หญิงกลางคนสู้ฉลามยาว 1.8 ม.รอดตายจากชายฝั่งฟลอริดา

เฮเธอร์ เวสต์ จากเท็กซัสถูกฉลามเลมอน ขนาดยาว 1.8 เมตร งับเข้าที่เท้าในระหว่างการดำน้ำตื้นอยู่ที่อุทยานแห่งชาติ Dry Tortugas หมู่เกาะนอกชายฝั่งฟลอริดากับเพื่อน ๆ ที่ก่อนหน้านั้นพวกเธอจะออกไปดำน้ำสำรวจแนวปะการัง แต่คลื่นลมแรงจึงกลับเข้าฝั่ง

เวสต์ ในวัย 42 ปี เอาตัวรอดด้วยการชกเข้าใส่เจ้าฉลามตัวดังกล่าวจนมันยอมปล่อยเท้าของเธอ “ฉันสวมตีนกบทำให้เท้าของฉันไม่ได้บาดเจ็บมากนัก” เธอกล่าว “ฉันตัดสินใจเอนตัวไปข้างหน้าและเริ่มชกต่อยมัน ฉันชกหน้ามันซ้ำแล้วซ้ำเล่าให้แรงที่สุดเท่าที่จะทำได้ และหลังจากนั้นประมาณ 30 วินาที มันก็ปล่อยและต่อมาเพื่อนก็วิ่งมาช่วยไว้”

จากนั้นเพื่อน ๆ ของเธอได้ขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ของอุทยานและนำส่งแพทย์ โดยพบว่าเท้าด้านขวาของเธอถูกฉลามกัดจนเป็นแผลและเลือดออก แม้จะไม่รุนแรงมากก็ตาม

ตามรายงานของ International Shark Attack File (ISAF) ที่มหาวิทยาลัยฟลอริดา ก่อนหน้าที่เวสต์จะเผชิญหน้ากับฉลามเลมอนโจมตี เคยมีเหตุการณ์ทำนองนี้ประมาณ 10 ครั้ง โดยทั้งหมดเกิดในทะเลฟลอริดาและแคริบเบียนแต่ไม่มีผู้ใดถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งทาง ISAF ระบุว่า เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง เนื่องจากพวกมันเป็นสัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่

ต่างจากเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นบริเวณนอกชายฝั่งของหมู่เกาะบาฮามาสในทวีปอเมริกาเหนือ เมื่อทีมนักประดาน้ำชาวอเมริกันเผยแพร่ภาพถ่ายซึ่งสร้างความฮือฮาครั้งใหญ่ในโลกออนไลน์ ขณะที่ฉลามเลมอน (lemon shark) ตัวหนึ่งว่ายน้ำตรงเข้ามาหา อีไล มาร์ติเนซ นักประดาน้ำและแสดงท่าทาง “high-five” หรือ “Give me five” พร้อมกับส่งยิ้มให้กับกล้อง

นั่นเป็นเหตุการณ์ที่สำนักข่าวต่างประเทศรายงานไว้เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2012 ขณะที่มาร์ติเนซ กำลังปฏิบัติภารกิจถ่ายภาพใต้ทะเลแคริบเบียน

อ้างอิง:
Isabella Nikolic (feb 18,2022) “Florida woman, 42, fights off a 6ft shark by punching it repeatedly in the head after it clamped its jaws around her foot while she was snorkelling” . Dailymail
Martin Pengelly (Feb 18,2022) “Woman escapes shark by punching it on nose off Florida coast” . The Guardain
(21 มี.ค. 2555) “ฮือฮา! พบฉลามสุดเป็นมิตร ขอทำ ‘high-five’ นักดำน้ำ พร้อมส่งยิ้มให้กล้อง” . Thairath Online

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

ชุบชีวิต ‘ขยะทะเล’ เพิ่มมูลค่า ชุมชนยั่งยืน ลดโลกร้อน