Food Delivery เกาหลีสร้างขยะพลาสติก 4.5 ล้านชิ้น/วัน

นับตั้งแต่สมาร์ทโฟนเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำเนินชีวิต ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความสะดวกสบายนั้นอยู่เพียงปลายนิ้ว แม้ว่าในเขตเมืองหรือย่านธุรกิจหลักจะประสบปัญหาการจราจรติดขัด สภาพอากาศร้อน หรือความเร่งรีบของผู้คน ก็ไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป เพราะปัจจุบันได้เกิดธุรกิจบริการส่งอาหาร หรือ Food Delivery ขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของคนทุกเพศ ทุกวัย ทำให้ธุรกิจดังกล่าวเติบโตอย่างก้าวกระโดดในประเทศต่างๆ ทั่วทุกมุมโลก

จากการสำรวจของ Kantar Worldpanel บริษัทบริการความรู้และข้อมูลเชิงลึกของผู้บริโภค ได้ระบุว่าในปี 2561 ประเทศที่มีการใช้บริการ Food Delivery เป็นอันดับหนึ่งของโลก คือ “เกาหลีใต้”  อันเป็นผลมาจากการเปิดตัวสมาร์ทโฟนในปี 2552 โดยเริ่มมีการใช้แอพพลิเคชั่นในการส่งข้อความ จากนั้นสมาร์ทโฟนได้ถูกนำมาใช้แทนที่ใบปลิวโฆษณาอาหาร จึงเกิดเป็นแพลตฟอร์มการสั่งอาหารออนไลน์ผ่านทางแอพพลิเคชั่นที่ขยายวงกว้างอย่างรวดเร็ว

เชื่อไหมว่าในปี 2556 มีจำนวนผู้ใช้แอพพลิเคชั่นบริการจัดส่งอาหาร 870,000 คน และเพิ่มจำนวนเป็น 25 ล้านคนในปี 2561 จะเห็นได้ว่าในระยะเวลาเพียง 5 ปี มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นถึง 29 เท่า และมีจำนวนการส่งมอบอาหารถึง 500,000 ครั้งต่อวัน หรือ 347 ครั้งในทุก ๆ 1 นาที!

ทำไม Food Delivery จึงได้รับความนิยมอย่างมากในเกาหลีใต้

เกาหลีใต้ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจชั้นแนวหน้าของเอเชีย มีความโดดเด่นทางด้านเทคโนโลยีและยังเป็นต้นกำเนิดของบริษัทขนาดใหญ่ที่มีสินค้าส่งออกไปทั่วโลก เช่น Samsung, LG, Hyundai และ Lotte เป็นต้น ทำให้เป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นอันดับที่ 4 ของเอเชีย และยังเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว (OECD) อีกด้วย 

แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ คนเกาหลีใต้มีชั่วโมงการทำงานโดยเฉลี่ยต่อสัปดาห์สูงเป็นอันดับที่ 3 ของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว รองจากเม็กซิโก และคอสตาริกา แม้รัฐบาลจะกำหนดลดชั่วโมงการทำงานไปเมื่อกรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา จาก 68 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เหลือ 52 ชั่วโมงต่อสัปดาห์แล้วก็ตาม แต่คนเกาหลีก็ยังมีชั่วโมงการทำงานสูงเช่นเคย

วัฒนธรรมการทำงานล่วงเวลานี้เอง ทำให้คนเกาหลีมีแนวโน้มในการประกอบอาหารลดลง และยังส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของครอบครัวเดี่ยวอย่างมีนัยสำคัญ 

จากการรายงานของรัฐบาลท้องถิ่นกรุงโซล (Seoul Metropolitan Government) ระบุว่า ครัวเรือนในกรุงโซลร้อยละ 50 มีสมาชิกเพียงหนึ่งหรือสองคน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 68 ในปี 2578 

