เร่งกองทุน Loss and damage ช่วยประเทศเปราะบางสู้วิกฤตโลกเดือด

เวที COP29 จะพิจารณาเรื่องการจัดทำเป้าหมายทางการเงินใหม่ และกองทุน Loss and damage เพื่อสร้างความยุติธรรมด้านสภาพอากาศ

การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 หรือ COP29 มีวาระการประชุมเกี่ยวกับการจัดทำเป้าหมายทางการเงินใหม่ (New Collective Quantified Goal on Climate Finance: NCQG) ซึ่งภาคีประเทศกำลังพัฒนาคาดหวังกับการสนับสนุนทางการเงินทั้งในรูปแบบเงินให้เปล่า (Grant) และเงินกู้แบบผ่อนปรน (Highly concessional loan) รวมถึงจะมีการพิจารณาประเด็นการเข้าถึงกองทุนเพื่อความสูญเสียและความเสียหาย (Loss and damage fund) ที่จะมีความชัดเจนในด้านข้อกำหนด กฎเกณฑ์ และแนวทางการขอรับการสนับสนุนให้กับประเทศที่มีความเปราะบางต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (1)

กองทุนเพื่อความสูญเสียและความเสียหายเป็นเครื่องมือทางการเงินในการสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาปรับตัวกับผลกระทบที่เกิดจากภาวะโลกร้อน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นความพยายามสร้าง “ความยุติธรรมด้านสภาพอากาศ” ซึ่งเป็นผลจากแรงกดดันของประเทศกำลังพัฒนาที่เสี่ยงต่อสภาพอากาศมาหลายทศวรรษ (2)

กองทุนนี้มุ่งไปที่ความสูญเสียและความเสียหายในเชิงลบที่เกิดจากความเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น คลื่นความร้อนที่ยาวนาน การกลายเป็นทะเลทราย ความเป็นกรดของน้ำทะเล ตลอดจนไฟป่า การสูญพันธุ์ของสายพันธุ์ และพืชผลเสียหายซึ่งมีแนวโน้มความรุนแรงมากขึ้น (2) 

ประเด็นการจัดหาเงินทุนสำหรับความสูญเสียและความเสียหายให้แก่ประเทศเปราะบางได้ถูกบรรจุในวาระการประชุม COP27 ขึ้นครั้งแรก จากนั้นได้บรรลุข้อตกลงและถูกจัดตั้งขึ้นเป็นกองทุนอย่างเป็นทางการในการประชุม COP28 จะมีธนาคารโลกจะทำหน้าที่รับผิดชอบดูแลกองทุน และสำนักงานชั่วคราว (3)

โดยที่ความช่วยเหลือดังกล่าวนี้มีการพูดถึงมาตั้งแต่ปี 2552 ว่าประเทศพัฒนาแล้วจะต้องจัดสรรเงิน 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ภายในปี 2563 เพื่อช่วยประเทศกำลังพัฒนาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสร้างความสามารถในการฟื้นตัวจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ข้อเสนอนี้ก็ไม่เกิดขึ้นจริง และการระดมเงินช่วยเหลือได้ขยายออกไปเป็นภายในปี 2573 (4) 

การประชุม COP29 ที่กรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจานในครั้งนี้จะมุ่งเน้นไปที่การกำหนดเป้าหมายการเงินใหม่เพื่อการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ (New Collective Quantified Goal on Climate Finance: NCQG) ซึ่งสืบทอดสัญญาที่กำหนดไว้ก่อนหน้านี้ที่ 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี (5) 

กลไกการทำงานของกองทุนความสูญเสียและความเสียหายต้องการการระดมทุนจากประเทศพัฒนาแล้วที่มีเศรษฐกิจแข็งแกร่งและมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมาก เนื่องจากประเทศเหล่านั้นมีส่วนต่อการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจก และควรมีส่วนสนับสนุนการแก้ไขปัญหา โดยในการประชุม COP28 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในฐานะประธานการประชุมได้ให้คำมั่นสนับสนุนเงิน 100 ล้านดอลลาร์ให้กับกองทุน ในขณะที่เยอรมนีจะให้เงินช่วยเหลือ 100 ล้านดอลลาร์ สหภาพยุโรปจะให้ 245.39 ล้านดอลลาร์ สหราชอาณาจักรจะให้อย่างน้อย 51 ล้านดอลลาร์ สหรัฐอเมริกาตกลงที่จะให้ 17.5 ล้านดอลลาร์ และญี่ปุ่น 10 ล้านดอลลาร์ (6) 

COP29 ได้รับการขนานนามว่า “COP ด้านการเงิน” โดยที่ตัวแทนจากทุกประเทศทั่วโลก (197 ประเทศบวกสหภาพยุโรป) จะมารวมตัวกันเพื่อกำหนดเป้าหมายการเงินด้านสภาพอากาศระดับโลกใหม่เป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี ดังนั้นประเด็นความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศกลุ่มเปราะบางจึงมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับต้น ๆ ของโลกจะต้องเต็มใจควักเงินช่วยเหลือ ทว่าไม่เพียงแค่ระดมจำนวนเงินเติมใส่กองทุน แต่จะต้องระบุกรอบเวลาและเงื่อนไขในการจัดหาเงินทุนด้วยว่าเงินทุนจะสนับสนุนอะไร เงินทุนจะเข้าถึงชุมชนที่ต้องการมากที่สุดได้อย่างไร และวิธีการวัดผลของเงินทุนทั้งหมดที่จัดสรรให้อย่างไร ฯลฯ (4) 

อย่างไรก็ดี เอาเข้าจริงแล้วสถานการณ์ภัยพิบัติและความเสียหายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นมีแนวโน้มรุนแรง ระดับความเสียหายและสูญเสียมากยิ่งขึ้น ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่อาจจำเป็นจะต้องใช้เงินทุนเพื่อจัดการปัญหามากกว่าที่เคยระบุไว้ถึง 5 เท่า โดยมีความต้องการเงินสนับสนุนมากขึ้น 500,000 ถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี (4)

ทั้งนี้ในพิธีเปิดการประชุม COP29 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 มุกห์ตาร์ บาบาเยฟ (Mukhtar Babayev) ในฐานะประธาน COP29 ได้กล่าวถึงความคาดหวังต่อการประชุม COP29 ว่าต้องการเสริมสร้างความร่วมมือกับทุกภาคี และมุ่งมั่นที่จะตั้งเป้าหมายทางการเงินใหม่ (NCQG) ให้ได้ โดยตั้งเป้าหมายให้ประเทศพัฒนาแล้วสนับสนุนเงินปีละ 100,000 ล้านดอลลาร์ ภายในระยะ 15 ปีข้างหน้า รวมทั้งสร้างความชัดเจนของแผนดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อขับเคลื่อนการเงินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้สูงขึ้น (7)

ดังนั้น อนาคตของ “ความยุติธรรมด้านสภาพอากาศ” จึงขึ้นอยู่กับการเจรจาในครั้งนี้ ความสำเร็จของการเจรจาจะขึ้นอยู่กับว่าผู้ที่มีส่วนในการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนใหญ่ของโลกเต็มใจที่จะช่วยเหลือและสนับสนุนเงินช่วยเหลือมากเพียงใด เพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดความเป็นธรรมในระยะยาว

อ้างอิง:
(1)https://www.facebook.com/dcceth/posts/pfbid02pn7q9XB3pHXP2zyPMiC7WpkiDyNSkmgzfxaCWsJk7mTknwin54RRAGRPAod1rRGHl
(2) https://www.unep.org/news-and-stories/story/what-you-need-know-about-cop27-loss-and-damage-fund
(3) https://www.globalwitness.org/en/blog/how-does-loss-and-damage-fund-work-climate-justice/#:~:text=The%20Fund%20for%20Responding%20to,by%20climate%2Drelated%20natural%20disasters.
(4) https://www.wri.org/un-climate-change-conference-resource-hub/key-issues
(5) https://www.bangkokbiznews.com/environment/1152918
(6) https://www.weforum.org/stories/2023/12/cop28-loss-and-damage-fund-climate-change/
(7)https://www.facebook.com/dcceth/posts/pfbid02iJYZgYe79qz2wHHY4S3yMPj9JrPkcwwA4GZ9ojFX6VB8iaQWz2cYw2X3XYwmVoDjl

Related posts

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย