ศาลปกคลองสูงสุดพิพากษากลับการยกคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เป็นให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ส่งผลให้คพ. และกระทรวงการคลังต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับกลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG เป็นเงินกว่า 9,000 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2565 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษากลับคำสั่ง และคำพิพากษาศาลปกครองกลาง เป็นให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในคดีโครงการออกแบบรวมก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จ.สมุทรปราการ ที่ให้ คพ.ต้องจ่ายเงินค่าจ้าง ค่าเสียหาย และดอกเบี้ย ให้แก่กลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG ที่เป็นคู่สัญญา
ศาลพิจารณาว่า หลักฐานเกี่ยวกับการพิจารณาคดีอาญาที่มีคำพิพากษาไปแล้วตามที่ คพ.กล่าวอ้างเพื่อขอให้พิจารณาคดีใหม่นั้นมีอยู่ก่อนแล้วในระหว่างการพิจารณาคดีครั้งก่อนทั้งสิ้น จึงมิใช่พยานหลักฐานใหม่
ด้าน นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดี คพ. กล่าวว่า ได้หารือกับทีมกฎหมายแล้วว่าจะยื่นเรื่องต่อศาลปกครองว่าไม่ควรต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับเอกชนเพราะศาลอาญาได้ตัดสินในคดีนี้ว่าเอกชนมีความผิด และ คพ.อยู่ระหว่างยื่นฟ้องแพ่งต่อจำเลยทั้งหมด 54,000 ล้านบาท
คดีนี้รัฐต้องจ่ายเอกชนในคดีตามคำสั่งศาล 4,983,342,383 บาท และอีก 31,035,780 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ย 2,629,915,324.92 บาท และ 15,714,123.69 ดอลลาร์สหรัฐ ที่เป็นเงินค่าจ้างในการออกแบบและก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย รวมทั้งค่าเสียหายและดอกเบี้ย รวมทั้งสิ้น 7,613,257,707.92 บาท และอีก 46,749,903.69 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.46 จนถึงวันชำระเสร็จ
นอกจากนี้ให้กรมควบคุมมลพิษคืนหนังสือค้ำประกันพร้อมชำระค่าธรรมเนียม จำนวน 48 ล้านบาท ให้บริษัททั้งหก รวมเป็นเงินที่กรมควบคุมมลพิษ ต้องชำระให้บริษัททั้งหกตามคำชี้ขาดทั้งสิ้น 9,058,906,853.61 บาท
ทั้งนี้ กิจการร่วมค้า NVPSKG ซึ่งเป็นคู่สัญญาในโครงการคล่องด่านที่มีมูลค่ากว่า 2.4 หมื่นล้านบาท ประกอบไปด้วย 6 บริษัท คือ บริษัทนอร์ทเวสท์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (N) บริษัทวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง (V) บริษัทประยูรวิศการช่าง (P) บริษัทสี่แสงการโยธา (S) บริษัทกรุงธนเอนยิเนียร์ (K) และบริษัทเกตเวย์ ดิเวลลอปเมนต์ (G)
อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองกลางได้สั่งรับคำขอไว้พิจารณา และมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2561 สั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ให้ คพ.ต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับกลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG และได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดว่าหลักฐานที่ คพ.อ้างไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่ แต่มีอยู่ตั้งแต่ก่อนที่จะมีการพิจารณาคดีในชั้นอนุญาโตตุลาการแล้ว
ต่อมาเอกชนได้ยื่นเรื่องให้คณะอนุญาโตตุลาการพิจารณาข้อพิพาท กระทั่งวันที่ 12 ม.ค. 2554 คณะอนุญาโตตุลาการมีคำสั่งให้กรมควบคุมมลพิษต้องเป็นผู้ชำระเงินค่าจ้าง ค่าเสียหาย รวมดอกเบี้ยให้แก่กลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG เป็นวงเงินรวม 9,058.9 ล้านบาท แต่รัฐไม่ยอมจ่าย NVPSKG จึงฟ้องศาลปกครอง และศาลมีคำสั่งให้บังคับคดีตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ
ปลายปี 2558 ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาคดีทุจริตโครงการคลองด่านลงโทษนายปกิต กิระวานิช อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นายศิริธัญญ์ ไพโรจน์พิบูรณ์ อดีตรองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และนางยุวรี อินนา ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพน้ำ ฐานสมคบกับเอกชนทุจริต ทำให้ราชการได้รับความเสียหายร้ายแรงให้จำคุกทั้งสามคนละ 20 ปี
มาถึงสมัยรัฐบาล (คสช.) ยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้สั่งให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) อายัดสิทธิเรียกร้องเงินชดเชยค่าผิดสัญญาก่อสร้างโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ที่รัฐบาลยังค้างจ่ายอีก 2 งวด เป็นเงินกว่า 4,700 ล้านบาท และ 32 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเป็นเงินรวมประมาณ 5,800 ล้านบาท เพราะสัญญาก่อสร้างโครงการเกิดขึ้นจากการทุจริต
ต่อมาครม. เมื่อปี 2559 มีมติให้กระทรวงการคลังหาทางรื้อฟื้นคดีเพื่อไม่ให้รัฐต้องจ่ายค่าเสียหายตามที่เอกชนร้อง จนนำมาสู่การยื่นศาลปกครองกลางเมื่อปี 2560 ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ให้รัฐจ่ายค่าเสียหาย 9,600 ล้านบาท และเมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2561 ศาลปกครองกลางก็สั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ให้ คพ.ต้องจ่ายค่าเสียหายให้กิจการร่วมค้า NVPSKG ตามวงเงินข้างต้น
กระทั่งศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษากลับเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2565ให้รัฐต้องจ่ายค่าโง่แก่กลุ่มเอกชนตามที่มีการค้างจ่าย
สำหรับโครงการนี้มีนักการเมืองมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมหลายคนตั้งแต่ปี 2538 สมัยรัฐบาลชวน อาทิ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีต รมต.วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม (ศาลสั่งจำคุกนายสังวรณ์ ลิปตพัลลภ พี่ชายนายสุวัจน์) นายยิ่งพันธ์ มนะสิการ อดีต รมต.วิทยาศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม (เสียชีวิตแล้ว) นายวัฒนา อัศวเหม อดีต รมช.มหาดไทย (หลบหนีไปอยู่กัมพูชา)
อ้างอิง:
https://news.thaipbs.or.th/content/313421
https://www.thaipost.net/hi-light/99230/
https://www.prachachat.net/prachachat-hilight/news-880552
เครดิตภาพ : posttoday