Fake News ป่วนวงการอนุรักษ์
‘บ่อนกแก่งกระจาน’เหยื่อรายล่าสุด

by IGreen Editor

ตั้งแต่สมัยเป็นคอลัมนิสต์ ผมเขียนลงในหนังสือพิมพ์หลายครั้งหลายหน ในระดับ “เพ้อ” เลยทีเดียว พร่ำพูดถึงความดีความงามของ “บ่อนกแก่งกระจาน” อันเป็น “โมเดลการอนุรักษ์” ที่สุดยอดอันหนึ่ง เท่าที่เมืองไทยเคยมีมา

เวลาผ่านมานับสิบปี ก็ไม่คิดว่ามีอะไรต้องเขียนถึง “บ่อนกแก่งกระจาน” อีกแล้ว เพราะทุกอย่างลงตัวตามธรรมชาติ บางบ่อเลิกราไปตามกาลเวลา บางบ่อยังเปิดดำเนินการ ตามกำลังความสามารถของคนเป็นเจ้าของ

แต่ผมก็ต้องกลับมาเขียนถึงอีกจนได้ เพราะมีข่าวที่กระจายไปในหมู่นักดูนกอย่างรวดเร็วว่า บ่อนกแก่งกระจาน ในส่วนของชาวบ้านที่ใช้ชื่อในเฟซบุ๊กว่า “หนึ่ง ป่าแก่ง” กำลังจะโดน “สอย”

โดยที่มาที่ไป เป็นเพราะถูกร้องเรียนจาก “ชาวบ้าน” ด้วยกัน ในลักษณะโกหกใส่ร้าย

ผมเองตอนแรกก็ฟังหูไว้หู แต่ครั้นเมื่อมี “แหล่งข่าว” ส่งตัวจดหมายร้องเรียนดังกล่าวมาให้อ่าน ก็เห็นจริงตามที่เขาว่าๆ กัน ข้อร้องเรียนมีลักษณะโกหก หลอกลวง สร้างเรื่องแบบยกเมฆ มีเจตนายืมมือเจ้าหน้าที่เล่นงาน “หนึ่ง ป่าแก่ง”

หรือเท่ากับใช้วิธีแนว Fake News (ทันสมัยมาก) ทำลาย “บ่อนกแก่งกระจาน” ของเขาไปพร้อมกัน

มาดูถ้อยคำบางส่วนในหนังสือร้องเรียน Fake News กันเลย

“บ่อนกได้ใช้วิธีใช้สารเสพติดผสมในน้ำและอาหารให้สัตว์ดื่มกิน เพื่อให้สัตว์ดื่มกินแล้วเกิดอาการติด โดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบในระยะยาวต่อสัตว์”

“เมื่อมีคนเข้าไปดูนกกัน ก็จะปัสสาวะ, อุจจาระ และสิ่งปฏิกูลทั้งหลาย จะถูกทิ้งไว้ในป่า เมื่อฝนตกลงมา น้ำก็จะพาสิ่งปฏิกูลเหล่านั้น ไหลผ่านหมู่บ้าน ซึ่งข้าพเจ้าและชาวบ้านได้ใช้น้ำอุปโภคบริโภค”

“ตกกลางคืน บ่อนกก็จะถูกทิ้งไว้ พรานป่าก็ก็จะอาศัยจังหวะโอกาสเข้าไปล่า เพราะไม่มีการดูแลควบคุมแต่อย่างใด”

ผมหรือนักดูนกที่เคยใช้บริการ “บ่อนกแก่งกระจาน” สามารถบอกได้เลย ว่านี่เป็นเรื่องโกหกยกเมฆ ไม่มีใครจำเป็นต้องใช้สารเสพติดใดๆ เพราะบ่อน้ำเล็กๆ ที่ได้รับการดูแลใส่ใจอย่างสม่ำเสมอไม่ให้เหือดแห้งในทุกวัน จะเป็นตัวดึงดูดนกและสัตว์ป่าในตัวอยู่แล้ว

หรือเรื่องสิ่งปฏิกูลจากนักดูนก ถูกฝนชะล้างไหลผ่านหมู่บ้าน โห ผมไม่เห็นมีลำห้วยลำธารใดๆ แถวบ่อนกเหล่านั้น มีแต่ป่าชั้นสองแล้งๆ รกๆ ไม่มีทาง “ไหล” ไปให้ใครอุปโภคบริโภคแน่นอน

ส่วนประเด็นพรานป่า อาจซับซ้อนจนผมคงยืนยันเองไม่ได้ แต่ผมมั่นใจล้านเปอร์เซนต์ว่าเจ้าของบ่อนกทุกแห่ง คือคนที่ต่อต้านพรานและการล่าสัตว์ เป็น “ก้างขวางคอ” ชิ้นโตสำหรับเหล่าพราน

เท่าที่เคยคุยกับเจ้าของบ่อหลายแห่ง ต่างก็เท้าความเหมือนๆ กันว่า อดีตของพวกเขาคือ พราน แต่ปัจจุบันเป็น “พรานกลับใจ” ขณะที่การทำบ่อ หรือภาษาแถวเพชรบุรีเรียกว่า “บอม” นั้น ก็เป็นวิธีการของพรานนั่นเอง ในการล่อสัตว์มายิง

ในเมื่อพรานเก่าเหล่านี้ เปลี่ยนจุดยืนมาเป็นนักอนุรักษ์แล้ว และพร้อมจะเป็นหูเป็นตาต่อต้านพวกพรานในท้องที่เดียวกัน ราชการมีแต่จะต้องดูแลเจ้าของบ่อนกเหล่านี้ ในฐานะแนวร่วมที่ช่วยปกปักพิทักษ์สัตว์ป่า

ถ้าจะเปิดปฏิบัติการใดๆ ในพื้นที่ชายป่าแก่งกระจาน ก็น่าจะใช้โอกาสนี้ พุ่งเป้าสืบสวนขึ้น “บัญชีดำ” เหล่าพรานตัวจริงทั้งหลาย จะป้องปรามอย่างไรก็ได้ให้พรานพวกนี้ไม่กล้าออกล่า ผมเชื่อว่า เจ้าหน้าที่ก็คงมีวิธีจัดการ

ราชการจำเป็นต้องฉลาดและเท่าทันเล่ห์ร้ายของการร้องเรียนนี้ อย่างน้อยต้องรู้ว่ามันมีเนื้อหาของ Fake News อันชั่วร้าย แทรกอยู่ในลายมือโย้เย้สไตล์ชาวบ้าน (แต่ภาษาสวย เหมือนมีกุนซือร่างให้!)

ประเด็นการล้ำแนวเขตอุทยาน ถ้าบังคับใช้กฎหมายแบบเถรตรง บ่อนกแก่งกระจานก็อาจผิดกฎหมายจริง แต่การใช้รัฐศาสตร์ผสมผสานกับนิติศาสตร์ ให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ ผมว่าน่าพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง

เพราะผลดีของบ่อนกแก่งกระจานมีมากมาย มันเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับสัตว์ป่าที่ดีที่สุด ประชาชน เยาวชน สามารถใช้เวลาเป็นวันๆ หรือหลายวัน เพื่อเฝ้าชมหรือบันทึกภาพนกและสัตว์ป่าที่แวะเวียนมายังบ่อนก กิจกรรมดีๆ แบบนี้ มีแต่จะต้องสนับสนุน

เจ้าของบ่อเอง คือคนท้องถิ่นที่มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ นี่คือสิ่งที่ราชการเรียกร้องต้องการมิใช่หรือ? ขณะเดียวกัน นกและสัตว์ตามบ่อของพวกเขา ก็มีส่วนในการสร้างจิตสำนึกอนุรักษ์ให้กับประชาชน ผ่านประสบการณ์การพบเห็นตัวจริงเสียงจริงโดยตรง

บ่อนกสร้างรายได้สร้างอาชีพให้เจ้าของบ่อ ลูกจ้าง ไกด์ดูนก รถตู้ ร้านอาหาร ฯลฯ เกิดมีเงินสะพัดในพื้นที่รกร้าง ที่ปกติไม่ค่อยมีคนสนใจ โดยรายได้นี้จะยั่งยืนได้ ก็ต้องรักษานกและสัตว์ป่าให้คงอยู่สถานเดียว

การจัดระเบียบให้คนดูนก ต้องไปจ่ายเงินค่าเข้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ก่อนจะมาเข้าบ่อนก นับเป็นทางออกที่สวย เพื่อว่าทางอุทยานเองก็จะ “ได้” ด้วย และเป็นการรับรองว่า บ่อนก ถือเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการอุทยาน

ตรงข้าม หากสุดท้ายบ่อนกต้องเลิกราไป เพราะการร้องเรียนใส่ร้ายอันเป็นเท็จพวกนี้ การล่าสัตว์นั่นแหละที่จะกลับมาเฟื่องฟู เพราะวันใดที่ป่าเงียบสงัด ไร้คนดูนกเข้าออก ไร้เจ้าของบ่อคอยดูแลเป็นหูเป็นตา พวกพรานมีแต่จะล่าสัตว์ได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น

ความสำเร็จงดงามของ “หนึ่ง ป่าแก่ง” วัดได้จากการพบสัตว์สงวนใกล้สูญพันธุ์ตามบ่อต่างๆ ที่เขาดูแลอยู่ถึง 3 ชนิด ได้แก่ แมวลายหินอ่อน เลียงผา และเก้งหม้อ

สัตว์หายากพวกนี้ พวกนักดูนกที่มาใช้บริการ ถ่ายรูปพวกมันได้มานานหลายปีแล้ว ปัจจุบันก็ยังถ่ายได้อยู่ แล้วตรงไหนที่บ่งชี้ว่าบ่อนกของ “หนึ่ง ป่าแก่ง” เป็นช่องทางล่าสัตว์ของพวกพราน?

ถ้าราชการสอบสวนเรื่องนี้ โดยมีมุมมองที่รอบด้าน และไม่ยอม “ติดกับ” Fake News ผมเชื่อว่านอกจากตัดสินใจไม่เอาผิด “หนึ่ง ป่าแก่ง” แล้ว ยังอาจต้องมอบรางวัลนักอนุรักษ์ดีเด่นแห่ง จ.เพชรบุรี ให้ด้วยซ้ำไป!

Copyright @2021 – All Right Reserved.