พายุฝนจากอิทธิพล ‘ลานีญา’เติมทะเลสาบแห้งแล้งออสเตรเลียฟื้นระบบนิเวศกลับมาอีกครั้ง

สถานการณ์ลานีญาที่ขยายวงกว้างได้เปลี่ยนชีวิตบนชายฝั่งตะวันออกของออสเตรเลียให้กลายเป็นพื้นที่อุทกภัยในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา และในทางกลับกันฝนที่ตกลงมาอย่างหนักได้มีบทบาทสำคัญช่วยให้ทะเลสาบในทะเลทรายอันกว้างใหญ่ใกล้ใจกลางทวีปมีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้ง

ทะเลสาบ Lake Eyre เป็นทะเลสาบน้ำเค็มที่ใหญ่ที่สุดของออสเตรเลีย มีพื้นที่เก็บกักน้ำจากสามรัฐทางตอนเหนือ ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 9,000 ตารางกิโลเมตร และอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 15.2 เมตร ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดในออสเตรเลีย

เมื่อเกิดมรสุมเขตร้อน น้ำท่วมจะไหลจากแม่น้ำสายหลักในประเทศผ่านช่องแคบของรัฐควีนส์แลนด์ โดยล่าสุดเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ในปี 2019 ซึ่งถูกน้ำท่วมเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษและทำให้น้ำไหลลงสู่ทะเลสาบแห่งนี้

ช่างภาพ Doug Gimesy ได้ถ่ายภาพมุมสูงทำให้เห็นภาพที่น่าทึ่งทั้งสีชมพู สีฟ้า สีเขียว และสีน้ำตาล ซึ่งได้แทนที่ดินสีแดงแห้งเหือด เนื่องจากที่นี่ไม่มีฝนตกทั่วทะเลสาบตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980

ศ.ริชาร์ด คิงส์ฟอร์ด นักชีววิทยาด้านการอนุรักษ์แห่งมหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์ ผู้ทำการศึกษาระบบนิเวศของทะเลสาบที่มีความสำคัญระดับโลกแห่งนี้มากว่าสามทศวรรษระบุว่า ภาพทะเลสาบที่เต็มด้วยสีสันหลากหลายเป็นเรื่องน่าทึ่งและน่าตื่นตาตื่นใจมาก และถือเป็นระบบนิเวศที่มีความสำคัญระดับโลก เพราะน้ำที่ไหลลงทะเลสาบอีกครั้งได้ทำให้ระบบนิเวศฟื้นตัวหลังจากน้ำได้เจือจางเกลือในทะเลสาบที่แห้งแล้งและมันได้นำนกจำนวนนับแสนตัวกลับอีกครั้ง

แน่นอนว่าทำให้คนเลี้ยงสัตว์ และธุรกิจต่าง ๆ ตื่นเต้นสำหรับพื้นที่สีเขียวชอุ่มที่กำลังกลับมา

ทะเลสาบแอร์ถือเป็นหนึ่งในระบบแม่น้ำในทะเลทรายอันบริสุทธิ์ที่หลงเหลืออยู่แห่งสุดท้ายของโลก ที่ผ่านมาประชาชนในพื้นที่ได้รณรงค์ให้หยุดการพัฒนาและเปลี่ยนเส้นทางการไหลของน้ำเมื่อสองทศวรรษก่อน โดยเฉพาะแรงผลักดันด้านการพัฒนาครั้งใหญ่จากบริษัทพลังงานต่าง ๆ ที่มุ่งสำรองเชื้อเพลิงฟอสซิล

อ้างอิง:
• Adam Morton and Stephanie Tran (Apr 1, 2022) “‘Absolutely amazing’: Lake Eyre dances with colour thanks to big La Niña rains
Rainfall not seen over South Australia’s vast desert lake since the 80s has brought it to spectacular life” . Guardian
• Carli Willis (Feb 22, 2022) “Lake Eyre begins filling with water much to the delight of graziers, businesses and tourists” . ABC
• ภาพ: Doug Gimesy

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

5 ปีอุณภูมิโลกส่อทะลุ 1.5 องศา ไทยเร่งรับมือ 6 สาขาเสี่ยงระดับพื้นที่