Shakers คนสุดท้าย

สหรัฐอเมริกาเป็นอู่ของทุนนิยม เป็นดินแดนที่ภาคธุรกิจมีอำนาจเหนือการเมือง เป็นศูนย์กลางของลัทธิบริโภคนิยม อุตสาหกรรมนิยม บรรษัทนิยม และอุดมการณ์ใครมือยาวสาวได้สาวเอา ที่เรียกอย่างดิบดีว่า American Dream

แต่ท่ามกลางความโกลาหลเหล่านี้ ยังมีบางมุมของสหรัฐอเมริกาที่เก็บซ่อนกลุ่มคนที่เชื่อในอุดมการณ์ตรงกันข้ามเอาไว้ พวกเขาคือกลุ่มคนที่เชื่อในวิถีอันเรียบง่าย และไม่เชื่อว่าศาสนาจะยังความชอบธรรมให้กับการกอบโกย – พวกเขาศรัทธาในวิถีอันเรียบง่าย และมั่นใจว่าพระเจ้าต้องการให้มนุษยชาติเป็นเช่นนั้น

ในอเมริกา ไม่เฉพาะแค่สหรัฐเป็นดินแดนของผู้ที่ลี้ภัยการกวาดล้างทางศาสนาในยุโรป คนกลุ่มนี้มีแนวคิดปฏิรูปศาสนาให้เข้าถึงปัจเจกชนโดยปราศจากนักบวชคนกลาง และให้ปัจเจกชนดำรงชีวิตอย่างไร้การปรุงแต่งมากที่สุด เพราะอาณาจักรของโลกนั้นแปดเปื้อนเกินกว่าจะดำรงอยู่ได้

เป้าหมายของพวกเขา คือการทำตัวให้เรียบและง่ายเพื่อรอคอยการเดินทางไปสู่อาณาจักรสวรรค์

คนกลุ่มนี้ เช่น Mennonites, Amish, Hutterites และ Shakers ในบรรดาผู้ศรัทธาวิถีเรียบง่ายเหล่านี้ Shakers กำลังจะกลายเป็นอดีตไปแล้ว

สหสังคมของผู้เชื่อในการปรากฏกายครั้งที่สองของพระคริสต์ (United Society of Believers in Christ’s Second Appearing) หรือที่รู้จักกันทั่วไปในนาม The Shakers ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1747 ในประเทศอังกฤษและก่อตั้งในสหรัฐอเมริกาในปี 1780 สมัยก่อนพวกเขารู้จักกันในชื่อ “Shakers Quakers” เพราะพวกเขามักแสดงอาการสั่นเทาด้วยความปีติยินดีระหว่างการนมัสการพระเจ้า

แนวคิดทางศาสนาของพวกเขา เชื่อเรื่องสภาวะเป็นคู่ของพระเจ้าในฐานะเพศชายและเพศหญิง โดยตีความคัมภีร์ไบเบิลภาคปฐมกาลเสียใหม่ ข้อความว่า “ดังนั้นพระเจ้าทรงสร้างเขาขึ้นมา ทรงสร้างเพศชายและเพศหญิง” (ปฐมกาล 1:27) ข้อความนี้ถูกตีว่าพระฉายา (ลักษณะ) ของพระเจ้านั้นมีทั้งชายและหญิง จึงทรงสร้างมนุษย์ที่มีทั้ง 2 เพศ มิใช่เป็นชายเท่านั้น แนวคิดนี้เองที่ทำให้เชคเกอร์ส่งเสริมสถานะชายและหญิงที่เท่าเทียมกัน (1)

และด้วยแนวคิดนี้ เชคเกอร์จึงตีความว่า พระเยซู บุตรชายของช่างไม้ชาวยิว คือการสำแดงลักษณะเพศชายของพระเจ้า ส่วนคุณแม่แอน (Mother Ann Lee) ลูกสาวของช่างตีเหล็กชาวอังกฤษ ผู้เป็นศาสดาของลัทธินี้ คือการสำแดงลักษณะเพศหญิงของพระเจ้า และถือเป็นการการปรากฎกายครั้งที่สองของพระคริสต์ (2)

