มุมมองนักนิยมไพร อย่าทำร้าย ‘บ้านหลังสุดท้ายของสัตว์ป่า’ บนเทือกเขาบรรทัด

เทือกเขาบรรทัดฝืนป่าตะวันตกของประเทศไทยมีพื้นที่เชื่อมกัน 4 จังหวัด คือ พัทลุง ตรัง สตูล และสงขลา มีพื้นที่รวม 791,847 ไร่ ที่นี่เป็น “บ้านหลังสุดท้ายของสัตว์ป่า” อาทิ สมเสร็จ เสือไฟ  เลียงผา อีเห็น หมูป่า ฯลฯ ทั้งยังมีน้ำตกมากกว่า 30 แห่ง ความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าแห่งนี้อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งจากการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศป่าบ่งชี้ได้เป็นอย่างดีว่า ไม่ควรเข้าไปทำกิจกรรมที่ส่อไปในทางทำลายหรือเบียดเบียนธรรมชาติ

ในมุมมอง ปารินทร์ ปล้องไหม ช่างภาพสัตว์ป่าและหนึ่งในนักนิยมไพรจากบ้านปากประ อ.เมือง จ.พัทลุง บอกว่า ทุกวันนี้ไม่จำเป็นจะต้องโปรโมทการท่องเที่ยวเทือกเขาบรรทัด เพราะมีการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism) อยู่แล้ว โดยมีไกด์ท้องถิ่นประมาณ 5 กลุ่ม ซึ่งเป็นคนในชุมชนที่ทำกันมาร่วม 10 ปี โดยส่วนหนึ่งเป็นพรานป่าที่เดิมทีขึ้นเขาไปล่าสัตว์ แต่ทุกวันนี้ผันตัวมาเป็นไกด์นำเที่ยว

เลียงผาหนึ่งในสัตว์สงวนใกล้สูญพันธุ์บนเขาบรรทัด เครดิตภาพ : parin phongmai

“ผมเคยเห็นเขาเดินไป แม้แต่หญ้าเขายังไม่ตัดสักต้น ทุกวันนี้พวกเขางานล้น นักนิยมไพรที่รักธรรมชาติ คนกรุงเทพฯ จะติดต่อผ่านไกด์ในพื้นที่กงหรา ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มนำเที่ยวเดินป่าศึกษาธรรมชาติเขาล้อนป่าใต้พัทลุง ซึ่งจะมีการขึ้นทะเบียนกับเขตรักษาพันธุ์ฯ จะมีการประสานเรื่องค่าธรรมเนียมค่าเข้า ขอหลักฐานนักท่องเที่ยว เช่น สำเนาบัตรประชาชน และจะมีเจ้าหน้าที่ร่วมคณะไปด้วย สำหรับการเดินป่า 3 วัน 2 คืน หรือจำนวนวันมากกว่านั้นไปยังจุดต่าง ๆ ตามที่เลือก (มีหลายจุด)

“เป็นการท่องเที่ยวที่ไม่เน้นปริมาณ แต่เน้นคุณภาพ ถ้าปล่อยให้คนขึ้นเขากันจำนวนมากจะหมดความขลัง หมดความคลาสสิค แต่ที่ชาวบ้านนำเที่ยวเขามีความเป็นมืออาชีพ เข้มแข็ง ผมเห็นเขานำถุงขึ้นไปเก็บขยะลงมาด้วย เก็บทั้งที่เอาไปและช่วยเก็บขยะที่คนอื่นอาจจะทิ้งไว้ คนที่จะมาเที่ยวไม่ใช่สามารถวอล์คอินขึ้นไปได้ ต้องติดต่อไกด์ท้องถิ่น จะต้องมีร่างกายแข็งแรงในการขึ้นเขา เพราะเป็นเส้นทางธรรมชาติ ไม่แต่งเติม โหดพอสมควร ไม่สามารถหยุดเดินได้เพราะจะเจอทาก

“ขึ้นไปประมาณ 700-800 เมตรจะเจอป่าเสม็ดแดงที่สวยงามมาก จากนั้นระดับความสูงของต้นไม้จะค่อย ๆ มีขนาดเตี้ยลงจนถึงบริเวณป่าพรุบนยอดเขาที่เหมือนแอ่งระหว่างหุบเขา มีต้นไม้แคระ อย่างเช่น กระจูด เหม หม้อข้าวหม้อแกง ป่าเสม็ดแดง และสามารถมองเห็นพระอาทิตย์ขึ้นด้านตะวันออกฝั่งอ่าวไทยและพระอาทิตย์ตกฝั่งอันดามันในระดับความสูง 1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเล”

นี่เป็นวิถีท่องเที่ยวเทือกเขาบรรทัดในปัจจุบัน “แต่การจัดวิ่งเทรลเพิ่งมาในปี 2564 ซึ่งปีที่แล้ววิ่งข้างล่าง แต่ปีนี้จะปรับเส้นทางใหม่วิ่งขึ้นเขา ผมอยากถามว่าถ้านักวิ่งเกิดอุบัติเหตุสุดวิสัยจะช่วยเหลืออย่างไร จะเอาลงมาอย่างไร เพราะเส้นทางโหด ส่ง ฮ.ไปรับต้องขึ้นไปบนยอดเขาถึงจะลงรับได้ มั่นใจแค่ไหนว่าจะไม่เกิดอุบัติเหตุ”

ปารินทร์ ย้ำว่า การนำเที่ยวโดยคนในชุมชนทุกวันนี้ลงตัวอยู่แล้ว พรานเหล่านี้เขาทำด้วยหัวใจ มีเรื่องเล่าจากประสบการณ์จริง แม้ทุกกลุ่มจะไม่ใช่พรานทั้งหมด แต่ก็เป็นเยาวชนคนในหมู่บ้านที่เรียนจบสูง ๆ กัน และมาทำอาชีพไกด์นำเที่ยว

เครดิตภาพ : parin phongmai

ประสบการณ์ของปารินทร์ที่เดินทางขึ้นเขาแห่งนี้มา 6 ปี เขาเห็นความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า เห็นยอดเขาสูงที่นี่ซึ่งมีอีกมาก แต่อยู่ในป่าลึกและเข้าไม่ถึง แต่แค่เส้นทางท่องเที่ยวที่เป็นอยู่ก็นับว่าวิเศษมากแล้วสำหรับนักเดินป่า เพราะด้านบนจะมีหมอกหนาปกคลุม จนบางครั้งแทบขยับเดินไม่ได้ ด้านบนอากาศก็เย็นตลอดปี  เป็นธรรมชาติที่สมบูรณ์มาก คนที่ไปท่องเที่ยวต้องใจรักจริง ๆ ไม่ได้สะดวกสบาย เพราะตลอดเส้นทางมีทั้งเหลือบ ริ้น และทาก จึงเหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวเชิงนิเวศหรือนักนิยมไพรที่ชื่นชอบเท่านั้น

ปารินทร์ หรือ “ช่อน” เล่าว่า เสน่ห์และไฮไลต์ของเทือกเขาบรรทัดอยู่บริเวณเขาล้อนนมสาว เขาล้อนป่าพรุ เขาหลัก และเขาเจ็ดยอด ซึ่งนักเดินป่าเลือกจะขึ้นไปพักแรมกลางป่าอย่างน้อย 2 คืน 3 วัน หรือมากกว่านั้นโดยเริ่มออกเดินทางจากหมู่บ้านเชิงเขาขึ้นสู่จุดสูงสุดของยอดเขา และย้อนกลับตามเส้นทางเดิม และยังสามารถเดินข้ามไปยังรอยต่อฝั่ง จ.ตรัง และสตูลได้ด้วย

“ถ้าเดินไปถึงยอดบริเวณเขาล้อนนมสาวจะอยู่ที่ความสูง 1,200 เมตร ซึ่งจะเป็นลักษณะทุ่งหญ้าแคระ เริ่มเดินจากด้านล่างขึ้นไปเรื่อย ๆ จากต้นไม้ที่สูง จะค่อย ๆ เตี้ยลงเป็นป่าพรุที่มีพืชจำพวกกระจูด เหม หมอข้าวหม้อแกง รวมทั้งในพื้นที่ยังมีน้ำตกจำนวนมาก ข้างบนเหมือนเป็นหุบเขาที่มีแอ่งอยู่ตรงกลาง เป็นน้ำซับ มีพืชที่เหมาะเป็นอาหารสัตว์ ผมเคยพบปูแดงตัวเล็ก ๆ เหมือนปูหินปูนที่สตูล

