หวังช่วยชาติลดโลกร้อน
รัฐมนตรีสเปนเจอรุมต้าน
หลังรณรงค์ลดบริโภคเนื้อสัตว์

by IGreen Editor

ผู้คนทั่วโลกต่างพยายามลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลงซึ่งสอดคล้องกระแสมังสวิรัติ (Veganuary) ที่กำลังเป็นที่นิยม รัฐมนตรีของสเปน อัลเบอร์โต การ์ซอน (Alberto Garzón) ก็เป็นหนึ่งที่สนับสนุนการลดบริโภคเนื้อสัตว์เพื่อช่วยโลก โดยได้เปิดตัวแคมเปญ ‘Less meat, more life’ ในเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว หวังรณรงค์ให้ชาวสแปนิชหันมารับประทานอาหารที่มีพืชเป็นส่วนประกอบกันมากขึ้น

อัลเบอร์โต้ การ์ซอน Cr. https//atalayar.com

การ์ซอน เรียกร้องให้ชาวสเปนพิจารณาการบริโภคเนื้อสัตว์เสียใหม่ เพราะการทำปศุสัตว์นั้นส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตเนื้อวัวจากฟาร์มขนาดใหญ่ แต่เขากลับสร้างความไม่พอใจให้กับบรรดารัฐมนตรี และอุตสาหกรรมผู้ผลิตเนื้อสัตว์ในประเทศ 6 แห่ง

ชาวสเปนรู้ดีว่า ก๊าซเรือนกระจกมีส่วนสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ก็อาจจะเข้าใจว่ามันเชื่อมโยงกับการใช้รถยนต์และการขนส่งมากกว่าภาคปศุสัตว์ ทั้งที่ข้อมูลจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติจะรายงานว่าเนื้อสัตว์และนมมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกถึงร้อยละ 14.5

อย่างไรก็ตาม หลังจากการ์ซอนพูดเรื่องนี้ก็ถูกโฆษกรัฐบาล อิซาเบล โรดริเกซ กล่าวว่า เขาพูดในฐานะส่วนตัวเท่านั้น เช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรี เปโดร ซานเชซ ก็ยังพูดทำนองว่า “Speaking personally, a medium-rare steak is hard to beat” หรือ (การ์ซอน) โดยส่วนตัวนะ, สเต็กสุกระดับปานกลางมันยากนะที่จะปฏิเสธ”

รวมทั้งรัฐมนตรีกระทรวงเกษตร หลุยส์ พลานาส ยังตำหนิการรณรงค์นี้ด้วยโดยกล่าวว่า ภาคเกษตรกรรมกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างไม่เป็นธรรมอย่างมาก ทั้งที่สมควรได้รับความเคารพในการทำงานที่ซื่อสัตย์ต่อทั้งการผลิตอาหารและเศรษฐกิจของประเทศ

การ์ซอนชี้แจงว่า เขาไม่ได้เรียกร้องให้ชาวสเปนหยุดกินเนื้อสัตว์โดยสิ้นเชิง แค่แนะนำให้พวกเขาลดการบริโภคลงด้วยเหตุผลด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเท่านั้น

“ประเทศอื่น ๆ เช่น เยอรมนี สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส ต่างนำหน้าเราในเรื่องนี้เป็นอย่างดี นี่เป็นครั้งแรกในสเปนที่มีคนในรัฐบาลพูดในสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์พูดมาเป็นเวลานาน” เขากล่าวและย้ำว่า ที่พูดมาทั้งหมดเป็นการพูดในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงผู้บริโภค

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อสเปนอย่างไร
ภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนมีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากภาวะโลกร้อนและปริมาณน้ำฝนที่ลดลงอย่างรวดเร็ว โดยรายงานจากสภาพอากาศของหน่วยงานสเปนระบุว่า สเปนมีอุณหภูมิสะสมเพิ่มขึ้น 1.3 องศาเซลเซียสในรอบ 60 ปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ตลอดฤดูร้อนปี 2564 ไฟป่าที่เกิดจากอุณหภูมิสุดขั้วได้โหมกระหน่ำในหลายพื้นที่ของประเทศ ชาวเมืองหลายร้อยคนถูกอพยพจากอาบีญ่า (Ávila) ในเดือนสิงหาคม และมีผู้อพยพประมาณ 1,054 คนจากรีสอร์ทเอสเตโปนา และเมืองเบนาฮาวิสในเดือนกันยายน

“ถ้าเราไม่ลงมือทำ มันจะไม่เพียงแค่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เรากำลังเผชิญอยู่เท่านั้น แต่ยังเป็นวิกฤตสามประการคือ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ มลภาวะ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มันจะเป็นจุดจบของประเทศอย่างสเปน

“สเปนเป็นประเทศในลุ่มน้ำเมดิเตอร์เรเนียน ไม่ใช่สหราชอาณาจักร หรือเยอรมนี และการแปรสภาพเป็นทะเลทรายเป็นปัญหาร้ายแรงสำหรับประเทศของเราไม่น้อย เพราะพึ่งพาอยู่กับการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก การเยี่ยมชมทะเลทรายนั้นไม่น่าสนใจเท่าการไปเยือน Costa del Sol” การ์ซอนกล่าว (Costa del Sol เป็นเมืองตากอากาศที่สวยงามและมีชื่อเสียงของสเปนตั้งอยู่ในเมืองมาลากา)

ทำไมการกินเนื้อถึงทำร้ายสิ่งแวดล้อม
การผลิตเนื้อสัตว์มีผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยเหตุผลหลายประการ รวมถึงการตัดไม้ทำลายป่า และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพอันเนื่องมาจากปริมาณการใช้ที่ดิน และน้ำที่จำเป็นต่อการเลี้ยงปศุสัตว์

ภาคปศุสัตว์ยังผลิตก๊าซมีเทนที่ทรงพลังและทำลายล้างได้ในปริมาณมหาศาล โดยรวมแล้ว Our World in Data คำนวณว่า เนื้อวัวผลิตก๊าซเรือนกระจกเฉลี่ยทั่วโลกได้ 110 ปอนด์ (50 กก.) ต่อโปรตีน 3.5 ออนซ์

การบริโภคเนื้อสัตว์เป็นวัฒนธรรมของสเปน
สเปนกินเนื้อสัตว์มากกว่าประเทศอื่น ๆ ในสหภาพยุโรป โดยมีการบริโภคเนื้อสัตว์โดยเฉลี่ยมากกว่า 1 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ ซึ่งเท่ากับในแต่ละปีมีการฆ่าปศุสัตว์ 70 ล้านตัวเพื่อผลิตเนื้อสัตว์ 7.6 ล้านตัน

สำหรับภาพรวมของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ในยุโรปพบว่า อย่างน้อยร้อยละ 71 ของพื้นที่เพาะปลูกของสหภาพยุโรปถูกใช้ไปเพื่อการปศุสัตว์หรือคิดเป็นพื้นที่ 125 ล้านเฮกตาร์ในยุโรป

มาร์โก คอนติเอโร ผู้อำนวยการนโยบายการเกษตรของกรีนพีซสหภาพยุโรปกล่าวว่า ควรสนับสนุนเงินให้เกษตรกรย้ายไปทำการเกษตรเชิงนิเวศ เลี้ยงสัตว์น้อยลงแต่ดีขึ้นเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม ภูมิอากาศ และสุขภาพประชาชน ไม่ใช่ปล่อยให้ฟาร์มขนาดเล็กหายไปในอัตราที่น่าตกใจ แต่กลับนำงบประมาณไปสนับสนุนฟาร์มที่ใหญ่ที่สุดมีขนาดใหญ่ขึ้น

มาดริดสร้างกำแพงสีเขียวรอบเมือง

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาสเปนมีการขับเคลื่อนนโยบายลดโลกร้อนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมลภาวะ เช่น เมืองมาดริดกำลังสร้างกำแพงสีเขียวรอบเมือง หรือป่าในเมืองยาว 75 กิโลเมตรที่มีต้นไม้ขึ้นใหม่เกือบ 5 แสนต้น

มาริอาโน ฟูเอนเตส ที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาเมืองของมาดริดกล่าวว่า โครงการนี้ต้องการปรับปรุงคุณภาพอากาศทั่วทั้งเมือง เป็นการต่อสู้กับผลกระทบของ ‘เกาะความร้อน’ ที่เกิดขึ้นภายในเมือง ช่วยดูดซับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากเมือง และเพื่อเชื่อมโยงมวลป่าที่มีอยู่ทั้งหมดที่มีอยู่แล้วรอบเมือง

โครงการนี้ยังจะใช้พื้นที่รกร้างซึ่งอยู่ระหว่างถนนและอาคารเพื่อช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 175,000 ตันต่อปี และเมื่อสร้างเสร็จแล้ว นอกจาก ‘กำแพงสีเขียว’ ของมาดริดจะเป็นป่าที่มีต้นไม้พื้นเมืองที่สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว ยังช่วยลดความร้อนที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ และช่วยทำให้อุณหภูมิภายใต้ร่มเงาของต้นไม้เหล่านี้ต่ำกว่าส่วนอื่น ๆ ของเมืองถึง 2 องศา

อ้างอิง:
• Amber Louise Bryce & Lottie Limb • (Jan 7, 2022) “70 million livestock are slaughtered a year in Spain. Can the country change its ways?70 million livestock are slaughtered a year in Spain. Can the country change its ways?” . Euronews
• (Fab12, 2019) “Over 71% of EU farmland dedicated to meat and dairy, new research” . Greenpeace European Unit
• Jaime Velázquez • (Jul 19, 2021) “Madrid building a huge urban forest in a bid to combat climate change” . Euronews

Copyright @2021 – All Right Reserved.