‘เกาะพิทักษ์’ Green Island แห่งชุมพร

เมื่อ 30 กว่าปีก่อน “เกาะพิทักษ์” เกาะเล็กๆ ณ หมู่ 14 ตำบลบางน้ำจืด อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร มีธรรมชาติทางทะเลเสื่อมโทรมอย่างมาก ชุมชนมีความแตกแยก เกิดปัญหายาเสพติด และมีการเล่นการพนัน ขณะที่อาชีพประมงพื้นบ้านซึ่งเป็นอาชีพหลักหล่อเลี้ยงชุมชนก็ถูกเรือประมงพาณิชย์นำอวนลาก และอวนรุนเข้ามารุกรานแย่งชิงพื้นที่การจับสัตว์น้ำจนชาวบ้านแทบไม่มีทางออก

จากสภาพปัญหาดังกล่าวเป็นแรงผลักดันสำคัญให้ “อำพล ธานีครุฑ” หรือ “ผู้ใหญ่หรั่ง” ลูกน้ำเค็มที่เติบโตมาบนเกาะพิทักษ์ ตัดสินใจลาออกจากงานที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2536 เพื่อกลับมาฟื้นฟูบ้านเกิดในฐานะผู้ใหญ่บ้าน

นับจากนั้นเป็นต้นมาสภาพแวดล้อมทางทะเลของเกาะพิทักษ์ค่อยๆ ได้รับการฟื้นฟูให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง อาณาบริเวณรอบๆ เกาะมีผืนน้ำทะเลสีครามสดใส โอบล้อมไปด้วยเกาะน้อยใหญ่ ปราศจากเรือประมงพาณิชย์แล่นเข้ามาลากอวนเช่นในอดีต
เมื่อการรุกรานจากคนภายนอกสงบลง ชาวประมงพื้นบ้านจึงร่วมกันอนุรักษ์ทะเลจนวันหนึ่งสัตว์น้ำหายาก เช่น ม้าน้ำ หอยมือเสือ ปะการัง ไม่ต้องพูดถึงกุ้ง หอย ปู ปลา กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง

ผลจากความสำเร็จดังกล่าว “ผู้ใหญ่หรั่ง” จึงเกิดแนวคิดจะยกระดับเกาะพิทักษ์ให้เป็น “ต้นแบบ” Green Island ของประเทศไทย เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับเกาะในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

การจะเป็น Green Island สิ่งแรกที่ต้องลงมือทำก็คือ “จัดการขยะ” ที่ไหลเข้ามาบนเกาะซึ่ง 95% เป็นขยะจากภายนอกหรือมาจากนักท่องเที่ยว ดังนั้นในปี 2563 เกาะพิทักษ์จะชูการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ มีการกำหนดกฎระเบียบขึ้นบังคับใช้ อาทิ ห้ามนำถุงพลาสติกขึ้นบนเกาะเด็ดขาด หากนักท่องเที่ยวนำถุงพลาสติกขึ้นมาจะถูกปรับ 100 บาท โดยจะทำคิวอาร์โค้ดกฎระเบียบให้นักท่องเที่ยวสแกนบนฝั่งก่อนล่องเรือขณะเดียวกันจะส่งเสริมให้ชาวประมงพื้นบ้านเรียนรู้การผลิต “ถุงผ้า” ใช้เองด้วย

ด้วยเสน่ห์ของเกาะพิทักษ์ที่มี “อากาศบริสุทธิ์” เป็นจุดขาย ชุมชน Green Island จึงต้องหาวิธีการจัดการขยะที่ลอยมาจากข้างนอก โดยตั้งโจทย์ว่า จะทำอย่างไรให้ขยะเหล่านั้น “มีค่า” และเกิดการ “แย่งกันเก็บขยะ” โดยขณะนี้กำลังหารือกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อนำองค์ความรู้ด้านจัดการขยะเหลือศูนย์ หรือ Zero Waste เข้ามาใช้ เพราะชาวบ้านมีการรวมกลุ่มกันเข้มแข็งและมีความตั้งใจเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

