กลุ่มชาติพันธุ์ตกเป็นเป้าเพ่งเล็งจากสายตารัฐว่าคือมนุษย์ที่ “ลงมือเผาป่า” จนเป็นสาเหตุให้เกิดไฟป่าครั้งรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในภาคเหนือ โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ นำไปสู่การออกคำสั่งปิดป่า 100% ปิดแหล่งท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ แต่ดูเหมือนว่าสถานการณ์ไฟก็ยังเกิดขึ้นอยู่ในอีกหลายพื้นที่
ดอยขุนแปะซึ่งป่าต้นน้ำแม่แปะเป็นหนึ่งในจำนวนชุมชนที่ถูกเพ่งมอง ชุมชนแห่งนี้ ประกอบด้วย 4 หมู่บ้าน คือ บ้านต้นผึ้งอยู่ด้านทิศเหนือ ทิศตะวันออกคือบ้านบนนา ตะวันตกคือบ้านขุนแปะ และตะวันตกเฉียงใต้คือบ้านแม่จอน มีเนื้อที่รวมกันประมาณ 40,000 ไร่
เราสนใจและอยากทำความรู้จักมากขึ้น เพราะที่นี่เป็นบ้านของ ต๊ะนี กิจเจริญพัฒน์ เหยื่อไฟป่าวัย 41 ปี ที่อาศัยอยู่บ้านบนนา หมู่ 14 ต.แม่แปะ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ เธอเป็นผู้หญิงหนึ่งเดียวที่ถูกไฟครอกเสียชีวิตในราวป่าของปีนี้
อัศวิน พิเชฐกุลสัมพันธ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 17 บ้านต้นผึ้ง ต.บ้านแปะ อ.จอมทอง เล่ากับทีม igreen ว่า ดอยแห่งนี้เป็น “บ้าน” ของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง หรือปกาเกอะญอ เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำที่เป็นรอยต่อติดกับอุทยานแห่งชาติออบหลวงและป่าสงวนแห่งชาติ
เราถาม “ผู้ใหญ่วิน” เพราะเห็นภาพถ่ายที่เขาโพสต์ลงเฟซบุ๊กส่วนตัว ซึ่งมีชาวบ้านนอนหมดแรงราบอยู่ตามรอยไหม้ของไฟป่า “ไฟป่ารอบนี้เริ่มวันที่ 27 มี.ค. 2563 และเพิ่งดับได้เมื่อวันที่ 10 เม.ย. ที่ผ่านมา ไฟลุกลามไปเรื่อย ถือว่าหนักสุดในรอบ 40 ปี เพราะไฟป่าที่เกิดเมื่อ 7-8 ปีก่อนเสียหายเล็กน้อย”
“อัศวิน” บอกว่า ตั้งใจเผยแพร่ภาพผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเพื่อสื่อสารให้สังคมภายนอกได้รับทราบถึงการดับไฟของชาวบ้านว่าเหน็ดเหนื่อยแค่ไหน ซึ่งเป็นภาพทั้งระหว่างการดับไฟและหลังไฟมอดดับลงแล้ว
ไฟป่าเกิดขึ้นทั่ว จ.เชียงใหม่ และหลายจังหวัดภาคเหนือ เขาจึงไม่โทษเจ้าหน้าที่ที่มาช่วยดับไฟน้อย เพราะเข้าใจดีกว่าคนอาจไม่เพียงพอ โดยเฉพาะต้องทุ่มกำลังไปดับไฟบนอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย และอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์
การจัดการไฟป่าส่วนใหญ่จึงเป็นกำลังหลักของชาวบ้านที่ช่วยกันดับเอง ซึ่งช่วงแรกที่เกิดเหตุผู้ใหญ่อัศวิน บอกว่าไม่มีอุปกรณ์ดับไฟ ผ่านไปสักระยะจึงเริ่มมีผู้บริจาคทั้งอุปกรณ์ และอาหารมาสนับสนุน ซึ่งโชคดีที่บ้านต้นผึ้งไหม้ไปแค่ประมาณ 10 ไร่
เขาเล่าว่า เส้นทางไฟมาจาก อ.แม่แจ่ม ซึ่งอยู่ติดกับ อ.จอมทอง ลามมาทางบ้านบนนาช่วงวันที่ 26-27 มี.ค. จากนั้นเข้าบ้านขุนแปะ และเริ่มรุนแรงขึ้นเมื่อวันที่ 27-28 มี.ค. ทางผู้ใหญ่บ้านบ้านบนนาจึงได้แจ้งให้ชาวบ้านได้ทราบสถานการณ์ไฟป่าและช่วยกันดับ
และวันที่ 2 เม.ย. “ต๊ะนี” ซึ่งเป็นกำลังชุดที่สองที่ออกไปช่วยกลุ่มผู้ชายดับไฟก็ถูกไฟครอกเสียชีวิต วันนั้นมีการขอกำลังเสริมเข้าไปช่วยในพื้นที่ หลังจากชุดแรกเริ่มล้าและเอาไม่อยู่ เพราะลมแรงจึงเริ่มทะยอยถอนกำลัง ต๊ะนีเป็นชุดที่สองที่เข้าไปประมาณช่วง 10.00 น. แต่ด้วยไม่มีเครื่องมือสื่อสาร จึงไม่ทราบสถานการณ์ไฟว่ารุนแรงมาก ในที่สุดก็หนีไม่ทันและถูกไฟครอกเสียชีวิต
สำหรับการจัดการไฟป่าในชุมชน อัศวินบอกว่า พื้นที่ดอยขุนแปะสูงกว่าระดับน้ำทะเล 1,400-1,500 เมตร เป็นป่าดิบชื้น จึงไม่ต้องชิงเผาเหมือนป่าเต็งรัง ซึ่งอยู่ด้านล่าง แค่ทำแนวกันไฟ แต่ปีนี้แห้งแล้งสูง และลมแรงเมื่อเกิดไฟไหม้จะปลิวข้ามไปไหม้จุดอื่น
ขณะที่การจัดการเชื้อพลิงในภาพรวม เขามองว่าเจ้าหน้าที่อาจทำได้ไม่เต็มที่หรือไม่ดีพอ อาจเกี่ยวข้องกับงบประมาณหรือกำลังคน แต่ชาวบ้านได้กำหนดการทำแนวกันไฟหมู่บ้านใครหมู่บ้านมันทุกปี ส่วนด้านล่างหมู่บ้านที่เป็นป่าเต็งรังมีการชิงเผา
“หมู่บ้านเราโดนน้อย จึงออกไปช่วยหมู่ 12 และหมู่ 14 วันที่ไฟเข้า 2-3 วันแรกไม่มีอุปกรณ์เลย เริ่มบริจาคมาหลังจากนั้น เช่น เครื่องเป่า คราด มีด ไฟฉาย หน้ากากปองกันควัน น้ำดื่ม อาหารแห้ง ซึ่งขณะนี้ดับได้หมดแล้ว แต่ยังต้องวางกำลังชาวบ้านเพื่อเฝ้าระวังตอไม้ที่อาจจะยังคุอยู่
“ที่บอกว่าชาวบ้านเผาหาของป่า ถ้าเป็นป่าดิบชื้นถึงเผาก็ไม่มีอะไรให้กิน แต่ถ้าป่าเต็งรังจะมีเห็ด หน่อไม้ ผักหวาน แต่มีคนเชื่อว่าการเผาจะทำให้หญ้าขึ้น จะได้นำวัวไปเลี้ยงช่วงหน้าฝน ความจริงเผาได้ มีประโยชน์เหมือนกัน เช่น จัดการเชื้อเพลิงสะสม แต่ต้องดูช่วงเวลาที่เหมาะสมด้วย”
ดูเหมือนชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่จะมีความขัดแย้งกัน..เราถาม “คงมี เพราะชาวบ้านเขาตั้งข้อสงสัยว่าไฟเกิดเพราะเจ้าหน้าที่หรือไม่ เช่น เมื่อเจ้าหน้าที่เข้ามา ออกไปก็มักจะมีควันไฟตามมา พอเกิดไฟแล้วชาวบ้านไปดับไฟก็จะดับ แต่พอเจ้าหน้าที่ไปดับจะมีควันตามหลังมา
“หรืออาจเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ดับให้มันผ่านๆ ไป ต่างจากชาวบ้านซึ่งอาศัยอยู่ในป่าเมื่อทำแล้วจะทำเต็มที่ แต่เจ้าหน้าที่ทำให้พอเป็นผลงานมากกว่าหรือไม่ นี่ชาวบ้านเขาสงสัย”
ตกลงไฟป่าเกิดจากสาเหตุใดกันแน่ “บางทีอาจจะเป็นเรื่องผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่หรือไม่ หรือชาวบ้านหมั่นไส้เจ้าหน้าที่รัฐ ถ้าบอกว่าชาวบ้านเผาเพื่อหาของป่าเหมือนที่ผู้บริหารระดับสูงตอกย้ำอยู่บ่อยครั้ง คิดว่าคงไม่ไหม้มากขนาดนั้นหรอกครับ แต่ถ้าจะเกิดเพราะชาวบ้านเอาคืนเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่า เอาคืนเพราะเรารักป่า ใช้สอยจากป่า แต่เราไม่ได้ตามที่ต้องการ
“เพราะเจ้าหน้าที่ห้ามโน่นห้ามนี่ พื้นที่หาอาหารยังต้องขออนุญาต บางทีก็ให้บางทีก็ไม่อนุญาต พื้นที่ทำกินมีแผนที่ ทำกันมาหลายปีก็ไม่เสร็จเสียที ต้องไล่ไปทำใหม่ บางคนเจ้าหน้าที่ยอมให้ทำกิน บางคนห้ามเด็ดขาด นี่คือเรื่องที่คลุมเครืออยู่
“เวลาเราทำแนวกันไฟ เจ้าหน้าที่บางส่วนก็ไม่ให้ความร่วมมือเท่าที่ควร มาทำแต่ไม่จริงจัง คนในชุมชนเราอยู่ในป่าและทับเขตป่าในเชียงใหม่มีถึง 1,400 ชุมชน ไฟมาแค่ 4 เดือนเริ่มประมาณ ก.พ.จบประมาณ พ.ค. เมื่อเข้าหน้าฝนน่าจะจัดการได้ แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่เอาจริงก็จัดการไม่ได้”
มีดาวเทียมส่องให้เห็นว่าจุดความร้อน (Hotspot) อยู่ตรงไหนทำไมจัดการไม่ได้ “อย่าคิดว่ามองเห็น Hotspot ทั้งหมด ไม่ใช่ จุดฮอตสปอตมาตามหลัง ไม่ค่อยตรง หลายครั้งที่มีคำสั่งให้ชาวบ้านเข้าพื้นที่ตามที่ได้รับแจ้งจุดฮอตสปอต แต่พอไปแล้วไม่มีไฟ หรือไฟดับไปแล้ว แต่ฮอตสปอตเพิ่งขึ้น
เราแนะนำว่าการใช้โดรนสำรวจน่าจะเห็นจุดไฟไหม้มากกว่า “การใช้โดรนจะชี้เป้าตรงจุดมากกว่า” บวกกับภูมิปัญหาท้องถิ่นจะช่วยดับไฟได้ไหม..ถามย้ำ ผู้ใหญ่อัศวิน บอกว่า มักไม่ค่อยถูกนำมาใช้จริง กลายเป็นต่างคนต่างทำ จริงๆ
ถ้าไฟเข้าไม่ต้องห่วง ชาวบ้านไปดับอยู่แล้ว ทำแนวกันไฟก็ทำอยู่แล้ว ความเชื่อด้วยการสาปแช่งก็ช่วยได้ เพราะช่วยคนที่คิดจะเผากลัว ซึ่งแต่ละชาติพันธุ์ก็จะมีความเชื่อแตกต่างกัน
ปีหน้าเอาอยู่ไหม? อัศวินคาดว่า ไฟจะไม่หนักเหมือนเช่นปีนี้ เพราะไฟได้ไหม้เชื้อเพลิงสะสมไปมากพอสมควร การมีคนเสียชีวิตจากการดับไฟจำนวนหลายคนในแง่หนึ่งทำให้เกิดการตื่นตัวและมีการบริจาคอุปกรณ์เข้ามาในพื้นที่มากขึ้น ถ้าเกิดไฟป่าขึ้นอีกก็เชื่อว่าจะไม่หนักเท่าปีนี้
ถามย้ำว่านโยบายปิดป่า 100% ช่วยแก้อะไรได้บ้าง “คงแก้ไม่ได้ เพราะชาวบ้านใช้ชีวิตอยู่ในป่า ถ้าปิดต้องมีคนเฝ้า คงขู่มากกว่า ควรให้ชาวบ้านเป็นหูเป็นตา ช่วยดูแลป่าจะดีกว่า การห้ามคนเข้าป่าไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาไฟป่า”