“ยอดเทือกเขาบรรทัดจึงเป็นบ้านของสัตว์ป่า เช่น สมเสร็จ เลียงผา เสือไฟ แมวดาว สิงเสน หมูป่า ซึ่งสัตว์หลายชนิดคนเฒ่าคนแก่ก็ยังไม่เคยเห็นด้วยซ้ำ เมื่อป่าถูกบุกรุกเกินกฎหมายกำหนดไปเรื่อย ๆ สัตว์ป่าเหล่านี้ก็ถอยร่นไปเรื่อย โดยเฉพาะการปลูกยางพารา พรานก็ไปดักสัตว์ ซึ่งผมพบอุปกรณ์บ่อย ๆ ทำให้สัตว์ถูกบีบให้อยู่กึ่งกลางระหว่างยอดเขาหรือสันเขา สัตว์บางชนิด เช่น สมเสร็จมันหากินในวงกว้าง พบกองขี้สมเสร็จเหมือนคอกวัว มันเดินวนหากินไปไกลมาก

เครดิตภาพ : parin phongmai

“การจัดวิ่งเทรลพัทลุงที่เป็นข่าวปีที่แล้วไม่มีการคัดค้านเพราะวิ่งด้านล่าง แต่ปีนี้คนจัดงานบอกว่า มีการปรับเส้นทางใหม่เป็นเส้นทางที่สัตว์เดินบนเขา ซึ่งเป็นพื้นที่เปราะบางหรือจุดไข่แดง มันเกินไป เพราะมีเส้นทางอื่น ๆ อีกมาก ไม่ทราบว่าทำไมต้องใช้เส้นทางนี้ ผู้หลักผู้ใหญ่ที่พอมีอำนาจก็มองข้าม คราวนี้ถ้าตัดเส้นทางขึ้นเขาออกก็จะวิน-วิน ชาวบ้านและนักวิ่งก็ไม่เดือดร้อน งานก็จะเดินหน้าจัดต่อได้”

ปารินทร์บอกว่า ความจริงแล้วตัวเขาเองก็ไม่มีสิทธิ์ไปห้าม แต่การที่คนนับร้อยวิ่งย่ำขึ้นไปบนยอดเขา ถึงจะแค่วันเดียว แต่ระหว่างทางมีทั้งแมลง ฝูงปลวก กิ้งกือ ไส้เดือนที่ขนาดยาวเป็นศอก ไม่มีทางที่จะไม่เบียดเบียนธรรมชาติ แม้จะฟื้นฟูได้ แต่ต้องใช้เวลา ถ้าจัดกิจกรรมลักษณะนี้กันทุกที่แล้วจะเหลือป่าที่ไหนให้เดินอีก

“เจ้าหน้าที่ก็น้อยอยู่แล้ว งบก็ถูกตัด ผมเข้าป่าไปอยู่กับเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่า ผมรู้ว่าเขาลำบากมาก เกือบทุกเดือนผมจะส่งอาหารแห้งไปให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่กันดาร ที่ไปเห็นบางที่ต้องกินข้าวกับกล้วย เงินเดือน 7,500 บาท อะไรที่พอจะช่วยเจ้าหน้าที่เหล่านี้ได้เราก็จะช่วย ผมเคยไปที่ทับลาน เจ้าหน้าที่ถูกขนด้วย ฮ.ไปทิ้งกลางป่าลึก ไปจับพรานป่าได้ก็ต้องแบ่งอาหารเลี้ยงพรานด้วย

“ผมจบแต่ ม.3 เปิดร้านอาหารอยู่ แต่สนใจถ่ายภาพเก็บข้อมูล เพราะเห็นว่าไม่มีใครศึกษาเก็บข้อมูลจริงจัง ในช่วง 6 ปีที่ผมขึ้นไปเฉลี่ยเดือนละครั้ง ผมยังไม่เคยถ่ายสมเสร็จได้ด้วยกล้องเทเลเลย มีแต่ได้จากกล้องดักถ่าย camera trap เท่านั้น แต่หลายปีก่อน ‘หนุ่ม’ (สุภเศรษฐ โอภิธากรณ์ ประธานมูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย) กับเพื่อนถ่ายภาพสมเสร็จไว้ได้ หรือกลุ่มไกด์ท้องถิ่นที่เคยถ่ายได้ ที่ผมถ่ายได้คือ เสือไฟ เลียงผา ลิงเสน หมูป่า แต่ที่อยากถ่ายมากคือ ชะนีกับค่าง แต่ยังไม่เคยเจอเลย”

เครดิตภาพ : parin phongmai

ช่างภาพสัตว์ป่ายังถ่ายทอดเรื่องราวป่าเขาบรรทัดในมุมมองของเขาผ่านเฟซบุ๊กไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กำลังจะมีการจัดวิ่ง Ultra Trail Thailand Series Phatthalung 2021 โดยบอกว่า เขาไม่ได้มีอคติกับนักกีฬาหรือกลุ่มคนใด ๆ ทั้งสิ้น กลับเห็นด้วยกับกีฬาชนิดนี้และสิ่งดี ๆ กับจังหวัดพัทลุง แต่ประเด็นที่ไม่เห็นด้วยเพราะเป็นการจัดวิ่งขึ้นบนยอดเขาที่เต็มไปด้วยสัตว์ป่าคุ้มครองที่หายากและใกล้สูญพันธุ์

“จากประสบการณ์หกปีที่ปีนป่ายคลุกคลี พยายามเก็บภาพถ่ายสัตว์ป่าของที่นี่ แม้นไม่นานพอ แต่ก็พอเห็นในอีกมุมมองหนึ่ง ถนนบางเส้นที่เชื่อมต่อกับอำเภอต่าง ๆ เช่น อ.ป่าบอน อ.ศรีบรรพต อ.ศรีนครินทร์ก็มีฉากหลังเป็นขุนเขาสวยงามเช่นกัน ทีนี้ทำไมถึงไม่สมควรไปวิ่ง เขาลูกล้อนนมสาว เขาลูกล้อนป่าพรุ เขาเจ็ดยอดหรือเขาหลัก เป็นต้น ขุนเขาเหล่านี้มันเหมือนไข่แดงของแนวเทือกเขาบรรทัด หรือเป็นบ้านหลังสุดท้ายของสัตว์ป่านั่นเอง

“สัตว์ป่ามันโดนบีบโดนกดดัน โดนล่าจากสองฟากฝั่งของเทือกเขา ทั้งจากฝั่งตะวันออกคือพัทลุงและฝั่งตะวันตกคือ จ.ตรัง มันถูกบีบให้ไปอยู่ตรงกึ่งกลางของเทือกเขา ซึ่งถ้าดูในกูเกิลแม็ปจะเห็นว่าแคบมาก ยิ่งสำหรับสัตว์บางชนิดที่ต้องใช้พื้นที่หากินเป็นบริเวณกว้าง ๆ เช่นเสือไฟ สมเสร็จ เลียงผา เสือลายเมฆ ถือว่าแคบมาก

“ซึ่งจากการติดกล้องดักถ่ายพบว่า จะเจอสัตว์ในเขตป่าลึกก่อนขึ้นเขาลูกล้อนที่ระดับความสูง 600 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ไล่ไปจนถึงยอดเขาที่ความสูงกว่า 1,200 เมตร สัตว์บางชนิดปกติหากินในที่ป่าชายขอบหรือระดับล่าง เช่น อีเห็น หมูป่า เชื่อมั้ยว่าหมูป่าหนีตายไปหากินบนยอดเขาล้อนที่ระดับพันกว่าเมตร ซึ่งปกติเป็นบ้านของสมเสร็จ เลียงผาและเสือไฟ

“แน่นอนว่ากล้องดักถ่ายไม่ได้ถ่ายได้แค่สัตว์ นักล่าอย่างมนุษย์ก็ติดกล้องมาด้วย ตั้งแต่ระดับล่างไปจนถึงที่ระดับ 800 เมตรเลยทีเดียว ดีที่เหลือส่วนยอดไว้ให้สัตว์ได้หลบภัย พรานป่าเป็นคำตอบได้ดีว่า โซนล่างไม่เหลือสัตว์ให้ล่าอีกแล้ว แทบจะทุกพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในประเทศไทย

“เช่น ห้วยขาแข้ง แก่งกระจาน ทับลาน ทุ่งใหญ่นเรศวร จะมีโซนไข่แดงหรือพื้นที่เปราะบางเป็นโซนต้องห้าม พื้นที่เหล่านี้จะไม่อนุญาตให้บุคคลทั่วไปเข้าล้ำไปโดยเด็ดขาด คงมีแต่นักวิจัยและเจ้าหน้าที่ ๆ เกี่ยวข้องเท่านั้นจึงจะมีสิทธิ์เข้าไปได้ ทำไมนักท่องเที่ยวถึงเดินเทรลและค้างคืนได้ละ นักท่องเที่ยวเหล่านี้ส่วนมากเป็นนักนิยมไพรจริง ๆ พวกเขาหลงใหลและใช้เวลาเดินเสพสัมผัสธรรมชาติจริง ๆ ถ้าระยะทางเท่ากันนักวิ่งเทรลใช้เวลาสามหรือสี่ชั่วโมงไปกลับอย่างสบาย ๆ แต่นักเดินเทรลหรือนักนิยมไพรเหล่านี้จะค่อย ๆ เดินใช้เวลาเกินวันกว่าจะถึง

“…ยกตัวอย่างง่าย ๆ ถ้ามีเหรียญตกอยู่บนเส้นทางนี้ คุณว่าระหว่างคนวิ่งทำเวลากับคนเดินชมนกชมไม้ถ่ายเห็ดถ่ายแมลง คนกลุ่มไหนมีโอกาสเจอเหรียญมากกว่า กลับกันถ้ามันไม่ใช่เหรียญละ แต่เป็นสัตว์เลื้อยคลานเล็ก ๆ หนอนแมลง พวกมอสเฟิร์น พันธุ์ไม้หายากละ คนกลุ่มไหนมีสิทธิ์เหยียบย่ำมากกว่ากัน

“และที่สำคัญเหนืออื่นใด คนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วม ได้มีงานทำ เพราะคนที่นำทางก็ล้วนเป็นพี่ ๆ น้อง ๆ ในพื้นที่ทั้งสิ้น หลาย ๆ คนผันตัวเองจากพรานป่ามาเป็นไกด์นำเที่ยวอย่างถาวร ช่วยลดปริมาณพรานป่าลงได้อย่างงดงาม เงินทุกบาทก็ถึงมือพวกเขาโดยตรง ไม่ได้ตกอยู่กลุ่มทุนใดกลุ่มทุนหนึ่ง…

“ก่อนหน้าโควิดจะระบาด พวกเขามีคิวจองงานแทบจะล้นมืออยู่แล้ว แทบจะไม่ต้องโฆษณาชวนเชื่อใด ๆ เลย เพราะพวกเขาขายแก่นของธรรมชาติ พวกเขาขายความจริงที่มีอยู่และอย่างยั่งยืน…”

  • รู้จักเทือกเขาบรรทัดผืนป่าตะวันตก

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด เริ่มก่อตั้งเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด จ.ตรัง ที่ อ.นาโยง ต่อมาประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด เมื่อปี 2518 ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของ 4 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง ตรัง สตูล และสงขลา พื้นที่รับผิดชอบประมาณ 805,000 ไร่ และในปี 2520 ได้ประกาศเพิกถอนพื้นที่บางส่วนในท้องที่ จ.สตูล เพื่อสร้างนิคมสร้างตนเองและจัดให้ราษฎรทํากิน

เครดิตภาพ : parin phongmai

ต่อมาปี 2524 ได้เกิดอุทกภัยภาคใต้ครั้งร้ายแรง ทําให้ที่ตั้งสํานักงานเขตฯ ได้รับความเสียหาย ประกอบกับหน่วยงานในสังกัดกรมป่าไม้ในสมัยนั้นมีความซับซ้อน จึงย้ายสำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัดไปอยู่ที่หน่วยพิทักษ์ป่าบ้านนาวง หมู่ที่ 1 ต.บ้านนา อ.เมือง (ปัจจุบันเป็นอําเภอศรีนครินทร์) จ.พัทลุง

ในปี 2528 ได้ประกาศเพิกถอนพื้นที่บางส่วนออกขยายถนนเพชรเกษม ทางหลวงหมายเลข 4 (พัทลุง-ตรัง) เหลือพื้นที่ประมาณ 791,871.81 ไร่ ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2528 และปี 2530 ก็ได้ประกาศเพิกถอนพื้นที่บางส่วนอีกครั้งเพื่อมอบให้กองทัพภาคที่ 4 จัดตั้งกรมอาสาสมัครทหารพรานที่ 4154 เป็นสถานที่ฝึกการรบ ปัจจุบันคงเหลือพื้นที่รับผิดชอบอยู่ประมาณ 791,847 ไร่ หรือ 1266.96 ตารางกิโลเมตร

สำนักงานตั้งอยู่ชิดทางหลวงหมายเลข 4 (ด้านซ้ายมือถนนเพชรเกษม) ช่วงพัทลุง-ตรัง ห่างจากตัว จ.พัทลุงประมาณ 27 กิโลเมตร และห่างจาก จ.ตรัง ประมาณ 35 กิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 962 กิโลเมตร พื้นที่รวม 12 อําเภอ 4 จังหวัด ประกอบด้วย ดังนี้

จ.พัทลุง เนื้อที่ประมาณ 475,496 ไร่ ประกอบด้วยบางส่วนของ อ.ศรีนครินทร์ อ.กงหรา อ.ตะโหมด และอ.ป่าบอน

จ.ตรัง เนื้อที่ประมาณ 259,375 ไร่ ประกอบด้วยบางส่วนของ อ.นาโยง อ.ย่านตาขาว อ.ปะเหลียน

จ.สตูล เนื้อที่ประมาณ 210,000 ไร่ ประะกอบด้วยบางส่วนของ อ.ทุ่งหว้า อ.ละงู กิ่งอําเภอมะนัง อ.ควนกาหลง

จ.สงขลา เนื้อที่ประมาณ 56,976 ไร่ ประกอบด้วยบางส่วนของ อ.รัตภูมิ

สมเสร็จออกหากินบนเขาบรรทัด เครดิตภาพ : Supasek Opitakon

ผืนป่าแห่งนี้วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ และแบ่งระหว่างภาคใต้ฝั่งตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตก เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ระหว่าง 100 – 1,350 เมตร และความสูงชันอยู่ระหว่าง 250 – 300 เมตร ภูเขาบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัดนอกจากจะเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าจํานวนมากแล้วยังเป็นแหล่งต้นน้ำทะเลสาบสงขลา ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเทือกเขา

ได้แก่ คลองนาท่อม คลองหัวมร คลองท่ามะเดื่อ คลองป่าบอน คลองพรุพ้อ และคลองรัตภูมิ ซึ่งคลองเหล่านี้จะเป็นที่รวมของลําน้ำเล็กอีกจํานวนหลายสายที่ไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลา เช่นเดียวกับด้านตะวันตกก็มีต้นน้ำเกิดจากภูเขาบนเทือกเขาบรรทัดและไหลลงสู่ทะเลอันดามัน ได้แก่ แม่น้ำตรัง แม่น้ำปะเหลียน คลองลิพัง และคลองละงู

เขาบรรทัดมีสภาพภูมิอากาศ 2 ฤดูคือ ฤดูฝนและฤดูร้อน ช่วงที่อุณหภูมิต่ำสุดคือ เดือนพฤศจิกายน – มกราคม และช่วงที่อุณหภูมิสูงสุด คือ เดือนมีนาคม – เมษายน โดยทั่วไปมีสภาพป่า 2 ลักษณะ คือ ป่าดิบชื้นและป่าเขาหินปูน ซึ่งเป็นป่าที่ไม่ผลัดใบ ป่าดิบชื้นเป็นป่าที่ขึ้นปกคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พบตั้งแต่บริเวณลําห้วยขึ้นไปจนถึงยอดเขา มีพรรณไม้ขนาดต่าง ๆ ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น เรือนยอดปกคลุมมากกว่า 80% บริเวณพื้นที่ป่าปกคลุมด้วยอินทรียวัตถุซึ่งเป็นซากของใบไม้กิ่งไม้เป็นจํานวนมาก

ป่าเขาหินปูนเป็นป่าที่ขึ้นอยู่เฉพาะตามภูเขาที่เป็นเขาหินปูนเท่านั้น โดยในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัดมีป่าเขาหินปูนบริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าโตนเต๊ะ และบริเวณถ้ำเจ็ดคตใกล้หน่วยพิทักษ์ป่าคีรีวง สภาพป่าเป็นป่าแคระแกร็น ไม้ที่ขึ้นอยู่มีขนาดเล็ก เนื่องจากมีชั้นหน้าดินน้อยมาก ชนิดพรรณไม้บริเวณที่ขึ้นถึงนั้นเป็นเนินเขาเตี้ย ๆ มีชั้นหน้าดินค่อนข้างหนาและติดอยู่กับป่าดิบชื้น

กลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม เช่น ค้างคาวขอบหูขาว ค้างคาวขอบหูดํา ค้างคาวหัวดํา ค้างคาวหน้ายาว ค้างคาวหางโผล่ กระรอกหางม้า กระรอกดิน กระเต็น พญากระรอกบินหูแดง หนูขนเสียน หนูหวาย หนูฟาน และหนูฟันขาว กลุ่มนก จํานวน 283 ชนิด มีนกจํานวนหลายวงศ์ที่มีจํานวนชนิดสูงมากเกิน 10 ชนิด วงศ์กินแมลง มีจํานวน 26 ชนิด วงศ์นกปรอด มีจํานวน 17 ชนิด วงศ์นกหัวขวาน มีจํานวน 18 ชนิด วงศ์นกจับแมลง มีจํานวน 14 ชนิด วงศ์นกกินปลา มีจํานวน 12 ชนิด และวงศ์นกคัดคูมีจํานวน 11 ชนิด

กลุ่มสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก มีวงศ์กบต่าง ๆ จํานวน 16 ชนิด วงศ์อึ่งต่าง ๆ จํานวน 7 ชนิด กลุ่มสัตว์เลื้อยคลาน กลุ่มเต่า กลุ่มตะพาบน้ำ มีจํานวน 3 วงศ์ 9 ชนิด กลุ่มตุ๊กแก กิ้งก่าและจิ้งเหลน มี 4 วงศ์จํานวน 35 ชนิด กลุ่มงูมี 6 วงศ์จํานวน 28 ชนิด กลุ่มปลาน้ำจืด รวมทั้งสิ้น 29 ชนิด วงศ์ที่มีจํานวนชนิดที่สูงที่สุด คือ วงศ์ปลารากกล้วย มีจํานวน 6 ชนิด รองลงไปคือ วงศ์ปลาแขยง และวงศ์ปลาช่อน

จากการศึกษาความหลากหลายของพรรณไม้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด พบว่าป่าดิบชื้นในพื้นที่ 0.4 เฮกแตร์เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด พบพรรณไม้ทั้งหมด 123 ชนิด (ไม่รวมกับที่ไม่สามารถจําแนกชนิดได้ 18 ชนิด) ใน 81 สกุล และ 39 วงศ์ มีจํานวนต้นไม้รวม 462 ต้น มีความหนาแน่นเฉลี่ย 1,155 ต้นต่อเฮกแตร์และพบพรรณไม้ที่มีสถานภาพหายาก (Rare) อยู่ 1 ชนิด คือจําปาขอม (Polyalthia cauliflora)

ป่าเป็นที่อยู่ของสัตว์ป่าและความหลากหลายทางชีวภาพ จึงควรค่าแก่การอนุรักษ์และใช้สำหรับการศึกษาเรียนรู้ การปิดตายพื้นที่ป่าเป็นวิธีการที่ผิด เพราะป่าที่ทรงคุณค่าในแง่ทรัพยากรธรรมชาติต้องอยู่ร่วมกับมนุษย์ ต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน แต่ต้องรักษาความสมดุลไม่ให้เบียดเบียนธรรมชาติ

Related posts

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย