กะเหรี่ยงอมก๋อยงัดหลักฐานสู้ยันเผ่าไร่ไม่ล้ำเขตป่าอนุรักษ์

ข้อมูลที่ชุดพยัคฆ์ไพร กรมป่าไม้ แจ้งดำเนินคดีกับ แกอวย จามรจารุเดช บ้านเลขที่ 65 ชาวบ้านแม่สอ ม.7 ต.นาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ในข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าอนุรักษ์จากการเผาไร่หมุนเวียนมีความคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง

ไร่ แกอวย จามรจารุเดช พื้นที่เกิดเหตุที่ชุดพยัคฆ์ไพรเข้าตรวจสอบและจะดำเนินคดี

จากการสอบถามคนในพื้นที่พบว่าการเผาไร่ดังกล่าวเป็นการทำกินตามปกติและเป็นไปตามข้อกำหนดกับทางอำเภออมก๋อย ไม่ได้มีการบุกรุกพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพิ่มเติมแต่อย่างใด

สำหรับพื้นที่ดังกล่าว เดโช ไชยทัพ ผู้ประสานงานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ) ระบุว่า เป็นไร่ดั้งเดิมที่ทำกินมาตั้งแต่ปี 2495 หรือเมื่อ 68 ปีที่แล้ว ซึ่งเริ่มมีการทำแผนที่ประเทศไทยครั้งแรก ขณะที่ตัวหมู่บ้านแห่งนี้มีอายุกว่า 100 ปี ปกติการเผาไร่ในจุดนี้จะทำกัน 8 ปีครั้ง

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้อาจมีปัญหาไฟลุกลามเข้าเขตป่าอนุรักษ์ แต่เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมานี้มีการทำข้อตกลงและทำแนวกันไฟไม่ให้ลุกลาม มีการเฝ้ายาม และเผาให้เสร็จก่อนวันที่ 5 เม.ย. ของทุกปี

จากกนั้นจะทำการเพาะปลูก ซึ่งในอมก๋อยเป็นอำเภอที่มีข้อตกลงร่วมกันของกำนันและผู้ใหญ่บ้าน เมื่อปี 2554-2555 เป็นมติประชาคมว่า ห้ามปลูกข้าวโพดเด็ดขาด

“แต่การจัดการไร่หมุนเวียนยังไม่ได้รับการช่วยเหลือให้ชาวบ้านมีโอกาสเข้าถึงระบบสาธารณูปโภค จึงยังมีการเผาไร่ทำกินเหมือนเดิม ขณะที่ภาครัฐโดยกรมป่าไม้ก็ยังใช้วิธีการไล่จับกุมเหมือนเดิม ทั้งๆ ชาวบ้านต้องการจะปรับเปลี่ยนวิถีในการทำกิน มีทั้งคนอยากเปลี่ยนมากบ้างน้อยบ้าง ซึ่งขึ้นอยู่กับการให้โอกาสชาวบ้านเข้าถึงการพัฒนาที่มากกว่านี้”

การลงพื้นที่ของชุดพยัคฆ์ไพรเมื่อวันที่ 13 เม.ย. นำโดย ชีวะภาพ ชีวะธรรม ผู้อำนวยการสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้ มีเป้าหมายมุ่งหน้าไปยังจุดความร้อน (Hotspot) 1 จุด ตามที่ดาวเทียมระบุ แต่ระหว่างทางพบพื้นที่เผาป่าในบริเวรณจุดเกิดเหตุ หมู่ 7 ต.นาเกียน เจ้าหน้าที่จึงแวะตรวจสอบ

ชีวะภาพ ชีวะธรรม ผู้อำนวยการสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า

นอกจากนี้ ชุดพยัคฆ์ไพรยังได้นำภาพถ่ายการลงพื้นที่จาก 3 พื้นที่มาเผยแพร่ผ่านเพจพยัคฆ์ไพรและเพจคุยกับอธิบดีกรมป่าไม้ รวมทั้งแจกสื่อมวลชนที่ร่วมลงพื้นที่ด้วย จึงทำให้เข้าใจว่าการเผาไร่จุดเกิดเหตุพบการแปรรูปไม้ในไร่ของผู้ถูกกล่าวหาด้วย