นอกจากนี้ ความหนาแน่นของประชากรและที่อยู่อาศัยแบบอพาร์ตเมนต์ในเขตเมือง ทำให้การจัดส่งอาหารสะดวกมากยิ่งขึ้น อีกทั้งการช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดกันอย่างดุเดือดของผู้ให้บริการด้วยการออกโปรโมชั่นหรือส่วนลดต่างๆ ก็สร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาใช้บริการ Food Delivery มากขึ้น 

“ฟู้ด เดลิเวอรี่” ภาพสะท้อนของเกาหลีที่ไทยกำลังเผชิญ

วัฒนธรรมการรับประทานอาหารเกาหลีในหนึ่งมื้อ จะประกอบด้วย ข้าว ซุป กิมจิ และเครื่องเคียงอีกหลายชนิด หากใช้บริการ Food Delivery อาหารส่วนใหญ่จะถูกบรรจุลงในภาชนะพลาสติกที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เพื่อความสะดวกในการบริโภคและการขนส่งอาหาร อีกทั้งบรรจุภัณฑ์พลาสติกมีต้นทุนต่ำกว่าบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ แน่นอนว่าหากผู้ประกอบการนำบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวมาใช้ จะทำให้ลูกค้าต้องจ่ายเงินค่าอาหารเพิ่มขึ้น

จากรายงานของ Korea Zero Waste Movement Network ระบุว่า ธุรกิจ Food Delivery มีการส่งมอบอาหารถึง 500,000 ครั้งต่อวัน โดยมีจำนวนภาชนะพลาสติกเฉลี่ย 9 ชิ้นต่อครั้ง หากนำมาคำนวณจะพบว่า ในหนึ่งวันเกาหลีใต้จะมีขยะพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้งจากบริการ Food Delivery มากถึง 4.5 ล้านชิ้นต่อวัน หรือประมาณ 1,643 ล้านชิ้นต่อปี

รัฐบาลเกาหลีใต้จึงสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนด้วยการชี้แจงข้อมูลและสถิติของปริมาณขยะพลาสติก เพื่อสร้างความตระหนัก และแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของปัญหา นอกจากนี้ ยังขอความร่วมมือจากผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่น และร้านอาหารที่เข้าร่วมกับธุรกิจ Food Delivery ในการลดปริมาณการใช้พลาสติกบรรจุอาหาร ด้วยการงดการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ซ้อนกันสองชั้น ปรับเปลี่ยนมาใช้กล่องกระดาษในการบรรจุอาหาร งดการรับช้อนส้อมพลาสติก ใช้ถุงเก็บความเย็นที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ รณรงค์ให้ประชาชนคัดแยกขยะพลาสติกอย่างถูกวิธีเพื่อความสะดวกในการกำจัด และการพยายามผลักดันให้เกิดการทำ MOU ร่วมกันระหว่างรัฐบาลและผู้ประกอบการในการลดจำนวนขยะพลาสติก 

อย่างไรก็ตาม ในเขตเมืองหลวงและปริมณฑลของประเทศไทย กำลังประสบปัญหาการเพิ่มขึ้นของขยะพลาสติกจากธุรกิจ Food Delivery เช่นเดียวกับเกาหลีใต้ แต่ผู้ประกอบการบางรายเริ่มมีแนวทางนำร่องในการลดปริมาณขยะ ด้วยการทำแถบตัวเลือกงดรับช้อนส้อมพลาสติกในแอปพลิเคชัน อีกทั้งกำลังมีธุรกิจแนวใหม่ให้เช่ากล่องบรรจุภัณฑ์อาหารอีกด้วย แต่ก็ยังต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค และการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึ

นอกเหนือจากปัญหาการเพิ่มขึ้นของขยะพลาสติกแล้ว เกาหลีใต้ยังพบปัญหาการใช้บริการ Food Delivery เป็นเครื่องมือในการลักลอบซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ผู้ประกอบการ จึงแก้ปัญหาด้วยการให้ยืนยันตัวตนในการสมัครใช้บริการ และกำชับพนักงานส่งอาหารให้ตรวจสอบอายุด้วยการดูบัตรประชาชน ก่อนส่งมอบเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับลูกค้า

