ครั้งแรกของโลก นักวิทยาศาสตร์พบพยาธิมีชีวิตยาว 3 นิ้ว ในสมองมนุษย์
คนไข้หญิงชาวออสเตรเลียวัย 64 ปี มีอาการปวดท้อง ไอ และเหงื่อออกเวลากลางคืนต่อเนื่องมาหลายเดือน ต่อมาอาการรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นคนหลงลืม และซึมเศร้า เธอจึงเข้าไปรับการตรวจที่โรงพยาบาลในเดือนมกราคม 2565 โดยผลสแกนพบแผลผิดปกติในสมองส่วนหน้าฝั่งขวา
ต่อมาในเดือน มกราคม 2566 คนไข้เข้ารับการผ่าตัด ระหว่างการผ่าตัดชิ้นเนื้อเพื่อนำไปวินิจฉัย ดร.ฮารี ปรียา บันดิ ศัลยแพทย์ผู้ทำการผ่าตัด พบสิ่งมีชีวิตคล้ายเส้นด้าย ยาวประมาณ 8 ซม. ดิ้นอยู่ในสมอง เธอจึงได้คีบมันออกมาใส่กล่อง ท่ามกลางความตกตะลึงของคนทั้งห้องผ่าตัด
จากการวิจัยพบว่าสิ่งมีชีวิตลักษณะคล้ายเส้นด้ายนั้น คือ ‘โอฟิดาสการิส โรเบิร์ตซี’ เป็นพยาธิตัวกลม ที่พบได้มากในงูเหลือมคาร์เพท ซึ่งเป็นงูไม่มีพิษที่พบทั่วได้ในออสเตรเลีย
ทีมวิจัยได้เผยแพร่กรณีดีงกล่าวในวารสารโรคติดต่ออุบัติใหม่ (Emerging Infectious Diseases) โดยเชื่อว่า นี่คือครั้งแรกที่พยาธิเข้าไปในร่างกายมนุษย์ และพัฒนาตัวอยู่ในสมองมนุษย์ ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นกำลังสะท้อนให้เห็นถึงอันตรายที่เพิ่มมากขึ้นของโรคและการติดต่อจากสัตว์ไปสู่มนุษย์
นักวิจัยระบุว่า คนไข้หญิงรายนี้ น่าจะรับเอาพยาธิเข้ามาในร่างกาย ระหว่างเก็บหญ้าวอร์กาลกรีนส์ ซึ่งเป็นหญ้าพื้นถิ่น รวมทั้งผักใบเขียวรอบๆทะเลสาบที่เธออาศัยอยู่เพื่อใช้ในการปรุงอาหาร ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่งูหลามคาร์เพทอาศัยอยู่ด้วย
นักพยาธิวิทยาออสเตรเลีย เมห์ราบ โฮสเซน ระบุในวารสารว่า คนไข้หญิงรายนี้กลายเป็น ‘พาหะโดยบังเอิญ’ หลังเก็บหญ้าพื้นถิ่นที่ปนเปื้อนไปด้วยมูลงูและไข่พยาธิ มาทำอาหาร
จากข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา พบว่าสามในสี่ของโรคติดเชื้อใหม่ หรือโรคอุบัติใหม่ในคนมาจากสัตว์ รวมถึงไวรัสโคโรนาด้วย
ดร. ซานจาญ่า เซนานายาเก ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อของโรงพยาบาลแคนเบอร์รา กล่าวว่ากรณีนี้เน้นย้ำถึงอันตรายที่เพิ่มขึ้นของโรคและการติดเชื้อจากสัตว์สู่คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประชากรเพิ่มมากขึ้น ผู้คนรุกล้ำเข้าไปในแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์มากขึ้น
“นี่เป็นสิ่งที่เราพบแล้วพบอีก ไม่ว่าจะเป็นไวรัสนิปาห์ ที่ข้ามจากค้างคาวป่า ไปยังหมูบ้าน แล้วข้ามไปสู่มนุษย์ รวมถึงโคโรนาไวรัสอย่าง ซาร์ส หรือ เมอร์ส ที่ข้ามจากค้างคาวไปยังสัตว์พาหะที่สอง แล้วไปสู่มนุษย์”
“มีโอกาสมากขึ้นสำหรับมนุษย์ สัตว์เลี้ยง และสัตว์ป่าในการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันและพืชพรรณที่อยู่ข้างนอกนั้น นี่เป็นเพียงอีกสัญญาณหนึ่งที่จะเห็นการติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นในอนาคต” ดร. ซานจาญ่า กล่าว
แม้สถานการณ์โควิด จะเบาบางลง แต่มันเป็นกรณีสำคัญสำหรับนักระบาดวิทยา และรัฐบาลที่ต้องทำให้มั่นใจว่า มีระบบสังเกตการณ์โรคระบาดที่ครอบคลุม
ปัจจุบันอาการคนไข้หญิงรายนี้กำลังฟื้นตัวเป็นอย่างดี แต่ยังคงอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
ที่มา
- Aug 29, 2023. ‘Still alive and wriggling:’ Doctors remove 3-inch parasitic worm from woman’s brain in world first. CNN
- Aug 30, 2023. ‘Oh my god’: live worm found in Australian woman’s brain in world-first discovery. The Guardian