“เมื่อรวม 3 ภาพ ทั้งการเผาไร่หมุนเวียน การแปรรูปไม้ขนาดใหญ่ และภาพมุมสูงการเผาป่าทำให้ออกมาดูเลวร้ายมาก” เดโชระบุ

เมื่อสอบถามไปยัง พิบูลย์ ธุวมณฑล ตัวแทนเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นคนพื้นที่ได้ความจริงว่า “แกอวย” เผาไร่ตั้งแต่วันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งในไร่มีทั้งไม้เล็กและไม้ขนาดใหญ่ แต่ยืนยันไม่มีการแปรรูปไม้ในจุดเกิดเหตุเพราะไม้ขนาดใหญ่ยังอยู่ครบทั้ง 6 ท่อน ภาพการขนไม้แปรรูปของเจ้าหน้าที่เป็นภาพที่ถ่ายมาจากจุดอื่น รวมทั้งภาพถ่ายมุมสูงก็ไม่ใช่จุดเกิดเหตุ

“ที่บอกว่าได้มีการเรียกผู้ใหญ่บ้านมาสอบถามแล้วก็ไม่จริง เพราะในวันเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบ ผู้ใหญ่บ้านแม่สอลงดอยไปส่งผู้ป่วย เจ้าของที่ก็ไม่อยู่ ผมก็ไม่อยู่เพราะไม่มีใครทราบ แต่ชุดพยัคฆ์ไพรไปสอบถามข้อมูลมาจากผู้ใหญ่บ้านห้วยบง ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับพื้นที่นี้

“การเผาไร่ตรงนี้เป็นไปตามข้อตกลงกับทางอำเภอที่จะเป็นผู้กำหนดช่วงการเผา ที่ต้องเผาหลังเวลาบ่าย 3 และจะบอกว่ามู่บ้านไหนจะเผาวันไหนและเผาได้ครั้งละกี่หมู่บ้านเพื่อไม่ให้เกิดฝุ่นควันมาก

“ล่าสุดผู้ใหญ่บ้านได้ไปให้ข้อมูลกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้วว่าไม่ได้บุกรุกเขตป่าอนุรักษ์ เนื่องจากหมู่บ้านมีกติการ่วมกันในการทำไร่หมุนเวียน การเผาไร่จะไม่ให้ลามออกนอกเขต แปลงนี้ทิ้งมา 8 ปี เพิ่งมาเผา ไม้ก็ขึ้นอยู่ไม่ได้ตัดทั้งหมด ฟันแค่กิ่ง ปล่อยให้มันขึ้นต่อ

“การเผาไร่จะมีการตกลงกันในหมู่บ้านและทางอำเภอ จะเผาพร้อมกันทั้งตำบลไม่ได้ ทุกพื้นที่ชาวบ้านจะรู้ว่าตรงไหนเป็นป่าอะไร เรามีกติการ่วมกัน ใครแหกกฎผู้ใหญ่บ้านก็จะไปตักเตือน ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร”

นอกจากนี้ พิบูลย์ ตั้งข้อสังเกตว่า ภาพมุมสูงที่ชุดพยัคฆ์ไพรนำออกเผยแพร่นั้นมีถนนตรงกลาง (และมีอ่างเก็บน้ำ) ซึ่งอาจเป็นความจงใจของเจ้าหน้าที่ให้เกิดความเข้าใจผิดว่าชาวบ้านเป็นคนลงมือเผาป่าจนเกิดความเสียหายจำนวนมากหรือไม่

ภาพมุมสูงที่ชุดพยัคฆ์ไพรนำออกเผยแพร่กล่าวหาว่าชาวกะเหรี่ยงเผาป่ารุกป่าอนุรักษ์

พิบูลย์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวด้วยว่า ในนามของคนอมก๋อยและตัวแทนเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองขอแสดงความบริสุทธิ์ใจในเขตพื้นที่โดนคดีดังกล่าวเป็นพื้นที่ไร่หมุนเวียนเดิมไม่ได้ขยายและทำตามข้อตกลงของฝ่ายปกครองหรือผู้ใหญ่บ้านที่มาบอกตามมาตรการของจังหวัด ซึ่งในพื้นที่เกิดไฟป่าชาวบ้านและผู้นำทุกคนก็ไปช่วยกันดับทุกปีโดยไม่มีงบประมาณ นี้คือวิถีชีวิตของชนเผ่า

“ซึ่งในไร่หมุนเวียนทุกพื้นที่ในพื้นที่ชนเผ่าซึ่งมีไม้อยู่ในไร่หมุนเวียนทุกขนาดจะเล็กหรือใหญ่ไม่ใช่อย่างที่เจ้าหน้าอ้างตามสื่อและในแต่ละพื้นที่ทำกินแบบนี้มานานแล้ว ทำไมป่าหรือต้นไม้ยังอยู่และป่าก็ฟื้นเหมือนเดิมก็มีให้เห็นกันทั่วพื้นที่ไร่หมุนเวียนของชนเผ่า นี้หรือการทำลาย เจ้าหน้าที่ต้องขอบคุณชนเผ่าที่ช่วยดูแลช่วยคิดให้ป่าอยู่ตลอดไป

“ผมในนามของคนอมก๋อยและตัวแทนเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง..ต้องขอขอบคุณอาจารย์เดโช (ไชยทัพ ผู้ประสานงานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ)) ที่ให้ข้อมูลกับสังคมรับรู้ข้อมูลถึงวิถีชีวิตการทำไร่มานานแล้ว..เจ้าหน้าที่เองที่ไม่สนใจไม่ศึกษาข้อมูลที่แท้จริง ขอให้สื่อที่ลงข่าวต่างๆ ให้ทบทวนข่าวใหม่เพราะสร้างความเสื่อมเสียของพี่น้องชนเผ่า (อย่างหลงลืมความเป็นคนของคนอื่นเพราะเขาทำกินไม่ได้ทำลาย)” พิบูลย์ระบุ

หัวหน้าชุดพยัคฆ์ไพรและทีมสนับสนุนการลงพื้นที่ในครั้งนี้ นำโดย ชีวะภาพ ชีวะธรรม ผู้อำนวยการสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้ โดยข้อมูลจากเพจพยัคฆ์ไพรรายงานว่า มีการนำกำนันตำบลนาเกียน และผู้ใหญ่บ้าน ลงพื้นที่ตรวจสอบด้วย

หลังจากได้รับรายงานว่า มีการขยายพื้นที่เพิ่มเติมเข้าไปในป่าธรรมชาติ และมีการทำไม้ในพื้นที่ พบการลักลอบเผาป่าในลักษณะขยายพื้นที่ครอบครอง พบมีการตัดโค่นไม้และเผา เป็นไม้ทะโล้ จำนวน 6 ตอ ไม้ก่อ จำนวน 14 ต่อ

เมื่อมาถึงเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบการเผาป่าทำไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงมีการขยายพื้นที่ออกไปในป่าต้นน้ำลำธาร ตรวจสอบพบมีการตัดต้นไม้ขนาดใหญ่และขนาดเล็กลงทั้งหมด

ข้อมูลระบุด้วยว่า จากการสอบถามกำนันตำบลนาเกียน และผู้ใหญ่บ้านที่เข้าร่วมตรวจสอบด้วยให้การว่า เป็นการบุกรุกขยายพื้นที่ทำกินและเป็นการเผาป่าของชาวบ้าน และควบคุมไฟไม่ได้จนลุกลามเข้าป่าธรรมชาติ เจ้าหน้าที่จึงจัดทำบันทึกเพื่อดำเนินคดี

พร้อมตรวจยึดพื้นที่ที่ถูกบุกรุก พิกัด 0406037E 1981604N จำนวน 4 ไร่ เป็นแปลงขยายที่ทำกินจากไร่หมุนเวียนเดิม จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดเพื่อแจ้งความและส่งดำเนินคดีต่อไป

Related posts

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย