ญี่ปุ่นเริ่มตรวจสอบขั้นสุดท้ายก่อนปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีจากโรงงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะที่ผ่านการบำบัดแล้วลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก
เมื่อวันพุธที่ผ่านมาหน่วยงานกำกับดูแลของญี่ปุ่นเริ่มเข้าตรวจสอบอุปกรณ์ที่จำเป็นทั้งหมดสำหรับการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีที่ผ่านการบำบัดจากโรงงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะที่เสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวในปี 2554 แล้วลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก แม้แผนปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสียังคงสร้างความกังวลด้านความปลอดภัยให้กับทั้งคนในและนอกประเทศญี่ปุ่น
หากทุกอย่างเป็นไปด้วยดีภายใน 1 สัปดาห์หลังตรวจสอบเสร็จ บริษัทโตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ หรือเท็ปโก ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ จะได้รับใบอนุญาตด้านความปลอดภัยให้ปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี ซึ่งคาดว่าการปล่อยน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วจะเริ่มขึ้นในฤดูร้อนนี้ แม้ว่าจะยังไม่ได้กำหนดวันที่แน่นอนก็ตาม
จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 9.0 และคลื่นยักษ์สึนามิสูง 10 เมตรเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 ทำให้เตาปฏิกรณ์ 3 เครื่องในโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกูชิมะไดอิจิ ในจังหวัดฟูกูชิมะ ได้รับความเสียหายอย่างหนักจนเกิดการรั่วไหลของสารกัมมันตภาพรังสีส่งผลให้ประชากรกว่า 200,000 คนต้องอพยพออจากบริเวณที่เกิดเหตุ
ในปี 2560 บริษัทโตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ หรือเท็ปโก ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิได้ส่งหุ่นยนต์เข้าสำรวจความเสียหายเพื่อประเมินความเสียหาย และจัดวางกระบวนการกำจัดสารกัมมันตภาพรังสี ผ่านการบำบัดแบบเจือจางด้วยน้ำทะเลปริมาณมาก ก่อนนำน้ำที่บำบัดแล้วเข้าสู่อุโมงค์ใต้ทะเลและปล่อยลงสู่มหาสมุทรห่างจากชายฝั่งประมาณ 1 กิโลเมตร
อุโมงค์ใต้ทะเลและสิ่งอำนวยความสะดวกหลักอื่นๆ ใกล้จะเสร็จสมบูรณ์แล้ว TEPCO กล่าวว่าการทดสอบโดยสมัครใจคาดว่าจะดำเนินต่อไปประมาณสองสัปดาห์ก่อนการตรวจสอบก่อนการปฏิบัติงานที่จำเป็นซึ่งจะดำเนินการโดยหน่วยงานกำกับดูแลด้านนิวเคลียร์ซึ่งอาจเป็นไปได้ในต้นเดือนกรกฎาคม
ในเดือนเมษายน 2564 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศแผนการทยอยปล่อยน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วลงสู่ทะเล ถึงแม้จะยังมีสารกัมมันตภาพรังสีอยู่ แต่ก็เล็กน้อยและอยู่ในระดับปลอดภัยกว่ามาตรฐานสากล โดยทางการญี่ปุ่นระบุว่าถึงเวลาที่ต้องปล่อยน้ำที่บำบัดแล้วลงสู่ทะเล เนื่องจำมีน้ำที่บำบัดแล้วเก็บไว้ในแท็งก์ประมาณหนึ่งพันแท็งก์ เพื่อป้องกันการรั่วไหลหากเกิดกรณีแผ่นดินไหวอีก และเพื่อให้มีที่ว่างสำหรับการรื้อถอนโรงงาน
แผนดังกล่าวต้องเผชิญกับการประท้วงอย่างดุเดือดจากชุมชนประมงท้องถิ่นที่กังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยและความเสียหายต่อชื่อเสียง รวมถึงประเทศใกล้เคียง เช่น เกาหลีใต้ จีน และประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก ก็แสดงความกังวลด้านความปลอดภัยเช่นกัน
รัฐบาลญี่ปุ่นที่ขอการสนับสนุนจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศเพื่อให้ได้รับความน่าเชื่อถือและรับรองว่ามาตรการด้านความปลอดภัยเป็นไปตามมาตรฐานสากล ยืนยันว่าน้ำจะได้รับการบำบัดในระดับที่สามารถปล่อยออกได้ตามกฎหมายและเจือจางได้ด้วยน้ำทะเลจำนวนมาก และจะเป็นการทยอยปล่อยลงสู่มหาสมุทรผ่านอุโมงค์ใต้ทะเล ซึ่งอาจกินเวลานานหลายสิบปี โดยไม่เป็นอันตรายต่อผู้คนและสิ่งมีชีวิตในทะเล
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์บางคนกล่าวว่าที่ผ่านมายังไม่เคยมีงานวิจัยถึงผลกระทบของการได้รับสารกัมมันตรังสีปริมาณต่ำในระยะยาว ดังนั้นการปล่อยสารกัมมันตภาพรังสีควรชะลอออกไป
ที่มา
- Jan 13,2023. Fukushima nuclear disaster: Japan to release radioactive water into sea this year. BBC
- June 26, 2023. Fukushima nuclear plant operator says equipment to release treated wastewater into sea is complete. APNews
- April 26, 2023. Fukushima’s fishing industry survived a nuclear disaster. 12 years on, it fears Tokyo’s next move may finish it off. CNN
- June 27, 2023.As Japan prepares to release Fukushima wastewater, anxiety grows across South Korea. NPR