี้สินจำนวนมาก ดังนั้นต้องแก้ปัญหาหลายด้านไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้เกิดความยั่งยืน

ด้วยแนวคิดดังกล่าวทำให้เกิดแม่แจ่มโมเดลคือการใช้อำเภอแม่แจ่มเป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่องในการสร้างชุมชนซึ่งอาศัยและใช้ประโยชน์อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์มาเป็นแนวร่วมปกป้องดูแลพื้นที่ป่า โดยได้จัดการที่ดินให้กับชุมชนผ่านคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) แก้ปัญหาที่ดินในเขตป่า ลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างประชาชนในพื้นที่และเจ้าหน้าที่รัฐลง โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งในแม่แจ่มมีหมู่บ้านอยู่ในพื้นที่ป่า จำนวน 152 หมู่บ้าน จากทั้งหมดในเชียงใหม่ที่ชาวบ้านทำกินอยู่ในเขตป่า จำนวน 1,467 หมู่บ้าน

ทั้งนี้ อำเภอแม่แจ่มเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำสำคัญทางยุทธศาสตร์ในพื้นที่สูงของภาคเหนือ มีประชากรประมาณ 60,000 คน เดิมอาชีพส่วนใหญ่ คือการพึ่งพาระบบเกษตรบนพื้นที่สูง ปลูกพืชเชิงเดี่ยวสลับพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพืชที่สร้างรายได้ต่ำ เกษตรกรกลุ่มนี้มีรายได้เพียงปีละ 20,000 บาทต่อครัวเรือน จึงเป็นเรื่องยากที่พวกเขาจะหลีกเลี่ยงการเตรียมพื้นที่เพาะปลูกที่ใช้ต้นทุนต่ำที่สุด นั่นก็คือการเผา หากไม่สามารถแก้ปัญหาความเป็นอยู่ของเกษตรกรกลุ่มนี้ได้ โอกาสที่จะลดการเผาก็จะยาก แม้จะมีการกำหนดบทลงโทษก็ตาม

อย่างไรก็ตาม การผลักดันให้ชุมชนในเขตป่า โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ให้สามารถอาศัยและทำประโยชน์ในที่ดินอย่างถูกต้องตามกฎหมายไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแค่เริ่มต้นจะสำรวจจำนวนประชากรทั้งหมดในพื้นที่ ส่วนใหญ่ไม่ให้ความร่วมมือเพราะกลัวว่าการลงลายมือชื่อจะถูกนำไปเป็นข้ออ้างในการดำเนินคดีหรือเอาผิดในคดีรุกป่าภายหลัง

“ต้องใช้เวลาและความพยายามอย่างสูงในการสร้างความเข้าใจ สร้างความมั่นใจว่า ภาครัฐจะเข้ามาให้สิทธิในพื้นที่ทำกิน เข้ามาพัฒนาอาชีพ สร้างทางเลือก สร้างป่า สร้างรายได้ ด้วยเกษตรแบบผสมผสาน ปลูกไม้เศรษฐกิจ เช่น ไผ่ ไม้มีค่า ควบคู่กับการพัฒนาอาชีพและระบบการตลาดที่รองรับความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่เพื่อให้มีรายได้ ทำให้คนในพื้นที่แม่แจ่มกลายเป็นแนวร่วมในการดูและรักษาพื้นที่ป่า” อาจารย์พลภัทรระบุ

การสร้างความมั่นใจของชาวบ้านให้มีมากขึ้นต้องมีมาตรการทางวิชาการมารองรับด้วย ซึ่งมีงานวิจัยระบุว่า โดยปกติการทำไร่ข้าวโพดประมาณ 110,000 ไร่ จะมีเศษวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรประมาณ 96,000 ตัน โจทย์ที่ได้ถูกนำไปประสานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน องค์กรชุมชน ภาควิชาการ รวมถึงภาคธุรกิจ ให้สนับสนุนแนวทางในการลดเศษวัสดุเหลือใช้จากภาคเกษตร ซึ่งเท่ากับเป็นการลดเชื้อเพลิงที่จะถูกเผา

แนวทางที่ได้ของแม่แจ่มโมเดลนั่นก็คือ การใช้มาตรการในการบริหารเชื้อเพลิง เช่น การจัดการเศษวัสดุจากไร่ข้าวโพด 60,000 ตัน ผ่านโครงการหยุดเผาพื้นที่การเกษตร ส่งเสริมการไถกลบตอซังทำปุ๋ยหมักในพื้นที่ราบ โดยมีเป้าหมาย 11,000 ไร่ จัดระเบียบพื้นที่ที่เหลือ 90,000 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่เชิงเขา และการบริหารเชื้อเพลิงในจุดที่นำไปบดละเอียด​ก่อนนำไปผลิตเป็นอาหารสัตว์หรือ​ปุ๋ยหมักอีก 35,000 ตัน โดยการรณรงค์ให้นำไปผลิตเป็นอาหารสัตว์ ปุ๋ยหมักอินทรีย์ เชื้อเพลิงอัดแท่ง อัดฟ่อน ให้กลุ่มพลังงานชีวมวล นำไปเป็นวัสดุสำหรับเพาะเห็ด

