แมวดาว ‘เก่งเล็ก’ แห่งป่าใหญ่

ท่ามกลางอากาศหนาวเย็นยะเยือกแห่งป่าทุ่งใหญ่นเรศวร อุณหภูมิลดฮวบต่ำสิบตั้งแต่สิ้นแสงตะวัน เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าขนท่อนฟืนมาก่อไฟไล่หนาวจนเปลวโชติช่วง

ทันใดนั้น เจ้าหน้าที่ที่ส่องไฟฉายเล่นๆ ไปตามพุ่มไม้ ก็ร้องขานออกมาว่า “แมว!”

ผมเด้งตัวจากเก้าอี้พลาสติก จนเก้าอี้หักกร๊อบ (เก้าอี้ของเจ้าหน้าที่ กรรม!) พอมองตามแสงไฟฉายไป ไม่อยากเชื่อสายตา ที่เห็นนั่นคือ แมวดาว (Leopard Cat)

มันขึ้นขอนไม้ล้ม หมอบนิ่ง และจ้องมองมา แมวดาวเข้ามามองคนหรือมองแสงไฟก็สุดจะเดา บ้างก็ว่าขำๆ แมวดาวคงหนาวจัด เลยอยากมาหาไออุ่นของกองไฟ

พอมีเสียงอะไรน่าสนใจในพุ่มไม้ มันก็แสดงอาการตื่นตัว แล้วลงจากขอนไม้ไป ท่วงท่าเหมือนล่าเหยื่อสัตว์เล็กสัตว์น้อย แต่ก็ไม่ได้ไปแล้วไปลับ คืนนั้น แมวดาวย้อนกลับมาขึ้นขอนที่ว่ารวม 3 รอบ

รอบสุดท้ายตอนเที่ยงคืนยาวนานสุดเป็นชั่วโมง ผมถ่ายรูปมันจนพอใจ แล้วเลิกถ่ายนั่งดูมันเล่น (ขยายภาพดู เห็นเห็บตัวเป้งเกาะที่ใบหูซ้าย)

ต่อมา ผมลองนับก้าวจากกองไฟคน ไปขอนไม้แมวดาว ได้ระยะไม่เกิน 15 ก้าวเท่านั้น นับว่าใกล้อย่างน่าแปลกใจ

เป็นครั้งแรกที่ผมได้เห็นแมวดาวด้วยตาอย่างใกล้ชิดและนานขนาดนี้ ปกติที่เคยเห็น เป็นการส่องไฟเจอแว้บๆ ไม่กี่วินาที แล้วมันก็ฉากหลบหนีเข้าพุ่มไม้

จะว่าแมวดาวป่วยใกล้ตาย ถึงมีอาการพิลึกๆ ก็ไม่ใช่ เพราะหลังจากนั้น ก็มีคนเจอมันซ้ำอีก พฤติกรรมซ้ำรอยทุกประการ คือขึ้นมาหมอบบนขอนเดียวกัน ปล่อยให้ช่างภาพสัตว์ป่าส่องไฟฉาย ตบแฟลช ถ่ายรูปจนหนำใจ

แมวดาวน่าจะเป็น “แมวแห่งเอเชีย” อย่างแท้จริง แหล่งกระจายพันธุ์  กว้างขวาง กระจายอยู่ตามภูมิประเทศที่หลากหลาย ตั้งแต่ป่าดิบ ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ชายป่า บนเกาะ ในไร่อ้อย ในสวนปาล์ม จากพื้นราบขึ้นไปถึงความสูงกว่า 4,000 เมตร

ประชากรยังมีหนาแน่นกว่าแมวดงชนิดอื่นๆ สถานภาพระดับโลกคือ Least Concern ยังห่างไกลต่อการสูญพันธุ์

การปรับตัวอาศัยในถิ่นที่หลากหลาย ถือเป็นจุดแข็งของแมวดาว แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ยังให้เป็นแค่รองแชมป์ โดยแชมป์ตัวจริงคือ เสือกระต่ายหรือแมวป่า (Jungle Cat)

แม้จะมีชุกชุม แต่ช่างภาพสัตว์ป่าหลายคน เคยเจอเสือดาวมากกว่าแมวดาว (อย่างน้อยก็ผมนี่แหละ!) เหตุเพราะแมวดาว เป็นสัตว์ที่ออกหากินกลางคืนเป็นหลัก แบบว่า “ไม่มืดไม่มา”

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อนี้สั่นคลอน เมื่องานวิจัยในป่าไทย พบว่าแมวดาวที่ใส่ปลอกคอติดตามตัว มีกิจกรรมเคลื่อนไหวในเวลากลางวันไม่แพ้กลางคืน

ปล. แต่ประสบการณ์ของผมเองในการตั้งกล้องดักถ่าย ไม่เคยได้ภาพแมวดาวตอนกลางวันแม้แต่หนเดียว มีแต่กลางคืน โดยเฉพาะตอนดึกสงัด

แมวดาวเป็นสัตว์ที่ถูกเรียกชื่อผิดบ่อยมากที่สุดติดอันดับต้นๆ ปรากฏตามข่าวเป็นประจำในชื่อ “เสือปลา”!

ขณะที่วงการสัตว์เองก็มีปัญหาไม่แพ้ระดับชาวบ้าน ขนของแมวดาวมีความแตกต่างหลากหลายมากในแต่ละพื้นที่ ตั้งแต่สีพื้นอันต่างกัน จนถึงลายจุด “ดาว” ที่มีทั้งแบบจุดเล็ก จุดใหญ่ แม้กระทั่งเป็นขีดยาว ขนาดตัวก็ยังแตกต่างกันตามถิ่นอาศัย

แมวดาวในป่าไทย มีขนาดสูสีแมวบ้าน แต่แมวดาวในป่ารัสเซีย หรือ Amur Forest Cat อาจมีเรือนร่างมหึมาราว “แมวดาวยักษ์” ที่ได้รับการบันทึกไว้มีน้ำหนัก 8.2 กก. และ 9.9 กก.!

แมวดาวจึงมีชื่อภาษาอังกฤษมากมาย บางทีเข้าใจผิดว่าเป็นแมวอีกสายพันธุ์ด้วยซ้ำ ต้องใช้เทคโนโลยีพิสูจน์ดีเอ็นเอ ช่วยยืนยันความถูกต้อง

จากการวิจัยพบว่า อาหารหลักของแมวดาวคือ หนู ทั้งหนูเล็กหนูใหญ่ บางพื้นที่อาจชอบล่าของแปลกอย่างกระรอกบิน หรือค้างคาวแม่ไก่ แมวดาวบางตัวชอบเข้าถ้ำ คอยจับกินค้างคาวหรือนกแอ่น (Swift) ที่ร่วงตกพื้นถ้ำ

แต่พฤติกรรมเด่นในการกินของแมวดาว ก็คือ “ความไวเป็นต่อ” คือพองับหนูได้ จะไม่มีการปล่อยลงพื้นเพื่องับอีกหน หรือแม้แต่ “เล่นเหยื่อ” เพื่อความบันเทิงแบบแมวบ้าน แมวดาวจะเคี้ยวหนูแล้วกลืนหาย ปิดเกมภายในเวลา 20 วินาที!

คงเพราะแมวดาวมีหนูเป็นเมนูหลัก มันจึงถูกคนจีนโบราณจับมาเลี้ยงเพื่อช่วยจับหนู ตั้งแต่เมื่อประมาณ 5,500 ปีก่อน เรื่องนี้มีการขุดพบหลักฐานและพิสูจน์ดีเอ็นเออย่างแน่ชัด

อย่างไรก็ตาม รายงานจากสวนสัตว์ต่างๆ ระบุว่าแมวดาวเป็นสัตว์ที่เลี้ยงให้เชื่องได้ยากที่สุด จะเชื่องได้ก็ต่อเมื่อเลี้ยงตั้งแต่แรกเกิดอย่างดูแลเอาใจใส่ ขืนปล่อยให้ลืมตาดูโลกแค่เดือนเดียวแล้วนำมาเลี้ยง ก็ไม่สามารถอุ้มลูกแมวดาวได้แล้ว

แต่ความพิเรนทร์ของคนนั้นลึกล้ำ มีฝรั่งทำสำเร็จมาเป็นร้อยปีแล้ว ในการนำแมวดาวมาผสมกับแมวบ้าน ปัจจุบัน แมวลูกผสมแมวดาว+แมวบ้าน ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์ จนเป็นแมวสวยงามราคาแพงที่เรียกว่า แมวเบงกอล (Bengal Cat) แมวน้อยน่ารักที่มีลวดลายอลังการ

ความสามารถแท้จริงของแมวดาว มีมากกว่าที่คนทั่วไปรับรู้ แม้ดูเผินๆ จะเป็น “แมวบนดิน” แต่ตำราทุกเล่มระบุ แมวดาวปีนต้นไม้ได้เก่ง ผมเองเคยส่องเจอกับตัวเองมาแล้วที่ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร

ขณะที่เจ้าหน้าที่ของอุทยานฯ เขาใหญ่ ก็ยืนยันว่าเคยส่องไฟเจอแมวดาวปีนต้นไม้ขึ้นไปสูงเกือบ 10 เมตร และเคลื่อนไหวอย่างคล่องแคล่วอีกต่างหาก

ไม่เท่านั้น แมวดาวยังว่ายน้ำได้เก่ง มีรายงานการพบแมวดาวว่ายน้ำทะเล จนไปถึงถึงเรือที่ทอดสมออยู่ในอ่าวเบงกอล! เชื่อว่าพวกมันมีการว่ายน้ำย้ายถิ่นฐานไปตามเกาะต่างๆ

จากประสบการณ์ของผมเองเช่นกัน ในการตั้งกล้องดักถ่ายในป่าตะวันตก จะพบแมวดาวใช้ด่านเดียวกันกับแมวใหญ่อย่างเสือโคร่ง เสือดาว เสือดำ อย่างเป็นเรื่องปกติธรรมดา ขณะที่แมวชนิดอื่นๆ แทบไม่กล้าทำอะไรเสี่ยงตายแบบนี้

ชีวิตแมวดาวถูกคุกคามมาตลอดจากการถูกคนล่า นอกเหนือจากการบุกรุกป่า เมืองจีนในอดีต ช่วงทศวรรษ 80 มีการล่าแมวดาวเป็นอุตสาหกรรมส่งออกหนังปีละกว่า 200,000 ผืน โดยมีการสำรวจเจอสต๊อกหนังแมวดาวถึง 800,000 ผืน

เสื้อโค้ทยาวของสุภาพสตรี 1 ตัว ต้องตัดเย็บด้วยหนังแมวดาวถึง 36 ตัว (ความเซ็กซี่บนความฉิบหายของคนอื่น)

โชคดีของแมวดาว ที่การค้าหนังแมวดาวกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายไปแล้ว พวกมันในทุกพื้นที่ในโลกจึงยังมีประชากรที่มั่นคง และเมื่อพิจารณาถึงพฤติกรรมสุดยอดด้านต่างๆ ในการทำมาหากิน และปรับตัว

แฟ้มบุคคลขอมอบรางวัล “เก่งเล็กแห่งป่าใหญ่” ให้แมวดาวไปครอบครอง!

Related posts

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย