ชาวบ้านแก่งกระจาน ยื่นคำร้องให้กรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ตรวจสอบการขออนุญาตทำเหมืองแร่โดโลไมต์ของเอกชนในพื้นที่ป่าสงวน เกรงกระทบสิ่งแวดล้อม
ชาวบ้านกลุ่มรักษ์หนองมะค่า ต.สองพี่น้อง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ได้เข้ายื่นคำร้องขอให้กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตรวจสอบการทำเหมืองแร่โดโลไมต์ ของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในพื้นที่ เนื่องจากเกรงว่าหากหน่วยงานภาครัฐอนุญาตให้สัมปทานไปจะส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่ามลภาวะทางอากาศ เสียงรบกวน ผลกระทบต่อแหล่งน้ำใต้ดินและบ่อน้ำ รวมทั้งผลกระทบต่อระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติ เช่น สัตว์ป่า แมลง และพืชพันธุ์ป่าไม้
สำหรับพื้นที่ที่จะขอประทานบัตรเหมืองแร่ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่ายางน้ำกลัดเหนือ และป่ายางน้ำกลัดใต้ ในหมู่ 4 และหมู่ 8 ต.สองพี่น้อง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี มีเนื้อที่รวม 540 – 3 – 70 ไร่ มีระยะห่างจากผืนป่ามรดกโลกแก่งกระจาน 1.14 กิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่เขตกันชนของผืนป่ามรดกโลก จึงไม่เหมาะในการให้สัมปทานเหมืองแร่
ทั้งนี้ หากมีการอนุญาตผลที่ตามมาก็คือการขนส่งแร่ที่จะกระทบต่อระบบนิเวศธรรมชาติ การดำรงชีวิตและพฤติกรรมของสัตว์ป่าชนิดต่างๆ เช่น เลียงผา โดยเฉพาะชนิดพันธุ์ที่หายากใกล้สูญพันธุ์ และหรือมีคุณค่าต่อการอนุรักษ์ในระดับสากล จึงอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อการเป็นพื้นที่มรดกโลกได้ และเป็นภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพที่มีคุณค่าความโดดเด่นเป็นสากล (Outstanding Universal Value – OUV)
หากโครงการทำเหมืองแร่โดโลไมต์ได้รับประทานบัตรจากหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ ในเกือบทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิตแร่ มีแนวโน้มว่าจะส่งผลกระทบทางลบต่อความหลากหลายทางชีวภาพอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
พื้นที่กันชนของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานยังมีธรรมชาติที่สมบูรณ์อยู่มาก ปรากฏสัตว์ป่ามีการอพยพโยกย้ายตามฤดูกาล เข้าและออก ระหว่างพื้นที่อุทยานและพื้นที่กันชน ดังนั้นการทำเหมืองในพื้นที่หนองมะค่าจะกระทบต่อคุณภาพและปริมาณของสัตว์ป่าภายในอุทยานด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พฤติกรรมสัตว์ป่าบางชนิด เช่น ช้างป่า อาจเปลี่ยนแปลงไปในทางลบหรือมีพฤติกรรมก้าวร้าว ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อตัวนักท่องเที่ยวและทรัพย์สินที่นำเข้ามาในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและแหล่งท่องเที่ยวบริเวณโดยรอบได้
นอกจากนี้ การขุดดินเปิดพื้นที่เพื่อระเบิดและขุดแร่ลึกลงไปในดินจะมีผลกระทบต่อระบบน้ำใต้ดินของประชาชนโดยรอบพื้นที่โครงการ ซึ่งประชาชนโดยรอบพื้นที่โครงการมีอาชีพทำการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ และจะต้องพึ่งพาแหล่งน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ และส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพตลอดจนอาชีพของประชาชนโดยรวม
ตัวแทนกลุ่มรักษ์หนองมะค่า ได้พูดกับ ปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชน ที่มารับจดหมายว่า “พวกเราฝากลมหายใจของพวกเราทุกคน ฝากไว้กับท่าน เพราะพวกเราเดือดร้อนจริงๆ”
อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนบริษัทที่ขอทำประทานบัตร เข้ามาประชาคมหมู่บ้านที่จะได้รับผลกระทบ แต่ยังไม่มีการยื่นเรื่องการขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติในท้องที่ดังกล่าวกับหน่วยงานกรมป่าไม้ โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะเร่งดำเนินการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนดังกล่าวต่อไป
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2567 ชาวบ้านหมู่ 4 บ้านหนองปืนแตก และหมู่ 8 บ้านหนองมะค่า ต.สองพี่น้อง อ.แก่งกระจาน ได้ร่วมกันป้ายคัดค้านโครงการเหมืองแร่โดโลไมต์ในพื้นที่ และได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการที่ปรึกษาพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ กลุ่มป่าแก่งกระจาน
ผศ.สุรเชษฎ์ เชษฐมาส ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาพื้นที่มรดกโลกกลุ่มป่าแก่งกระจาน กล่าวว่า ทางคณะกรรมการที่ปรึกษาพื้นที่มรดกโลกฯ จะรวมรวมข้อมูลและข้อห้วงกังวลต่างๆ เสนอต่อกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้รับทราบและพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
