เวลาเก็บกวาดทำความสะอาดบ้าน บางคนอาจจะเคยเหนื่อยใจ เพราะไม่รู้จะทำยังไงกับ ขวด กระปุก กระป๋อง หรือภาชนะบรรจุของกินของใช้ซึ่งกินหรือใช้หมดแล้ว
บางอย่างก็พยายามนำมา “รียูส” บางอันเลือกใส่ถังขยะรีไซเคิล แต่ในใจก็แอบคิดว่า มันจะถูกนำไป “รีไซเคิล” จริงๆ หรือเปล่า คงจะดี ถ้าหากว่า บรรจุภัณฑ์สินค้าอุปโภคบริโภคเป็นแบบ “รีฟิล” ซึ่งทำให้แต่ละคนแต่ละครอบครัวมีส่วนช่วยลดการสร้างขยะในชีวิตประจำวัน
และ “โครงการลูป” นี่อาจจะเป็นคำตอบก็เป็นได้
ระหว่างการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก ณ เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ได้มีการเปิดตัวโครงการ Loop (ลูป) เพื่อสร้างทางเลือกแก่ผู้บริโภคในการใช้ทรัพยากรของโลกอย่างคุ้มค่า ช่วยลดขยะ และรักษาสิ่งแวดล้อม
โครงนี้เป็นการร่วมมือของผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคยักษ์ใหญ่ของโลก อย่างเช่น พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล, ยูนิลีเวอร์, เป๊ปซี่ โค, ดานอน, มาร์ส เพ็ทแคร์, มอนเดลีซ อินเตอร์เนชันแนล ฯลฯ พวกเขาได้หันหน้ามาร่วมมือกันหาแนวทางแก้ไขเพื่อจำกัดปริมาณขยะในอนาคต
ภายใต้โครงการลูป สินค้าอุปโภคบริโภค ตั้งแต่ผงซักฟอกจนถึงแชมพู ไอศกรีมจนถึงน้ำยาบ้วนปาก จะเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์จากที่เป็นพลาสติก หรือวัสดุใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single Use Plastics) มาเป็นหีบห่อซึ่งสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้
ช่วงแรกมีสินค้าร่วมโครงการนี้ประมาณ 300 รายการให้ลูกค้าสามารถสั่งซื้อได้ทางออนไลน์ ทุกอย่างอยู่ในภาชนะบรรจุที่ทนทาน หลังจากใช้ผลิตภัณฑ์หมด สามารถนำกลับไปเติมหรือรีฟิล โดยนำบรรจุภัณฑ์เปล่าใส่ถุงของลูป ห้อยไว้หน้าประตูบ้าน พนักงานก็จะมาเก็บไปทำความสะอาด เพื่อเติมสินค้า และนำกลับมาส่งมาให้ผู้บริโภคอีกครั้งหากมีการสั่งซื้อเพิ่ม
“สิ่งนี้ไม่ยุ่งยากและสะดวกสบายสำหรับผู้บริโภค” เวอร์จินี เฮเลียส ผู้บริหารพรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล เล่า “คุณจะได้รับของที่สั่งภายใน 24 ชั่วโมง และคืนขวดเมื่อใช้หมดแล้ว”
สำหรับผู้ที่เข้ามาดูแลโครงการลูป คือ เทอร์ราไซเคิล บริษัทรีไซเคิลชื่อดังของอเมริกา โดยโครงการนำร่องจะเริ่มให้ผู้บริโภคในนิวยอร์กและปารีสได้ทดลองในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ ก่อนจะขยายไปยังลอนดอนในช่วงครึ่งหลังของปี 2019 รวมทั้ง โตรอนโต โตเกียว และซานฟรานซิสโกในปี 2020
กุญแจสำคัญของโครงการนี้คือ การสั่งซื้อออนไลน์ ทำให้ลูกค้าไม่จำเป็นต้องนำภาชนะเก่าไปเติมที่ร้านค้า ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มพฤติกรรมของคนปัจจุบันที่ซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้น แต่ความสำเร็จของโปรเจกต์นี้ยังต้องอาศัยอีกหลายปัจจัย เพราะนี่คือ การเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจครั้งใหม่ และยังต้องเข้าไปเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอื่นๆ อีกหลายอย่างของผู้บริโภคด้วย
ลูป เกิดขึ้นมาด้วยความหวังที่จะช่วยโลกให้ปลอดจากขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เพราะปัจจุบันบรรจุภัณฑ์ส่วนใหญ่เป็นพลาสติกซึ่งไม่สามารถรีไซเคิลได้ หรือมีมูลค่าเพียงเล็กน้อยเมื่อนำกลับมาใช้ใหม่
โครงการนี้จะทำให้ได้ประโยชน์ทั้งสำหรับผู้บริโภค และผู้ประกอบธุรกิจ เหนือกว่าสิ่งอื่นใด คือ ประโยชน์สำหรับโลกใบนี้
เพราะ ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม ทุกคนต่างมีส่วนทำให้โลกเดินทางเข้าสู่ยุคสมัยซึ่งในมหาสมุทรมีปริมาณขยะมากกว่าจำนวนปลา
นอกจากทำให้สิ่งมีชีวิตในทะเลกลายเป็นเหยื่อขยะพลาสติก ตัวเราเองก็ไม่ปลอดภัย มนุษย์ก็กำลังถูกภัยพลาสติกคุกคามอย่างน่ากลัว เพื่อแก้ไขปัญหา ทุกคนต้องร่วมมือกัน