แต่หากปัญหานี้ทวีความรุนแรงและขยายเป็นวงกว้าง รัฐบาลอาจออกมาตรการในการกำกับดูแลที่เข้มงวดมากขึ้นตามไปด้วย แต่ในบริบทของประเทศไทย ปัญหาดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพราะผู้ให้บริการ Food Delivery ยังเน้นการส่งมอบอาหารเป็นหลัก 

ในขณะเดียวกันสถิติของการเกิดอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ในเกาหลีใต้ก็เพิ่มสูงขึ้น และสอดคล้องกับการเติบโตขึ้นของธุรกิจ Food Delivery โดยมีการศึกษาการเกิดอุบัติเหตุระหว่างการจัดส่งอาหาร พบว่า อุบัติเหตุมักเกิดขึ้นในช่วงเวลาเร่งด่วนของวันเสาร์และอาทิตย์ และส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในเวลากลางคืน 

ทั้งนี้ บริษัทผู้ให้บริการจัดส่งอาหารที่มีพนักงานน้อยกว่า 5 คน และพนักงานที่มีประสบการณ์ในการจัดส่งอาหารน้อยกว่า 6 เดือน มีแนวโน้มในการเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด 

การศึกษาดังกล่าวนำมาสู่การให้ข้อเสนอแนะสำหรับบริษัทผู้ให้บริการจัดส่งอาหาร ควรมีการฝึกอบรมด้านความปลอดภัย ทั้งพฤติกรรมการขับขี่ การกำหนดอายุผู้ขับขี่ตามที่กฎหมายกำหนด การปฏิบัติตามกฎจราจร การตรวจสอบสภาพรถ การสวมหมวกนิรภัย และมีระบบร้องเรียนหากพบผู้ขับขี่ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร

ความพยายามในการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากธุรกิจ Food Delivery ในเกาหลีใต้ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในประเทศไทยสามารถนำแนวทางดังกล่าวมาปรับใช้ได้ นอกเหนือจากธุรกิจ Food Delivery ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็น Rising Star Service ที่น่าจับตามองอีกธุรกิจหนึ่งแล้ว ในอนาคตอันใกล้อาจเกิดธุรกิจบริการแนวใหม่ หรือธุรกิจในรูปแบบอื่นที่ไม่คาดคิดได้อีกจากการพัฒนาทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว และความต้องการของผู้บริโภค 

ดังนั้น การดำเนินกิจกรรมของภาคธุรกิจให้เกิด “ความยั่งยืน” จะต้องพิจารณาอย่างเป็นระบบ คำนึงถึงผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจ และความรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหา ในส่วนของภาครัฐควรสร้างการรับรู้ เน้นการติดตามและกำกับดูแลอย่างสมดุล ด้วยการขอความร่วมมือจากภาคประชาชนและภาคธุรกิจ ให้ระยะเวลาในการปรับตัว และคิดค้นแนวทางแก้ไขปัญหา ก่อนการออกกฎหมายหรือมาตรการบังคับใช้ ซึ่งจะเป็นการปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาธุรกิจ ที่จะส่งผลต่อทิศทางการพัฒนาประเทศ และท้ายที่สุดภาคประชาชนควรตระหนักถึงพฤติกรรมการบริโภคอย่างสร้างสรรค์ ให้การสนับสนุนธุรกิจที่ถูกต้องตามกฎหมาย ตลอดจนมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม หากทุกภาคส่วนร่วมมือกัน ทุกปัญหาย่อมมีทางออก

เพราะการแก้ไขปัญหา “ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่คือหน้าที่ของทุกคน”

Related posts

มหาอำนาจโลกในมือ ‘ทรัมป์’ จุดจบการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศ?

โลกจมกองพลาสติก ต้องเปลี่ยนวิธีผลิต ลดการบริโภค กำจัดอย่างยั่งยืน

อุณหภูมิทะลุ 3.1°C แผนลดก๊าซเรือนกระจกในปี 2030 เป็นเรื่องเพ้อฝัน