นายสมเจตน์ จันทนา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี เปิดเผยว่า ทางคณะกรรมการที่ปรึกษาฯ ยังมีข้อห่วงกังวลต่อโครงการทำเหมืองแร่ดังกล่าวที่อาจส่งผลกระทบต่อคุณสมบัติที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ซึ่งพื้นที่ดำเนินการโครงการเหมืองแร่ดังกล่าวอยู่ห่างจากแนวเขตมรดกโลกฯ เพียง 1.14 กิโลเมตร ที่ถูกจัดเป็น โซนสนับสนุนลำดับสูงหรือ High Priority Support Zone ของพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ กลุ่มป่าแก่งกระจาน
นอกจากนี้อาจเป็นภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพที่มีคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล (Outstanding Universal Value – OUV) ภัยคุกคามดังกล่าวอาจเป็นสาเหตุให้ยูเนสโกพิจารณาถอดถอนความเป็นมรดกโลกของกลุ่มป่าแก่งกระจานได้
ด้านอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบุรี เปิดเผยว่า เบื้องต้นโครงการทำเหมืองดังกล่าว ได้มีการประชาคมไปเพียงครั้งเดี่ยว แต่ชาวบ้านกลัวว่าจะได้รับผลกระทบจึงออกมาคัดค้าน ทางอุตสาหกรรมจังหวัดยังไม่ได้อนุมัติให้เหมืองแร่เกิดขึ้นในพื้นที่
สำหรับพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานตั้งอยู่บนเทือกเขาตะนาวศรี (Tenasserim Range) ซึ่งทอดตัวตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา ทิศตะวันตกของกลุ่มป่าแก่งกระจานจึงมีลักษณะเป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน เชื่อมต่อเป็นผืนป่าเดียวกันกับป่าในเขตตะนาวศรีของประเทศเมียนมา โดยมีพื้นที่ทั้งรวมประมาณ 2,938,910 ไร่
ประกอบด้วยพื้นที่อนุรักษ์ 4 แห่ง คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน โดยเฉพาะพื้นที่ป่าในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นพื้นที่อนุรักษ์หลักที่มีความสำคัญที่สุดในกลุ่มป่าบริเวณนี้
อีกทั้งเป็นอุทยานแห่งชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีขนาดพื้นที่ 1,821,688 ไร่ เป็นพื้นที่ต้นน้ำสำคัญของแม่น้ำเพชรบุรีและปราณบุรี เป็นพื้นที่ที่หลายเขตภูมิพฤกษ์ (Plant Geographical Distribution) มาบรรจบกัน และตั้งอยู่บนรอยต่อของหลายเขตสัตวภูมิศาสตร์ย่อย เป็นศูนย์รวมความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญและโดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย จนได้รับการประกาศเป็นพื้นที่มรดกแห่งอาเซียน ในปี 2548 มีสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์อยู่หลายชนิด
เช่น เสือโคร่ง และจระเข้น้ำจืด มีรายงานพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมากถึง 100 ชนิด นก 545 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 112 ชนิด สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 55 ชนิด และปลา 101 ชนิด
สำหรับพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นแหล่งมรดกโลก แห่งที่ 6 ของประเทศไทย และเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ แห่งที่ 3 ของไทยตั้งแต่ปี 2564 หลังจากมีการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ – ห้วยขาแข้ง ในปี 2534 และกลุ่มป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่ ในปี 2548
พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานอยู่ในพื้นที่ จ.ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ครอบคลุมพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 4 แห่ง ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และอุทยานแห่งชาติกุยบุรี มีความยาวตั้งแต่เหนือสุดถึงใต้สุดของพื้นที่มากกว่า 200 กิโลเมตร
พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของแม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำปราณบุรี และแม่น้ำภาชี เป็นป่าผืนใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ประกอบด้วย เขตสัตวภูมิศาสตร์ ได้แก่ Sundaic, Sino-Himalayan, Indochinese และ Indo-Burmese
อ้างอิง:
https://www.seub.or.th/bloging/news/2024-283/
https://www.dailynews.co.th/news/3667008/
https://worldheritagesite.onep.go.th/sitedetail/17
https://www.onep.go.th/%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%81%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%99-%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%94%E0%B8%81/