คุณแม่แอน (Mother Ann Lee) ก็คือศาสดาของนิกายนี้ ผู้ที่เชื่อว่าตัวเองคือกายหญิงของพระเจ้า (3)และชี้ว่า ชายหญิงคู่แรก คืออาดัมและเอวากระทำผิดจนถูกขับลงมาจากอาณาจักรแห่งสวรรค์ ก็เพราะตัณหาและการสมสู่ นี่คือรากฐานของจริยธรรมชาวเชคเกอร์ที่สอนให้สำรวมตัวจากตัณหา อยู่อย่างเรียบง่าย และไม่สมสู่ระหว่างเพศ

แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่าแนวคิดทางเทวนิยม คือวิถีชีวิตที่เชคเกอร์กำหนดให้ผู้ศรัทธาดำเนินตาม นั่นคือการสนับสนุนสังคมที่เท่าเทียมกัน เปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีบทบาทความเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณควบคู่ไปกับผู้ชาย สมาชิกของกลุ่มจะรักษาพรหมจรรย์ละกิจกรรมทางเพศ ปฏิบัติเยี่ยงนักบวชที่ไร้เครื่องแบบ อยู่กันเป็นหมู่เหล่าเหมือนพระสงฆ์ แสวงหาสังคมที่สงบสุข นิยมสันติต่อต้านสงคราม

หมู่บ้านเชคเกอร์แบ่งออกเป็นกลุ่มหรือ “ครอบครัว” แต่ละหมู่บ้านถูกควบคุมโดยคณะผู้นำซึ่งประกอบด้วยชายสองคน (เอลเดอร์) และผู้หญิงสองคน (เอลเดรส) สมาชิกอยู่ด้วยกันในฐานะพี่น้อง บ้านแต่ละหลังถูกแบ่งเพื่อให้ผู้ชายและผู้หญิงทำกิจกรรมต่างๆ แยกกันให้เป็นเอกเทศที่สุด ชายหญิงจะใช้บันไดแยกกัน ใช้ประตูแยกกัน นั่งอยู่คนละฝั่งตรงข้ามของห้องในการนมัสการ และรับประทานอาหาร และในการประชุมสหภาพ ซึ่งเป็นการประชุมที่จัดขึ้นเพื่อสร้างความสมานฉันท์ระหว่างชายหญิง แต่ในการทำกิจกรรมเลี้ยงชีพประจำวันของหมู่บ้านเชคเกอร์พี่น้องชายหญิงจะมีปฏิสัมพันธ์กัน แม้ว่าจะมีการแบ่งงานระหว่างชายและหญิง แต่ทั้ง 2 เพศยังร่วมมือกันในลักษณะเดียวกับการลงแขก อย่างเช่น การเก็บเกี่ยวแอปเปิ้ล การผลิตอาหาร การซักรีด และการเก็บฟืน (4)

ชุมชนเชคเกอร์ไม่เพียงเลี้ยงตัวเองได้ แต่ยังถือว่ามีความยั่งยืนในทางเศรษฐกิจชุมชน แม่จะศรัทธาในวิถีศาสนา แต่หมู่บ้านเชคเกอร์ทุกแห่งใช้หลักวิทยาศาสตร์เกษตรที่ทันสมัยที่สุดในการจัดการกับฟาร์ม ดังนั้นพวกเขาจึงผลิตอาหารได้เลี้ยงตัวเองอย่างเพียงพอ ทั้งยังมีการจัดการฟาร์มที่เป็นระเบียบและสะอาด และเมื่อไม่ได้ทำเกษตร ชาวเชคเกอร์จะทำงานหัตถกรรมเพื่อนำไปขายเลี้ยงชุมชนอีกต่อหนึ่ง หรืออาจจะมีธุรกิจส่วนตัวเล็กๆ ที่อุ้มชูตนเองและชุมชน เช่น Shaker Seed Company ซึ่งเป็นบริษัทจำหน่ายเมล็ดพันธุ์พืชที่รุ่งเรืองในศตวรรษที่ 19 และมีชื่อเสียงในด้านนวัตกรรมการเกษตร (5) คนเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าวิถีแห่งความสมถะไปกันได้กับนวัตกรรม ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ และการทำธุรกิจ

ในช่วงที่ลัทธินี้ได้รับความนิยมสูงสุดกลางศตวรรษที่ 19 มีผู้ศรัทธา จำนวน 4,000-6,000 คน ที่อาศัยอยู่ในชุมชนใหญ่ 18 แห่งและชุมชนขนาดเล็กอีกเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป สังคมโลกไม่เอื้อให้กับแนวคิดสมถนิยม ส่งผลให้ชุมชนเชคเกอร์มีสมาชิกลดน้อยถอยลง จนกระทั่งในปี 1920 มีชุมชนเชคเกอร์เพียง 12 แห่งที่เหลืออยู่ในสหรัฐอเมริกา ในปัจจุบันมีหมู่บ้านเชคเกอร์ที่ที่ยังคง “แอคทีฟ” อยู่เพียงหมู่บ้านเดียวคือ Sabbathday Lake Shaker Village ซึ่งตั้งอยู่ในรัฐเมน (6)

แต่ในวันที่ 2 มกราคม 2017 ซิสเตอร์ฟรานเซส คารร์ สมาชิกของ Sabbathday Lake Shaker Village เสียชีวิตเมื่ออายุ 89 ปี ทำให้เหลือเพียง 2 คนเป็นชายหนึ่งหญิงหนึ่ง คือบราเดอร์อาร์โนลด์ แฮดด์ อายุ 58 ปี และซิสเตอร์จูน คาร์เพนเตอร์ วัย 77 ปี เขาทั้ง 2 คน คือเชคเกอร์รุ่นสุดท้ายที่อยู่ด้วยความหวังวาจะมีผู้มาสอนต่ออุดมการณ์ของพวกเขา (7)

อ้างอิง
1. Beliefs of The United Society of Shakers at Sabbathday Lake, Maine Archived March 21, 2011, at the Wayback Machine The United Society of Shakers at Sabbathday Lake, Maine. Retrieved January 18, 2011.

2. Evans, Frederick William. Shakers: Compendium of the Origin, History, Principles, Rules and Regulations, Government, and Doctrines of the United Society of Believers in Christ’s Second Appearing : with Biographies of Ann Lee, William Lee, Jas. Whittaker, J. Hocknell, J. Meacham, and Lucy Wright. D. Appleton And Company; 1859.

3. Rufus Bishop and Seth Youngs Wells, comps., Testimonies of the Life, Character, Revelations and Doctrines of our Ever Blessed Mother Ann Lee (Hancock, Mass.: J. Talcott and J. Deming, Junrs., 1816); Seth Youngs Wells, comp., Testimonies Concerning the Character and Ministry of Mother Ann Lee (Albany, N.Y.: Packard and Van Benthuysen, 1827).

4. Stephen J. Stein. The Shaker Experience in America: A History of the United Society of Believers. Yale University Press; 1994.

5. Wikipedia. “Shaker Seed Company”. https://en.wikipedia.org/wiki/Shaker_Seed_Company. Retrieved June 11, 2019.

6. Wikipedia. “Shakers”. https://en.wikipedia.org/wiki/Shakers#cite_note-11. Retrieved June 11, 2019.

7. Sharp, David (January 4, 2017). “1 of the Last Remaining Shakers Dies at 89, Leaving Just 2”. Associated Press.
——————————————-
ภาพประกอบ

  1. Brother Ricardo Belden ช่างทำกล่องรองเท้า ปี 1935 ภาพโดย Library of Congress
  2. Sabbathday Lake Shaker Village ภาพโดย Jamie Ribisi-Braley
  3. ห้องนอนรวมที่เรียบง่ายที่ Pleasant Hill, Kentucky ภาพโดย Tom Allen

Related posts

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย