เมื่อศตวรรษก่อน สหรัฐอเมริกามีล็อบสเตอร์อยู่จำนวนมาก จนนำไปใช้เป็นอาหารเลี้ยงคนงาน และถูกเรียกว่าอาหารของคนยากไร้ แต่ปัจจุบันล็อบสเตอร์กลายเป็นอาหารที่มีราคาแพงขึ้น ทำให้มันเลื่อนสถานะจากอาหารของคนยากไร้ กลายเป็นอาหารของคนชั้นกลาง หรือในบางประเทศมันคืออาหารฟุ่มเฟือยของคนมีเงิน ดังนั้นเนื้อของล็อบสเตอร์จึงเป็นที่ปรารถนาของนักชิมจำนวนมาก
แล้วเปลือกของมันล่ะ? แน่นอนว่าเปลือกของมันไร้ค่า เหมือนกับเปลือกกุ้งที่เราลอกทิ้งไปอย่างไม่แยแส แต่ล่าสุดมีบริษัทสตาร์ทอัพแห่งหนึ่ง มองเห็นคุณค่าที่แสนจะล้ำของเปลือกล็อบสเตอร์ โดยเปลี่ยนมันจากของไร้ค่า มาเป็นของล้ำค่าในด้านสิ่งแวดล้อม
สตาร์ทอัพรายนี้มีชื่อว่า Shellworks ตั้งอยู่ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นการผนึกกำลังระดมความคิดของนักวิจัยหนุ่มสาวที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันที่มีชื่อเสียงต่างๆ เช่น Royal College of Art และ Imperial College London
แอนดรูว์ เอ็ดเวิร์ด หนึ่งในทีมงานบอกกับ Tech Insider ว่าทีมงานประกอบไปด้วยสถาปนิก, วิศวกรเครื่องกล, นักออกแบบผลิตภัณฑ์ และทุกคนมีความสนใจในเรื่องของเหลือจากอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งของเหลือจากสัตว์พวกกุ้ง กั้ง ปู (Crustacean) และจากปลา
เอ็ดเวิร์ด บอกว่าของเสียจากพวกกุ้งเวลาเอาไปทิ้งที่บ่อขยะแล้ว ในที่สุดพวกมันก็จะปล่อยก๊าซมีเทนออกมา (ซึ่งจะเป็นการเพิ่มภาวะเรือนกระจก) ดังนั้นพวกเขาจึงอยากเพิ่มมูลค่าของเหลือจากอาหารเหล่านี้
และอีกหนึ่งความมุ่งหวังของพวกเขาก็คือ เปลี่ยนวัตถุดิบที่ไม่มีใครรู้จัก ให้กลายเป็นวัตถุดิบที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย วัตถุดิบที่ว่านี้เรียกว่า ไคติน (Chitin)
เปลือกล็อบสเตอร์มีสารโพลีเมอร์ชีวภาพสูงเรียกว่าไคติน ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นวัสดุย่อยสลายได้ และสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เรียกว่า พลาสติกชีวภาพ หรือ Bioplastic
นี่คือทางออกของการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ซึ่งยังเป็นอุปนิสัยทำลายสิ่งแลดล้อมที่ชาวโลกส่วนใหญ่ยังแก้กันไม่ตก
อินซิยา แจฟเฟอร์จี ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทให้สัมภาษณ์กับ euronews ว่า พวกเขาเลือกใช้เปลือกล็อบสเตอร์ เพราะมีปริมาณไคตินสูงที่สุด ประมาณ 30-40% ของเปลือก โดยเปลือกจะถูกบดเป็นก้อนในเครื่องปั่น ก่อนที่จะถูกย่อยสลายต่อไปในสารละลายต่างๆ เช่น กรดและแอลคาไลน์เพื่อสกัดไคติน และแยกชั้นแร่และโปรตีนออกไป เพื่อให้ได้เส้นใยไคตินนาโน จากนั้นจึงจะเพิ่มผงไคโตซานลงในน้ำส้มสายชูที่ใช้ในครัวเรือน เพื่อให้ได้สารละลายพลาสติกชีวภาพ และจะนำสารละลายมาเข้าเครื่องขึ้นรูปสามมิติที่บริษัทคิดค้นขึ้นมา
ลองมาดูอุปกรณ์หลักๆ ที่ใช้แปลงร่างเปลือกกุ้งมาเป็นพลาสติกชีวภาพกันบ้าง ในเว็บไซต์ของสตาร์ทอัพแห่งนี้ได้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับนวัตกรรมที่พวกเขาใช้ (ซึ่งตรงกับนิยามของสตาร์ทอัพที่ต้องมีการสร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นมารองรับธุรกิจ) เช่น
SHELLY เป็นเครื่องสกัดขนาดเล็ก ถูกออกแบบมาเพื่อควบคุมพารามิเตอร์ (ตัวแปรเสริม) แต่ละขั้นตอนของกระบวนการอย่างสมบูรณ์ เพื่อสามารถทำการทดลองเพิ่มเติมที่ระดับโพลิเมอร์ของวัสดุ
SHEETY เป็นอุปกรณ์สร้างสภาพแวดล้อมภายใต้การควบคุม ซึ่งจะช่วยทำให้แผ่นพลาสติกเรียบอย่างสมบูรณ์แบบ
VACCY เป็นตัวขึ้นรูปด้วยไอน้ำระบบสุญญากาศ โดยสุญญากาศจะก่อรูปร่างขึ้นเหนือแม่แบบ และยังทำให้วัสดุมีความยืดหยุ่น
DIPPY เป็นอุปกรณ์ขึ้นรูปแบบจุ่มร้อน โดยแขนที่อังกับความร้อนแล้วจะจุ่มเข้าและออกสารละลายไคโตซานเพื่อสร้างรูปแบบ 3 มิติ
ตัวช่วยชื่อแปลกๆ ฟังดูคูลๆ เหล่านี้นี่เป็นอุปกรณ์บางส่วนที่ทำให้สตาร์ทอัพจากลอนดอนมีอนาคตมากกว่าไอเดียแปลงเปลือกล็อบสเตอร์เป็นพลาสติก เพราะตอกย้ำว่า Shellworks มีองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีมากพอที่จะผลิตสินค้าของพวกเขาให้เป็นสินค้ากระแสหลักได้
อย่างไรก็ตาม เอมีร์ อาฟชาร์ (Amir Afshar) หนึ่งในทีมงานบอกว่า ตอนนี้พวกเขายังต้องวิจัยกันต่อไปว่า ผลิตภัณฑ์ที่ได้จะมีความทนทานมากพอที่จะใช้แทนพลาสติกจากเคมีภัณฑ์หรือไม่ และตอนนี้พวกเขาทำการเก็บเปลือกล็อบสเตอร์โดยขอความอนุเคราะห์จากร้านอาหารต่างๆ ในกรุงลอนดอน ซึ่งมีเรื่องที่น่าชมเชยอย่างหนึ่งก็คือ ร้านอาหารในลอนดอนมักจะแยกเปลือกของปู กุ้ง ออกจากของเหลือที่เป็นอาหารประเภทอื่นๆ จึงง่ายสำหรับ Shellworks ในการแสวงหาวัตถุดิบมาทำการทดลองและทำผลิตภัณฑ์
ไม่ว่าการทดลองหรือการวิจัยจะใช้เวลานานสักเท่าไรก็ตาม หากมีแนวคิดทำนองนี้มากเท่าไหร่ โอกาสที่ชาวโลกจะมีความหวังในการใช้ภาชนะชนิดใหม่ทดแทนพลาสติกก็จะมีความเป็นไปได้สูงมากยิ่งขึ้น
อ้างอิง
Tech Insider. (29 April 2019 at 20:15). How Lobster Shells Could Replace Single-Use Plastic. https://www.facebook.com/watch/?v=372235423436995
Lindsey Johnstone. (05/04/2019) London start-up turns lobster shells into plastic alternative. https://www.euronews.com/2019/04/05/watch-london-start-up-turns-lobster-shells-into-plastic-alternative
The machines. Shellworks. https://www.theshellworks.com/machines