ในบรรดาสัตว์ป่าของไทย มีสัตว์ที่มีลักษณะเป็น “คู่เหมือน” จากรูปร่างหน้าตาที่คล้ายคลึงกันมาก แบบว่าคนทั่วไปที่ไม่มีประสบการณ์กับเหล่าสิงสาราสัตว์ อาจงงเอาได้เหมือนกันว่าไผเป็นไผ
แต่สถานภาพของสัตว์คู่เหมือนนี้ กลับต่างกันราวฟ้ากับเหว ตัวหนึ่งหาง่ายทั้งในไทยและระดับโลก ส่วนอีกตัวหนึ่ง ในไทยหายาก และระดับโลกถึงขั้น Endangered หรือใกล้สูญพันธุ์เข้าไปแล้ว
เจ้าตัวหายากนี่แหละที่จะเล่าสู่กันฟังวันนี้ มันชื่อว่า ชะมดแผงสันหางดำ (Large-spotted Civet) ส่วนญาติหน้าตาคล้ายกันที่พบได้ทั่วไป ก็คือ ชะมดแผงหางปล้อง (Large Indian Civet)
หมอบุญส่ง เลขะกุล บิดาแห่งการอนุรักษ์ธรรมชาติของไทย รายงานไว้ในอดีตว่า ชะมดแผงสันหางดำเป็นสัตว์หาง่ายของไทย พบได้ทั่วไป
เมื่อปี 1996 ชะมดแผงสันหางดำ ยังมีสถานภาพ “ไม่ถูกคุกคาม” หรือ Least Concern แต่พอปี 2008 จำนวนของมันลดลงอย่างฮวบฮาบ เลื่อนชั้นมาเป็นสัตว์ระดับโลกแบบก้าวกระโดด สถานภาพกลายเป็น “เสี่ยงสูญพันธุ์” หรือ Vulnerable แล้วพอปี 2015 ก็ Endangered
จะเห็นว่าสัตว์ผู้ล่าขนาดเล็กชนิดนี้ กำลังอยู่ในช่วง “กราฟชีวิตตก” อย่างดำดิ่ง เชื่อว่ามันหมดสิ้นไปแล้วจากจีนและเวียดนาม แทบไม่เหลือในลาว ส่วนในไทยเองก็หมดจากภาคเหนือและอีสานตอนบน
โชคดีที่ยังมีบ้านหลังใหญ่ที่สุด ก็คือกัมพูชา เป็นหลักประกันว่า มันจะยังไม่หายไปจากโลกแบบง่ายเกินไป
ในประเทศไทย การสำรวจด้วยกล้องดักถ่ายก็พบชะมดแผงสันหางดำเหลืออยู่ในป่าไม่กี่แห่ง มากที่สุดน่าจะเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จ.ฉะเชิงเทรา รองลงมาอาจเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสลักพระ จ.กาญจนบุรี
อนึ่ง ความเห็นส่วนตัวของผม ชะมดแผงสันหางดำดูเหมือนจะอาศัยอยู่ในป่าแบบเดียวกับวัวแดง ซึ่งง่ายต่อการบุกรุกทำลายและล่า
ความหายากของชะมดชนิดนี้ มาพร้อมกับความลึกลับ ดูเหมือนว่าไม่เคยมีงานวิจัยใดๆเกี่ยวกับมัน ในหนังสือ Carnivores of the World ของ Luke Hunter จะใช้คำว่า Unknown ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเรื่องอาหารการกิน พฤติกรรมทางสังคม และจำนวน
ในเอกสารของ IUCN Red List สันนิษฐานสาเหตุการล้มหายตายจากอย่างรวดเร็วของชะมดแผงสันหางดำ เกิดจากป่าถิ่นอาศัยถูกทำลายกลายเป็นแหล่งเพาะปลูก และก็การล่าด้วยแร้ว (ที่จริง แร้วไม่ได้เจาะจงที่จะล่ามัน แต่ล่าสัตว์เคราะห์ร้ายทุกตัวแบบไม่เลือกหน้า)
แล้วทำไมชะมดแผงหางปล้อง กลับไม่ได้รับผลกระทบรุนแรงไปด้วย? ก็เพราะชะมดแผงหางปล้อง อาศัยได้ในภูมิประเทศที่หลากหลายกว่า ตามภูเขาก็อยู่ได้ ส่วนชะมดแผงสันหางดำ เป็นสัตว์ป่าต่ำแท้ๆ คืออยู่ที่ระดับ 300 เมตรลงไป
ทั้งนี้ มีข้อยกเว้น เช่น ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ชะมดแผงสันหางดำติดกล้องดักถ่ายนักวิจัยที่ความสูง 780 เมตร ขณะที่ผมเองก็เคยดักถ่ายมันได้ที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า ใกล้จุดสกัดเขาสูง (ไม่แน่ใจว่าตรงนั้นความสูงเท่าไร?)
เคยมีข้อสันนิษฐานเก่าแก่ ประมาณว่า “สันหางดำ” จะอยู่แยกป่า หรือไม่ทับซ้อนกับ “หางปล้อง” เรื่องนี้ไม่จริงล้านเปอร์เซนต์ เพราะตามประสบการณ์ของผมเอง ได้ภาพชะมดแผงสันหางดำและชะมดแผงหางปล้อง ในจุดตั้งกล้องเดียวกัน อย่างน้อยก็ 3 จุด
ความเป็นสัตว์หายากและออกหากินกลางคืน จึงไม่ค่อยมีใครได้เห็นตัวจริงของมัน ผมเองเคยส่องเจอหนเดียว และก็ดันถ่ายภาพไม่ทันซะอีก