‘ลานีญา’ จะมาแล้วนะ ก.ย.- ต.ค.ส่อน้ำท่วมซ้ำรอยปี 65


“ลานีญา” มาแน่ วันแม่เดือน ส.ค. นี้ โดยจะลากยาวไป 6 เดือน โดยช่วง ก.ย.-ต.ค. จะเกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมภาคกลาง อีสาน ตะวันออก คล้ายกับเหตุการณ์นำท่วมในปี 2565 ที่พื้นที่เกษตรได้รับผลกระทบ 3 ล้านไร่ เกษตรกรเดือดร้อนประมาณ 10 ล้านคน มูลค่าความเสียหายรวม 1,100 ล้านบาท

รายการเขียวรักษ์โลก ฐานเศรษฐกิจ สัมภาษณ์ ดร.ชวลิต จันทรรัตน์ กรรมการและผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ ทีมกรุ๊ป เกี่ยวกับสถานการณ์ลานีญา ว่า ถึงวันที่ 20 พฤษภาคม กรมอุตุนิยมวิทยาบอกว่า ลมตะวันตกเฉียงใต้พัดเข้าสู่ฤดูฝน จากนี้ไปประมาณกลางเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม จะเข้าสู่ลานีญา คือปรากฎการณ์ฝนมากน้ำมาก ซึ่งผันกลับอย่างรวดเร็วจากเดือนเมษายนถึงมิถุนายน และพอถึงกรกฎาคมจะเข้าสู่สถานการณ์ฝนมากน้ำมาก

จากนั้น กลางเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม หย่อมความกดอากาศต่ำจะเลื่อนขึ้นไปอยู่ที่ประเทศลาว และคุณหมิง ยูนนานของจีน ทำให้กลางมิถุนายนถึงกรกฎาคมฝนจะน้อยลง แต่ไปตกมากในลาวและจีนตอนล่าง กว่าที่ร่องฝนจะกลับมาและลานีญาที่ฝนมากน้ำมากจะกลับมาอีกครั้งคือในวันแม่ 12 สิงหาคม เป็นต้นไป ฝนจะกลับมาตกในไทยมากขึ้น

เริ่มจากภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ฝนตกหนักมีโอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมในพื้นที่เชิงเขาภาคเหนือและอีสานตอนบน เกิดน้ำป่าไหลหลากในภาคเหนือ ต้องระมัดระวังดินโคลนที่จะไหลลงมาก นอกจากนั้นในเดือนสิงหาคมโอกาสที่จะเกิดพายุจรที่จะมาจากแปซิฟิกจะขึ้นฝั่งฟิลิปปินส์ ต้องติดตามว่าจะรุนแรงหรือไม่ หรือหมดแรงที่ฟิลิปปินส์ และมาเพิ่มกำลังที่ทะเลจีนใต้ จะมาขึ้นฝั่งที่เวียดนามและวิ่งมาถึงลาวและก็จะเข้าอีสานตอนบนได้ก็จะเข้า จ.นครพนม หนองคาย อุดรธานี ฝนก็จะตกหนัก ข้ามปทางภาคเหนือ คือ เชียงราย น่าน แพร่ จะได้รับผลกระทบ

กมลชนก ฑีฆะกุล ผู้ดำเนินรายการเขียวรักษ์โลก ถามว่า เหตุการณ์ที่สวิงกลับไปกลับมาลักษณะนี้ เกิดจากปัจจัยอะไร และแตกต่างจากอดีตหรือไม่ ดร.ชวลิต ตอบว่า ถือว่าเป็นเหตุการณ์ผิดปกติโดยองค์กรทางยุโรปสรุปว่าสาเหตุที่ทำให้ปรากฎการณ์เอลนีโญและลานีญาเกิดบ่อยมาจากภาวะโลกร้อน ซึ่งเดิมจะเกิด 7-8 ปีครั้ง ที่จะเกิดภาวะสวิงไปสวิงมา และภาวะโลกร้อนในช่วง 12 เดือนที่ผานมาจนถึงเดือนเมษายนองค์ด้านโลกร้อยในยุโรประบุว่าอุณหภูมิสูงขึ้น 1.57 องศาเซลเซียส ซึ่งข้อตกลงปารีสตกลงจะควบคุมอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส แต่ 12 เดือนได้ทำลายสถิติไปแล้ว

ประเมินแล้วกระทบภาคส่วนต่างๆ หรือการใช้ชีวิตแค่ไหน ดร.ชวลิต ระบุว่า อุณหภูมิน้ำทะเลใน 3 เดือนข้างหน้า คาดว่าต่ำกว่าค่าปกติ 1.5 องศาเซลเซียส ในช่วงเดือนกันยายน จากปีที่รุนแรงเคยเพิ่มขึ้นเป็น 2 องศา ซึ่งเดือนกันยายนจะกระทบสูงมาก และอยู่ในเกณฑ์ที่เทียบได้กับเดือนสิงหคม ปี 2565 ฝนจะตกหนักระดับ 200 มิลลิเมตรสองวันต่อเนื่อง ในจังหวัดที่ได้กล่าวถึงข้างต้น พอถึงเดือนกันยายนร่องความกดอากาศต่ำหรือหย่อมฝนจะต่ำลงมาที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคอีสานตอนล่างและภาคกลางตอนบน จังหวัดที่อยู่บริเวณเหล่านี้จะต้องระวังฝนตกหนัก

จากนั้นในเดือนตุลาคมร่องฝนกับหย่อมฝน มรสุมจะเคลื่อนต่ำลงไปภาคกลางและภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก คือกาญจนบุรี ราชบุรี และพาดผ่านภาคกลางตั้งแต่อ่างทอง สิงห์บุรี พระนรครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุนรี กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ตะวันออกทั้งภาคจะเจอฝนหนักจุดอ่อนคือ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ต้องระมัดระวัง

อย่างที่พัทยาต้องระวัง เราใช้พื้นที่มาก (เกินไป) น้้ำจากเขาตาโลที่เคยไหลมาที่คลองพัทยา คลองก็แคบลง คลองบางคลองหายไป น้ำลงทะเลไม่ทัน จอมเทียนก็ต้องระมัดระวัง ที่ระยองคลองทับมาก็ระบายไม่ค่อยทัน ไปถมที่สร้างหมู่บ้านเยอะแยะ ซึ่งน้ำก็มาท่วมบ้าน ถมที่ก็สู้ไม่ไหว จันทบุรีแถวท่าใหม่และอำเภอเมืองที่ต้องระมัดระวัง

หรือภาคเหนือที่สุโขทัยก็มีโอกาสน้ำท่วมในเดือนกันยายน พิจิตรก็รับน้ำจากสุโขทัย พิษณุโลกอยู่ใต้เขื่อนสิริกิตติ์ เพชรบูรณ์ถ้าตกหนักก็มารวมกันที่อ่างทอง สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา เพราะฉะนั้น 3 จังหวัดน้ำมากก็จะเรียกว่าน้ำเหนือมา ถ้าเดือนตุลาคมฝนตกหนักในจังหวัดเหล่านี้อีกก็จะเพิ่มปริมาณน้ำให้มากขึ้น กว่าจะระบายลงทะเลไปได้ก็เดือนธันวาคม ภาวะจึงคล้ายคลึงไป 2565 ซึ่งมีน้ำท่วมอยู่ประมาณ 1 ล้านไร่ แต่จากแผนที่ Gistda ทำไว้คือภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคตะวันออกที่เกิดน้ำท่วมในปี 2565 รวมพื้นที่น้ำท่วมทั้งหมด 2.9 ล้านไร่ นี่รวมทุกภาค (กลาง อีสาน ตะวันออก)หรือนับตัวเลขกลมๆ 3 ล้านไร่

ผลเสียหายกระทบต่อพื้นที่นาข้าว 1.3 ล้านไร่ มูลค่าความเสียหายรวม 1,100 ล้านบาท ซึ่งรวมพืชและปศุสัตว์ และประมง สิ่งก่อสร้างมที่น้ำพัดพัง เช่น คันกั้นน้ำที่เสียหายอีก 1,000 ล้านบาท ซึ่งปี 2567 จะคล้ายคลึงกันในระดับเดียวกัน กระทบต่อเกษตรกรประมาณ 10 ล้านคน นอกจากนั้นภาคการผลิตที่เสียหายไป ทั้งการเลี้ยงปลา ปศุสัตว์ เช่น วัว ควาย หมู ซึ่งกระทบต่อห่วงโซ่ เช่น อาหารส่งออกวัตถุดิบแพงขึ้น สู้กับตลาดนอกบ้านได้ยากขึ้น

สำหรับ ปรากฎการณ์ลานีญา คือน้ำมากฝนมาก เป็นสภาพอากาศขั้วตรงข้ามกับ “เอลนีโญ” ที่ร้อนมากและแห้งแล้ง จากนี้ไปเมื่อเข้าลานีญาพื้นที่ไหนที่อากาศร้อนและแล้งก็จะเจอฝนตกชุก ส่วนพื้นที่ไหนที่มีฝนตกมากผิดปกติในช่วงเอลนีโญก็จะเข้าสู่ลานีญา ซึ่งประเทศไทยก็กำลังเข้าสู่ฝนมากน้ำมาก

ตามข้อมูลล่าสุดของสถาบันวิจัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ระบุว่า ระหว่างเปลี่ยนผ่านจากเอลนีโญเข้าสู่ลานีญานี้จะเกิดสภาพอากาศโลกแบบ Neutral หรือสภาพเป็นกลางในเดือนพฤษภาคม 2567 โดยจะมีระยะเวลาคงอยู่ 3 เดือน จากนั้นจะเข้าสู่ลานีญาอ่อนๆ โดยตามแบบจำลองของ NOAA คาดการณ์ว่าตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไปฝนจะเริ่มมา และลานีญาจะลากยาวประมาณ 6 เดือน

Related posts

จัดเดิน-วิ่ง มินิมาราธอน ปีที่ 2 ส่งต่อขาเทียมช่วยผู้พิการยากไร้

‘COP-19’ ดันอาเซียน เป็นภูมิภาคปลอด หมอกควัน

5 ปีอุณภูมิโลกส่อทะลุ 1.5 องศา ไทยเร่งรับมือ 6 สาขาเสี่ยงระดับพื้นที่