โลมาอิรวดีตัวสุดท้ายตายแล้วปิดฉาก ‘ปลาข่า’ แห่งแม่น้ำโขงสูญพันธุ์จากลาวเป็นทางการ

กรมอนุรักษ์ประมงของกัมพูชา ระบุว่า มีโลมาได้ตายลงเมื่อวันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ ที่ริมฝั่งแม่น้ำในจังหวัดสตึงแตรง ใกล้ชายแดนลาว แม้ว่าเจ้าหน้าที่สัตว์ป่าประจำจังหวัดทราบดีว่าโลมาผู้โดดเดี่ยวตัวนี้ป่วยมานานกว่าหนึ่งเดือนแล้ว แต่เจ้าหน้าที่กล่าวว่า การขาดอุปกรณ์เฉพาะทางและการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ทำให้ความช่วยเหลือโลมานั้นเป็นเรื่องยาก

เมน กง (Men Kong) โฆษกศาลากลางจังหวัดบอกกับ The Phnom Penh Post ว่าการสูญเสียโลมาเพียงตัวเดียวที่เหลืออยู่ในสระเฌอเตียลที่มีพรมแดนติดกับกัมพูชาและลาวเป็นเรื่องที่น่าเศร้า เพราะเท่ากับสูญสิ้นสปีชีส์นี้ไปเลยจากพื้นที่

The Phnom Penh Post รายงานว่า การสูญเสียโลมาในพื้นที่เฌอเตียลเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2018 พวกมันเข้าไปติดกับอวนทีละตัว จากการศึกษาในปี 2018 พบว่ามีโลมาที่รอดชีวิตเพียงสามตัว ตัวสุดท้ายอยู่เดียวตั้งแต่ต้นปี 2021

กองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) ประกาศว่าประชากรโลมาอิรวดีน้ำจืดในพื้นที่สูญพันธุ์ไปแล้วในทางเทคนิค (functionally extinct) ตั้งแต่ปี 2016 หลังจากพบว่ามีคู่ผสมพันธุ์ที่มีศักยภาพน้อยเกินไปที่จะรับประกันความอยู่รอดของประชากร

ด้วยการตายของโลมาอิรวดีน้ำจืดตัวสุดท้ายนี้ ทำให้โลมาอิรวดีจึงสูญพันธุ์ไปจากประเทศลาวเรียบร้อยแล้ว แม้ว่าทางฝั่งกัมพูชายังคิดว่าควรจะนำพันธุ์จากที่อื่นเข้ามาเลี้ยงต่อไปหรือไม่ แต่ก็เรื่องนี้ยังไม่แน่นอน

ทั้งนี้ โลมาอิรวดีมีการกระจายอย่างกว้างขวางในมหาสมุทรแปซิฟิก, มหาสมุทรอินเดีย, อ่าวไทย มักพบเข้ามาอยู่ในแหล่งน้ำกร่อยและทะเลสาบหรือน้ำจืด มันได้ชื่อ “โลมาอิรวดี” เพราะพบครั้งแรกที่แม่น้ำอิรวดีในเมียนมา

โลมาอิรวดีบางกลุ่มอาจเข้ามาอาศัยอยู่ในแม่น้ำสายใหญ่ ๆ ด้วย เช่น แม่น้ำโขง ทะเลสาบเขมร แต่ในระยะหลังประชากรตามแหล่งแม่น้ำเหล่านี้ลดหายไปอย่างรวดเร็ว แต่ยังสามารถพบได้ 5 แห่ง คือ ทะเลสาบจิลิกา ประเทศอินเดีย, ทะเลสาบสงขลา, ปากแม่น้ำบางปะกง, แม่น้ำโขง และแม่น้ำมาฮากัม ประเทศอินโดนีเซีย

โดยสถานที่ที่พบได้น้อยที่สุดและถือเป็นแหล่งวิกฤตที่สุดคือทะเลสาบสงขลาในส่วนที่เป็นน้ำจืดหรือน้ำกร่อย หรือที่เรียกว่า ทะเลน้อย คาดว่าน้อยกว่า 50 ตัว ส่วนที่แม่น้ำโขงบริเวณลาว-กัมพูชามีประมาณ 92 ตัว

แต่ล่าสุด หลังการตายของโลมาตัวดังกล่าวเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 เท่ากับในลาวจะไม่มีโลมาน้ำจืดอีกต่อไปแล้ว จากที่ก่อนนั้นการปรากฏตัวของพวกมันครั้งหนึ่งเคยเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวยอดนิยมในลาวตอนใต้ ซึ่งชาวลาวเรียกโลมาอิรวดีที่เรียกว่า “ปลาข่า”

ชาวลาวและกัมพูชามีความเชื่อร่วมกันว่าโลมาอิรวดีเป็นการกลับชาติมาเกิดของบรรพบุรุษของพวกเขา บางคนถึงกับอ้างว่าโลมาได้ช่วยชีวิตชาวบ้านที่จมน้ำและปกป้องผู้คนจากการถูกจระเข้โจมตี

ความเชื่อและประสบการณ์ที่เจอกันมาเหล่านี้ทำให้ชาวลาวและกัมพูชาอยู่ร่วมกันกับโลมาอิรวดีอย่างสงบสุขมาโดยตลอด จนถึงไม่กี่ปีมานี้ เมื่อมีการเริ่มใช้ระเบิดในการจับปลา รวมถึงการมาถึงของเรือขนาดใหญ่ที่รบกวนโลมา

การใช้ระเบิดในการจับปลาได้กลายเป็นที่นิยมอย่างมากและทำให้จำนวนปลาลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาโลมาที่ว่ายอาศัยในเขตกัมพูชา

โลมาอิรวดีตัวสุดท้ายในลาวเสียชีวิตลงแล้ว เครดิตภาพ phnompenhpost

แม้ว่าชาวลาวจะไม่ใช้วัตถุระเบิด แต่พวกเขาก็ใช้อวนไนลอน ซึ่งเป็นภัยคุกคามใหญ่อีกประการหนึ่งต่อการอยู่รอดของโลมาอิรวดี และเป็นเหตุให้โลมาตัวสุดท้ายของลาวต้องปิดฉากลงในที่สุด

แม้ว่าจะยังมีโลมาในเขตกัมพูชา แต่ในประเทศลาวมีการวางแผนสร้างเขื่อนข้ามแม่น้ำโขงตรงใกล้พรมแดนกัมพูชา เรื่องนี้อาจคุกคามการมีอยู่ของโลมาอิรวดีที่ปลายน้ำกัมพูชา ซึ่งอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์

มีรายงานว่าผู้สร้างเขื่อนอาจจะใช้ระเบิดเพื่อขุดหินจำนวนมากตามแก่งแม่น้ำโขง การทำแบบนี้จะสร้างคลื่นเสียงที่แรงซึ่งสามารถฆ่าโลมาอิรวดีได้เนื่องจากพวกมันมีโครงสร้างการได้ยินที่มีความไวสูง

ข้อมูลจาก
• Long Kimmarita. (15 February 2022). “Last of his kind: Irrawaddy dolphin in Chheuteal dead”. The Phnom Penh Post.
• Latsamy Phonevilay. (16 February 2022). “Last Irrawaddy Dolphin Dies in Waters Between Cambodia and Laos”. Laotian Times.
• Wikipedia contributors. “Irrawaddy dolphin.” Wikipedia, The Free Encyclopedia. Wikipedia, The Free Encyclopedia, 29 Jan. 2022. Web. 17 Feb. 2022.

ภาพจาก
Chea Seila / facebook

Related posts

มหาอำนาจโลกในมือ ‘ทรัมป์’ จุดจบการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศ?

โลกจมกองพลาสติก ต้องเปลี่ยนวิธีผลิต ลดการบริโภค กำจัดอย่างยั่งยืน

อุณหภูมิทะลุ 3.1°C แผนลดก๊าซเรือนกระจกในปี 2030 เป็นเรื่องเพ้อฝัน