อีกโครงการ คือ “คาร์บอนเครดิต” เนื่องจากบนเกาะพิทักษ์มีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ จึงกำลังศึกษาว่า ต้นไม้หนึ่งต้นอายุ 30 ปี จะให้คาร์บอนเครดิตเท่าไร เพื่อจะใช้เป็นตัวเลขตอกย้ำคุณภาพอากาศบนเกาะ พร้อมๆ กับดึงคนรุ่นใหม่ตั้ง “กลุ่มเด็กและเยาวชนอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม” เพื่อร่วมแรงร่วมใจกันเก็บขยะทะเล

อีกทั้งจะมีการสร้าง “นักวิจัยรุ่นเยาว์” ให้เด็กได้เรียนรู้การสร้างปะการังเทียม การตรวจสอบสภาพน้ำง่ายๆ เช่น การพิสูจน์ค่าออกซิเจนบริเวณใต้ถุนโฮมสเตย์ทุกหลังว่าแต่ละหลังไม่ได้ทิ้งเศษอาหารหรือน้ำเสียลงทะเล เหนือสิ่งอื่นใดต้องการให้เด็กเหล่านี้ได้ดูแลสิ่งแวดล้อมแทนคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้ใช้ชีวิตแบบวิถีชุมชนดั่งเดิม มีสภาพแวดล้อมที่ดี ไม่มีสิ่งก่อสร้างใหญ่โต

เพื่อให้เป็นเมืองท่องเที่ยงเชิงอนุรักษ์ครบในทุกมิติ ภายในชุมชนได้วางระบบบำบัดน้ำเสียจากห้องน้ำหรือห้องครัวขึ้นบนบก และบำบัดด้วยจุลินทรีย์ โดยน้ำที่ผ่านการบำบัดจะต่อท่อน้ำทิ้งเข้าสวนชาวบ้าน เพื่อนำไปปลูกผักปลอดสารพิษ

นอกจากนี้จะสร้างอาชีพเสริมจากการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน เช่น ปล่อยไข่ปู ปล่อยไข่ปลาหมึกคืนสู่ธรรมชาติ เพื่อดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสร้างอาชีพเสริมด้วยการรวมกลุ่มเพาะเลี้ยงหอย หรือปลา ขายแก่นักท่องเที่ยว

“อาหารบนเกาะจะไม่มีหมู เป็ด ไก่ เพราะต้องการให้นักท่องเที่ยวได้บริโภคอาหารทะเลสดๆ จริงๆ และปราศจากฟอร์มาลีน อาหารทะเลสดขนาดที่ว่า ชาวประมงพื้นบ้านออกไปวางอวนหน้าเกาะเอาปู หรือกุ้ง มาส่งให้นักท่องเที่ยวถึงหน้าโฮมสเตย์แบบตัวเป็นๆ ไม่มีการนำอาหารทะเลมาจากภายนอก ทุกอย่างต้องหาโดยชาวประมงบนเกาะพิทักษ์เท่านั้น ถือเป็นการสร้างงานและอาชีพแก่ชาวประมงพื้นบ้านโดยตรง” อำพล ย้ำ

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การทำประมงมีความยั่งยืน ผู้ใหญ่หรั่งจะตั้ง “ธนาคารทะเล” หรือ Sea Bank ด้วยการสร้างบ้านปลา หรือแนวปะการัง รวมทั้งจะปลูกป่าโกงกางเพิ่มเติมให้เหมือนที่เคยมีในอดีต เพื่อเพิ่มประชากรสัตว์ทะเลที่มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ โดยวางเป้าหมายให้เกาะพิทักษ์เป็น “ศูนย์เรียนรู้การอนุบาลสัตว์ทะเล” อีกด้วย

โครงการทั้งหมดนี้ไม่อาจสำเร็จได้เพียงลำพังเฉพาะคนบนเกาะพิทักษ์เท่านั้น และไม่สามารถสำเร็จได้ด้วยการจัดการสิ่งแวดล้อมเพียงด้านใดด้านเดียว การสร้างต้นแบบเกาะพิทักษ์ให้เป็น Green Island จึงมองภาพรวมตั้งแต่การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม อย่างการจัดการขยะ การบำบัดน้ำเสีย ไปจนถึงการบริหารจัดการทรัพยากรชายทะเลให้ฟื้นคืนความสมบูรณ์ เพื่อเป็นต้นทางเศรษฐกิจให้กับชุมชน และจำเป็นต้องประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ เข้ามาหนุนเสริม เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติบนเกาะมีความยั่งยืน สามารถเป็นอนาคตของลูกหลานในวันข้างหน้า

Related posts

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย