เพื่อไทยดัน ‘เขื่อนแก่งเสือเต้น’ แลกพื้นที่ป่าแสนไร่ แก้น้ำท่วมภาคเหนือ

by Chetbakers

รัฐบาลเพื่อไทยเดินหน้าผลักดันการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่ ที่ถูกคัดค้านมาตั้งแต่ปี 2532 อีกครั้ง แม้จะต้องแลกพื้นที่ป่าอุทยานนับแสนไร่

รัฐบาลเพื่อไทยโดย ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2567 หลังจบภารกิจติดตามสถานการณ์น้ำท่วมและการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ว่า จะหยิบยกเรื่องการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นมาดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมภาคเหนือ

“จังหวัดสุโขทัยถึงเวลาต้องคุยกันถึงเขื่อนแก่งเสือเต้น ที่ผ่านมาสร้างอะไรไม่ได้ ทำอะไรไม่ ได้ เนื่องจากมีความคิดเห็นที่แตกต่าง 2 ฝ่าย ระหว่างประชาชนที่ประสบภัยพิบัติ ทุกข์ร้อน ต้องจมอยู่กับน้ำขังน้ำหลากเป็นเวลานาน แต่มีเรื่องเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น และดูแลทุกอย่างให้ครบถ้วน เรื่องนี้ก็ขอให้เป็นประเด็นสาธารณะที่จะพิจารณา และ ครม.จะพิจารณาอย่างถ่องแท้” ภูมิธรรมกล่าว

ทั้งนี้ ธนาคารโลกได้ขอเข้ามาศึกษาผลกระทบระหว่างประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมและประชาชนที่ไม่ต้องการเขื่อนโดยต้องการให้ได้ข้อยุติภายในปีนี้ เพื่อนำเสนอ ครม.ดำเนินการ

ด้าน ปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตอธิบดีกรมป่าไม้ อดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอดีตรองนายกฯ ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ (เกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 2554) ว่า ได้โพสต์เฟซบุ๊กใจความโดยสรุปว่า มีการพูดเรื่องเขื่อนแก่งเสือเต้นมาตั้งแต่ปี 2519 จุดที่จะสร้างมีชื่อว่า บ้านห้วยสัก ต.สะเอียบ จ.แพร่

ปัจจุบันอยู่ในอุทยานแห่งชาติแม่ยม มีน้ำลึกเฉลี่ย 1.31 เมตร น้ำไหลผ่านเฉลี่ย 1,278 ลบ.ม.ต่อวินาที แต่ในปีนี้ด้วยพายุฝน น้ำลึกถึงเกือบ 10 เมตร มีน้ำไหลด้วยความเร็ว 1,000-1,500 ลบ.ม.ต่อวินาทีตลอดอาทิตย์ และด้วยฝน 5-7 วันในช่วงพายุมีฝนรวม 500-600 มม. ก่อให้เกิดมวลน้ำขนาดมหึมาอาจมากถึง 5,000 ล้าน ลบ.ม. มวลน้ำจำนวนนี้แหละที่ไหลลงไปท่วมภาคเหนือตอนล่าง เช่น แพร่และสุโขทัย เป็นต้น

ปลอดประสพ ระบุด้วยว่า “การสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นต้องเสียพื้นที่ป่าประมาณแสนไร่ ซึ่งเราคงต้องยอม แต่ก็สามารถเรียกคืนมาได้ เช่น หยุดเรื่องที่คิดจะเฉือนอุทยานทับลาน 200,000 ไร่เสีย ก็ทดแทนกันได้แล้ว ใช่ไหมครับ หรืออนุญาตให้เอกชนปลูกป่าเศรษฐกิจในเขตป่าสงวนที่เสื่อมโทรม ซึ่งมีมากกว่า 5 ล้านไร่ ก็จะกำไรด้วยซ้ำ”

ทั้งนี้ ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 โดยมีนายปลอดประสพเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ โดยยิ่งลักษณ์ในฐานะนายกฯ ได้ออกมาประกาศด้วยความมั่นใจต่อสถานการณ์พายุและฝนที่ถล่มลงมาอย่างหนักว่า “เอาอยู่” แต่ในที่สุดก็เกิดน้ำท่วมใหญ่ครั้งประวัติศาสตร์ แม้แต่สนามบินดอนเมืองก็กลายเป็นอ่างเก็บน้ำที่มีเครื่องบินจอดปิ่มน้ำอยู่ครึ่งลำ

ขณะที่ทาง ภาณุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เปิดเผยว่า มูลนิธิสืบฯ มีความเห็นคัดค้านมาโดยตลอด เพราะการสร้างเขื่อนไม่ใช่ประเด็นหลักในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำยมโดยตรง เพราะสามารถหาวิธีบริหารจัดการน้ำในแต่ละพื้นที่ให้มีความเหมาะสมน่าจะดีกว่า

ภาณุเดช ย้ำด้วยว่า ปัจจุบันพื้นที่ป่าในประเทศไทยเหลือน้อยมาก จากแผนที่ดาวเทียมพบว่า พื้นที่ป่าลดลงกว่า 100,000 ไร่ การสร้างเขื่อนหรือกิจกรรมอื่นจะทำให้พื้นที่ป่าหายไปมากขึ้นในทุกๆ ปี และอยากให้ตระหนักว่าสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดน้ำท่วมคือ การไม่มีพื้นที่ป่าในพื้นที่ต้นน้ำลำธาร

สำหรับโครงการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นถูกชาวบ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ และเอ็นจีโอคัดค้านมาตั้งแต่ปี 2532 ซึ่งโครงการจะก่อสร้างในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ยม หากมีการก่อสร้างทำลายป่าสักทองซึ่งเป็นป่าเบญพรรณหลายหมื่นไร่ รวมทั้งทำลายความหลากหลายของพืชพรรณและสัตว์ป่าในอุทยาน และทำลายแหล่งอาศัยของนกยูงพันธุ์ไทยที่สำคัญ นอกจากนั้นจะต้องอพยพชาวบ้านอีก 4 หมู่บ้านกว่า 1,000 ครัวเรือนด้วย (หมู่บ้านดอนชัย ดอนชัยสักทอง ดอนแก้ว และแม่เต้น ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ และอีก 9 หมู่บ้านที่ ต.สระ และ ต.บ้านมาง อ.เชียงม่วน จ.พะเยา)

ข้อมูลการวิจัยของ มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ปี 2538 (https://tdri.or.th/wp-content/uploads/2013/01/n36.pdf) ได้ตั้งข้อสงสัยในประเด็นแผ่นดินไหว เนื่องจากเขื่อนแก่งเสือเต้นตั้งอยู่บนรอยเลื่อนของโลก นอกจากนั้นการศึกษาเรื่องแผ่นดินไหวโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นของ เอกรัตน์ รอดบำรุง ปี 2543 โดยการติดตั้งโครงข่ายเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหวพบจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวเกิดขึ้นในพื้นที่โครงการและบริเวณใกล้เคียงขนาดเล็กน้อยถึงปานกลางและเกิดกระจายตัวอยู่ทั่วไป

นอกจากนั้นผลการศึกษาความคิดเห็นของประชาชน จ.แพร่ ในการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นในปี 2541 ของ สมบัติ สุภาภา จากกลุ่มตัวอย่าง 164 ราย พบว่า กลุ่มคนที่มีภูมิลำเนาใน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ มีความเห็นคัดค้าน ร้อยละ 85.4 และร้อยละ 95.8

อย่างไก็ดี เมื่อปี 2566 ยังมีกลุ่มสมัชชาคนจนและเครือข่ายได้มาชุมชนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล พร้อมข้อเสนอปัญหาโครงการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยมีข้อเสนอ 3 ประเด็น คือ 1. ขอให้คณะรัฐมนตรีมีมติยกเลิกโครงการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น หรือเขื่อนยมบน – เขื่อนยมล่าง (แม่น้ำยม) จ.แพร่

2. การดำเนินโครงการพัฒนาใดๆ ในพื้นที่ลุ่มน้ำยมจะต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาบนทิศทางความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงในชีวิตของประชาชน และ 3. รัฐบาลต้องบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยมในรูปแบบ “สะเอียบโมเดล” ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)

ล่าสุดชาวบ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ก็ได้ออกมาคัดค้านอีกครั้งหลังรัฐบาลเตรียมจะผลักดันการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นอีกรอบ โดยเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2567 ณัฐปคัลภ์ ศรีคำภา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ประธานคัดค้านการสร้างเขื่อน นัดประชุมชาวบ้านและอ่านแถลงการณ์ประนามนักการเมืองที่คิดจะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยระบุว่าเป็นความคิดที่ล้าหลัง

ณัฐปคัลภ์ ระบุว่า ผลการศึกษาขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ชี้ว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นบรรเทาน้ำท่วมในลุ่มน้ำยมได้เพียง 8% เท่านั้น เขื่อนแก่งเสือเต้นจะกั้นลำน้ำยมได้ 11 ลำน้ำสาขา ขณะที่อีก 66 ลำน้ำสาขาอยู่ใต้จุดสร้างเขื่อน แต่เขื่อนแห่งนี้จะทำลายป่าสักทอง 40,000-60,000 ไร่ อีกทั้ง 4 หมู่บ้านตั้งอยู่บนรอยเลื่อนแผ่นดินไหว หากเขื่อนแตกจะสร้างความหายนะทั้งเมืองแพร่ สุโขทัย พิษณุโลก นครสวรรค์ ฯลฯ เปรียบเสมือนเอาระเบิดเวลามาวางไว้ให้ลูกหลาน

อ้างอิง:
• 1 ก.ย. 2567 . ปธ.มูลนิธิสืบฯ ค้าน !! สร้าง “เขื่อนแก่งเสือเต้น” แก้น้ำท่วมไม่ตรงจุด, PPTV Online
• คัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ โดย – บุญแทน จันทร์แก้ว, มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

เครดิตภาพ FB: Chamnan Sirirak

Copyright @2021 – All Right Reserved.