นอกจากนี้ ให้วิสาหกิจชุมชนนำไปสร้างผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น กระทง กรอบรูป ฝ้าเพดาน กระดาษ ซึ่งหลังจากได้ช่วยกันวางแผน ออกแบบแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้ครอบคลุมทุกวงจรในที่สุด จุดความร้อนหรือจุดฮอตสปอตที่ดาวเทียมตรวจพบในแม่แจ่มซึ่งเคยเป็นพื้นที่ที่มีค่าความร้อนสูงผิดปกติก็ลดลงจากปี 2558 ที่มีมากถึง 548 จุด ลดลงเหลือ 19 จุด ในปี 2561

แม่แจ่มโมเดลจึงแสดงให้เห็นแล้วว่า ความร่วมมือของชาวบ้านในการแก้ปัญหา คือกลไกสำคัญในการดูแลชุมชน โดยเริ่มจากการมีสิทธิทำกินเป็นของตัวเอง สร้างบ้านที่มีระบบสาธารณูปโภค เมื่อวิถีการเกษตรแบบดั้งเดิมเปลี่ยนไปเป็นการเกษตรแบบผสมผสาน มีแหล่งน้ำใช้ในแปลงเกษตร มีคำแนะนำเรื่องการแก้ปัญหาดูแลดิน มีองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่ช่วยแก้ปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ได้จริง ปัญหาที่เคยเผชิญอยู่ก็บรรเทาลง

“คนในพื้นที่แม่แจ่มตระหนักแล้วว่า การปลูกพืชเชิงเดี่ยวหมุนเวียนพื้นที่ไปเรื่อย ๆ ไม่สามารถตอบโจทย์ความเป็นอยู่ได้ เพราะนอกจากได้ผลผลิตที่มีราคาไม่แน่นอนแล้ว ยังต้องเพาะปลูกในพื้นที่ที่เข้าถึงและดูแลยาก บางรายเคยต้องไปทำเกษตรในพื้นที่ที่ต้องใช้เวลา 6 เดือนในการเพาะปลูกและใช้เวลาอีก 6 เดือนในการลำเลียงผลผลิตด้วยการเดินเท้าออกมาจากพื้นที่ เป็นรูปแบบที่ไม่คุ้มกับการลงทุนและลงแรง การพัฒนาพื้นที่เพาะปลูก สร้างแหล่งหากินใกล้ชุมชน สร้างพื้นที่ป่าเป็นการลงทุนลงแรงที่ยั่งยืนกว่า

“เมื่อปัญหาถูกแก้ตั้งแต่จากต้นทาง ความเป็นอยู่ค่อย ๆ เริ่มมีหลักประกันที่มั่นคงขึ้น การเฝ้าระวังเรื่องไฟป่า เรื่องการเผาพื้นที่เกษตรก็กลายเป็นเรื่องที่จัดการได้ไม่ยาก สามารถสร้างกลไกการดูแลพื้นที่ป่าอย่างเป็นระบบ เช่น เมื่อมีฮอตสปอตเกิดขึ้นที่ไหนก็ประสานให้คนในชุมชนเข้าตรวจสอบ และรายงานความเคลื่อนไหวจากพื้นที่นั้น ๆ เพื่อเฝ้าระวังไฟป่าหรือการเผาในพื้นที่เกษตรในช่วงวิกฤตหมอกควันได้ทันทีและนับเป็นโมเดลที่นำไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่อื่น ๆ ได้ด้วย” อาจารย์พลภัทร ระบุ

นึ่งในพืชสำคัญที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและรายได้เกษตรกรหภายใต้โครงการแม่แจ่มโมเดลพลัส คือ “ไผ่” ซึ่ง ประพันธ์ พิชิตไพรพนา กรรมการวิสาหกิจชุมชนแปรรูปและผลิตภัณฑ์ไผ่แม่แจ่ม กล่าวว่า ไผ่เป็นพืชที่โตเร็ว การปลูกไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยหรือใช้ยาฆ่าแมลง และให้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมมากมาย ทางตรงคือ เป็นพืชที่คนในชุมชนนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ทั้งเป็นแหล่งอาหารและสร้างอาชีพด้านงานหัตถกรรม นำมาแปรรูปได้แทบจะทุกส่วน หน่อกินได้ ขุยนำมาทำเป็นปุ๋ย ใยใช้เป็นเครื่องขัดผิว ลำต้นใช้ในการก่อสร้างที่อยู่อาศัย หรือใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมในครัวเรือน

ขณะที่ทางอ้อม พื้นที่ที่ปลูกจะได้ประโยชน์จากคุณสมบัติที่สามารถกักเก็บน้ำได้ปริมาณมาก และเป็นพืชที่ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดี รวมถึงได้ชื่อว่าเป็นเครื่องสูบน้ำของป่า เพราะมีคุณสมบัติดูดซับน้ำจากดินและจะคายน้ำคืนสู่ดิน ระบบรากที่แผ่ขยายกินบริเวณกว้างช่วยตรึงไนโตรเจนปรับปรุงคุณภาพดินให้ดีขึ้นและช่วยป้องกันการกัดเซาะหน้าดิน ซึ่งส่งผลดีต่อดินช่วยรักษาความชุ่มชื้น และใบไผ่ที่ร่วงหล่นย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยในดินได้อีกด้วย

สำหรับไผ่ที่ส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกมีทุกขนาด แต่จะเน้นไผ่พันธุ์พื้นเมือง ‘ฟ้าหม่น’  ซึ่งมีแหล่งกำเนิดในอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่  ลักษณะเด่นของไผ่พันธุ์นี้  คือ  โตเร็ว ลำตรง เนื้อไม้หนา เหมาะสำหรับนำไปแปรรูปเป็นตะเกียบ เฟอร์นิเจอร์ ใช้เวลาปลูกระยะสั้นเพียง  2-3 ปี และไผ่อายุ 4 ปีสามารถนำไปทำเฟอร์นิเจอร์หรือสร้างบ้านได้

การส่งเสริมการปลูกไผ่จะทำไปพร้อม ๆ กับการปลูกไม้มีค่าอื่น ๆ โดยเกษตรกรในแต่ละพื้นที่จะรวมตัวกันเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน  หลังจากที่ปลูกไผ่ได้ 2-3 ปี ไผ่ที่ปลูกในพื้นที่ของแต่ละคน นอกจากจะตัดขายได้แล้ว ยังสามารถสร้างหลักประกันให้แต่ละครอบครัวได้ โดยวิสาหกิจชุมชนแต่ละแห่งจะออกแบบกติกาให้สมาชิกทราบว่า ไผ่ที่ปลูกจำนวนเท่าไหร่จะกลายเป็นหลักประกันเงินกู้ได้มากน้อยแค่ไหน เช่น ถ้าปลูกในพื้นที่ 5 ไร่ ก็อาจจะใช้เป็นหลักประกันกู้เงินเพื่อใช้ในยามฉุกเฉินหรือจำเป็นได้ 50,000บาท

ขณะนี้แม่แจ่มมีพื้นที่การปลูกต้นไผ่ (หลังเริ่มแม่แจ่มโมเดลพลัสวันที่ 29 กรกฎาคม 2559) ในพื้นที่แล้วกว่า 2,000ไร่ ได้ไผ่ที่เป็นผลผลิตที่สามารถแปรรูปได้ครบวงจร ผลผลิตแปรรูปจากไผ่ ขายได้ตั้งแต่หน่อไม้ ไปจนถึงไม้แปรรูปจากลำต้น มีลำต้นไผ่ทุกขนาดตามที่ตลาดต้องการ ซึ่งขณะนี้มีมากเกินกว่าที่ชุมชนจะสามารถผลิตป้อนตลาดได้ทันตามความต้องการของตลาด และกำลังวางแผนที่จะขยายพื้นที่เพาะปลูกต่อไปเรื่อย ๆ โดยตั้งเป้าหมายว่าภายใน 3 ปี จะปลูกเพิ่มให้ได้ 20,000 ไร่

ประพันธ์ ระบุว่า ชาวบ้านให้ความร่วมมือกับโครงการนี้มาก เพราะไผ่กลายเป็นแหล่งรายได้สำคัญให้กับชุมชน สามารถแก้ปัญหาด้านรายได้ของเกษตรกรในชุมชนได้ดีกว่าพืชเชิงเดี่ยวในอดีตอย่างเช่น ข้าวโพดหลายเท่า และเมื่อเป็นพืชที่ให้ประโยชน์มากมายขนาดนี้ ชาวบ้านก็จะช่วยกันหามาตรการดูแลพื้นที่โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้ง เพื่อช่วยกันทำแนวกันไฟไม่ให้เกิดไฟไหม้ในพื้นที่

Related posts

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย

เร่งกองทุน Loss and damage ช่วยประเทศเปราะบางสู้วิกฤตโลกเดือด