ถ้าจะคุมอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศา ทั่วโลกต้องลดปล่อยก๊าซพิษลง 43% ภายใน 8 ปีนับจากนี้ (ไม่น่ารอด)

สถานการณ์คับขันขึ้นทุกที เมื่อรายงานของ IPCC ซึ่งเขียนขึ้นโดยนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำหลายร้อยคนและ 195 ประเทศให้การยอมรับระบุว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ได้เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2010 “ในทุกภาคส่วนหลักทั่วโลก”

ผู้เขียนรายงานกล่าวต่อว่า การลดการปล่อยมลพิษที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่แล้วนั้น “น้อยกว่าการเพิ่มขึ้นของการปล่อยมลพิษ จากระดับกิจกรรมระดับโลกที่เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรม การจัดหาพลังงาน การขนส่ง การเกษตร และอาคาร”

อันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติชี้ว่า “นี่ไม่ใช่นิยายหรือการพูดเกินจริง เป็นสิ่งที่วิทยาศาสตร์บอกเราว่าจะเป็นผลมาจากนโยบายพลังงานในปัจจุบันของเรา เรากำลังอยู่บนเส้นทางสู่ภาวะโลกร้อนที่มากกว่าสองเท่าของขีดจำกัด 1.5 องศาเซลเซียส” ที่ตกลงกันในปารีสในปี 2015

กูเตร์เรสกล่าวว่า เว้นแต่จะดำเนินการในเร็ว ๆ นี้ ไม่เช่นนั้นเมืองใหญ่บางแห่งจะจมอยู่ใต้น้ำ และคาดการณ์ว่าจะเกิด “คลื่นความร้อนที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน พายุที่น่ากลัว การขาดแคลนน้ำเป็นวงกว้าง และการสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์นับล้านชนิด”

เพื่อจำกัดภาวะโลกร้อนให้อยู่ที่ไม่เกินประมาณ 1.5 องศาเซลเซียส รายงานของ IPCC ยืนยันว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกจะต้องสูงสุด “ก่อนปี 2025 เป็นอย่างช้า และลดลง 43% ภายในปี 2030”

A young girl stands amid the freshly made graves of 70 children many of whom died of malnutrition. Dadaab refugee camp.

รายงาน IPCC ระบุว่า อุณหภูมิโลกจะคงที่เมื่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึงศูนย์สุทธิ โดยอุณหภูมิจะขึ้นมา 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งหมายถึงการต้องบรรลุการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ทั่วโลกในช่วงต้นปี 2050 แต่หากล่าช้าไปจะร้อนถึง 2 องศาเซลเซียสในช่วงต้นปี 2070 

“การประเมินนี้แสดงให้เห็นว่าการจำกัดภาวะโลกร้อนให้อยู่ที่ประมาณ 2 องศาเซลเซียส ยังคงต้องควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกให้ถึงสูงสุดก่อนปี 2025 เป็นอย่างช้า และลดลงหนึ่งในสี่ภายในปี 2030” รายงานระบุ

เรายังคงต้องลดก๊าซมีเทนลงประมาณหนึ่งในสาม โดยผู้จัดทำรายงานเสริมว่าถึงแม้จะทำได้สำเร็จ แต่ก็ “แทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เราจะไปเกินเกณฑ์อุณหภูมินี้ (1.5 องศา) ชั่วคราว” แต่อุณหภูมิโลกจะ “สามารถกลับคืนสู่ระดับที่ต่ำกว่าได้ในปลายศตวรรษ”

“เราอยู่ที่ทางแยก การตัดสินใจที่เราทำในตอนนี้สามารถรับประกันอนาคตที่น่าอยู่ได้” โฮซอง ลี ประธาน IPCC กล่าว  

ขณะที่ จิม สเกีย ประธานร่วมของ IPCC ของกลุ่มทำงานที่ 3 ซึ่งเผยแพร่รายงานล่าสุดกล่าวว่า “ถ้าไม่ทำกันตอนนี้ก็ไม่ต้องทำกันแล้ว ถ้าเราต้องการจำกัดภาวะโลกร้อนไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส หากไม่มีการลดการปล่อยมลพิษในทุกภาคส่วนในทันทีและเชิงลึก เป็นไปไม่ได้” 

การประเมิน IPCC มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากเป็นการให้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์แก่รัฐบาลต่าง ๆ สามารถใช้เพื่อพัฒนานโยบายด้านสภาพอากาศ และยังมีบทบาทสำคัญในการเจรจาระหว่างประเทศเพื่อจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

IPCC กระตุ้นให้รัฐบาลต่าง ๆ เร่งดำเนินการเพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซ ซึ่งมันมีความคืบหน้าเพราะต้นทุนแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ปี 2010 มากถึงร้อยละ 85 ในส่วนของพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมและแบตเตอรี่

รายงานของ IPCC ยังเน้นว่าการทบทวนวิธีการจัดการเมืองและเขตเมืองอื่น ๆ ในอนาคตสามารถช่วยบรรเทาผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีนัยสำคัญ

“(การลด) เหล่านี้สามารถทำได้โดยการใช้พลังงานที่ลดลง (เช่น การสร้างเมืองที่มีขนาดกะทัดรัดและสามารถเดินไปไหนมาไหนได้) การใช้พลังงานไฟฟ้าในการคมนาคมร่วมกับแหล่งพลังงานที่ปล่อยมลพิษต่ำ และการดูดซับและการจัดเก็บคาร์บอนที่เพิ่มขึ้นโดยใช้ธรรมชาติ” รายงานระบุ

ปริยทรรศี ศกุลา ประธานร่วมของ IPCC ของกลุ่มทำงานที่ 3 ย้ำว่านโยบายโครงสร้างพื้นฐาน และเทคโนโลยีที่เหมาะสมจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตและพฤติกรรมของเรา ส่งผลให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงร้อยละ 40 ถึง 70 ภายในปี 2050 “หลักฐานยังแสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเหล่านี้สามารถปรับปรุงสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของเราได้”

เรียบเรียงจาก

“UN climate report: It’s ‘now or never’ to limit global warming to 1.5 degrees”. (4 April 2022). UN.

ภาพ – Oxfam East Africa

Related posts

‘เฉลิมชัย’ นำทีมไทยถก COP29 นำเสนอ 5 ประเด็นลดก๊าซ 222 ล้านตัน

มหาอำนาจโลกในมือ ‘ทรัมป์’ จุดจบการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศ?

โลกจมกองพลาสติก ต้องเปลี่ยนวิธีผลิต ลดการบริโภค กำจัดอย่างยั่งยืน