‘สิงคโปร์’ สายกรีน นำเข้าแมลง 16 ชนิดบริโภคในประเทศ ช่วยลดโลกร้อน

ในเร็วๆ นี้ตั๊กแตน ผีเสื้อกลางคืน จิ้งหรีด และหนอนแมลงจะเป็นเมนูอาหารในสิงคโปร์ และวางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ต หลังรัฐบาลอนุมัติให้นำเข้า

หน่วยงานด้านอาหารของสิงคโปร์ได้ประกาศกรอบการกำกับดูแลและการนำเข้าแมลง 16 ชนิด ซึ่งเป็นอีกก้าวหนึ่งในความพยายามของสิงคโปร์เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าอาหารและสร้างความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมาย “30 by 30” หรือการผลิตอาหารที่มีความยั่งยืนได้ 30% ของความต้องการทางโภชนาการภายในประเทศภายในปี 2030

การผลักดันนโยบายดังกล่าวเนื่องจากสิงคโปร์นำเข้าอาหารเป็นส่วนใหญ่ถึง 90% การผลิตในท้องถิ่นจึงมีความสำคัญในการลดการพึ่งพาการนำเข้าอาหาร ซึ่งอยู่ในแผนสีเขียวของสิงคโปร์ปี 2030 และจะช่วยสร้างอนาคตด้านอาหารได้มากยิ่งขึ้น

นอกจากนั้น เป็นการข้อจำกัดด้านพื้นที่เนื่องจากสิงคโปรี์มีพื้นที่เกษตรกรรมเพียง 1% ของประเทศ เพราะเกาะแห่งนี้มีความต้องการใช้ที่ดินมาก ดังนั้นอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารจะต้องเพิ่มผลผลิตอย่างมากในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เพื่อเอาชนะข้อจำกัดด้านที่ดินและทรัพยากร อีกทั้งเกษตรกรบางส่วนต้องหันมาใช้เทคโนโลยีและวิธีการสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มผลผลิตด้วย

แมลงทั้ง 16 ชนิด ที่สิงคโปร์ได้อนุมัติให้นำเข้าซึ่งอยู่ในระยะการเจริญเติบโตต่างๆ ในระยะโตเต็มวัยมี จิ้งหรีด 4 ชนิด ตั๊กแตน 3 ชนิดและผึ้ง 1 ชนิด ส่วนในระยะตัวอ่อนมีหนอนแป้ง 3 ชนิด ตัวอ่อนสีขาว 1 ชนิด และตัวอ่อนด้วงแรด 1 ชนิด รวมถึงผีเสื้อกลางคืน 2 สายพันธุ์ ผีเสื้อกลางคืนไหมและหนอนไหม (ที่อยู่ในช่วงต่าง ๆ ของสายพันธุ์เดียวกัน) นอกจากนั้นเป็นการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากแมลง เช่น ตัวอ่อนของผึ้งหมักเกลือ ตัวอ่อนของด้วงหมัก และดักแด้ไหม

สไกค์ แบล็กเบิร์น นักกีฏวิทยาและนักวิทยาศาสตร์ด้านอาหารชาวออสเตรเลียที่สนับสนุนการบริโภคแมลงและขายผลิตภัณฑ์จากแมลง กล่าวว่า “เป็นเรื่องน่าทึ่งมากที่ตอนนี้มีรายชื่อสายพันธุ์แมลงที่ได้รับการอนุมัติให้มนุษย์บริโภคได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสิงคโปร์เปิดกว้างต่อแมลงที่กินได้มากกว่าที่คิดไว้”

ทั้งนี้ Straits Times รายงานว่าขณะนี้ร้านอาหารสิงคโปร์ชื่อ House of Seafood เตรียมเสิร์ฟอาหารที่ทำจากแมลง 30 รายการ รวมถึงซูชิที่ตกแต่งด้วยหนอนไหมและจิ้งหรีด ปูไข่เค็มกับหนอนซุปเปอร์ และ “Minty Meatball Mayhem” หรือลูกชิ้นที่โรยหน้าด้วยหนอน จากประกาศดังกล่าวทำให้เชฟสิงคโปร์สามารถนำเข้าแมลงมารังสรรค์เมนูได้หลากหลายขึ้น

อย่างไรก็ดี จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Scientific Reports ในปีนี้พบว่า มีการบริโภคแมลงอยู่ใน 128 ประเทศ โดยทั่วโลกมีการกินแมลงอยู่ 2,205 สายพันธุ์ โดยสายพันธุ์เหล่านี้ส่วนใหญ่พบในประเทศแถบเอเชีย รองลงมาคือเม็กซิโก และประเทศแถบแอฟริกา

ในประเทศไทย อินเดีย คองโก และจีน มีการบริโภคแมลงหลายร้อยสายพันธุ์ ในขณะที่บราซิล ญี่ปุ่น และแคเมอรูน กินแมลงสายพันธุ์ละ 100 สายพันธุ์หรือมากกว่า สหภาพยุโรปกำลังดำเนินการอนุมัติการบริโภคแมลงเพิ่มเติม ที่ผ่านมาได้อนุมัติเพียง 4 ชนิด ขณะที่ออสเตรเลียอนุมัติเพียง 3 สายพันธุ์ได้แก่ จิ้งหรีดและหนอนแป้ง 2 ชนิด

สำหรับการนำเข้าผึ้งบางสายพันธุ์ ทั้งที่ผึ้งอยู่ในข่ายใกล้สูญพันธุ์และจำเป็นอย่างยิ่งต่อการรักษาระบบชีวิตพื้นฐานของโลก คำถามคือควรหรือไม่ที่จะส่งเสริมให้มีการบริโภคผึ้ง แบล็กเบิร์นกล่าวว่า ผึ้งเกือบทั้งหมดที่ถูกกินเป็นผึ้งตัวผู้ซึ่งไม่มีเหล็กไน และโดยปกติแล้วผึ้งเหล่านี้จะถกแยกออกจากรัง และมีหน้าที่จัดการกับศัตรูพืช โดยบางประเทศในแอฟริกาและเอเชีย ผึ้งตัวเมียก็ถูกกินเช่นกัน อย่างในกัมพูชาดักแด้ผึ้งจะถูกปรุงในรวงผึ้งเป็นอาหารว่างยอดนิยมริมถนน เช่น วาฟเฟิลรสเข้มข้น

วิสิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีความรู้ความชำนาญในการเลี้ยงแมลงที่รับประทานได้ อีกทั้งยังสังเกตว่าการเลี้ยงแมลงใช้เวลาสั้นกว่าเมื่อเทียบกับแหล่งโปรตีนอื่น โดยในไทยมีฟาร์มจิ้งหรีดแบบดั้งเดิมมากกว่า 20,000 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีกำลังการผลิตรวมมากกว่า 7,000 ตัน

ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกแมลงมีชีวิตรายใหญ่อันดับที่ 17 ของโลก ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2564 ปริมาณการส่งออกแมลงมีชีวิตอยู่ที่ 575 ตัน มูลค่า 85,346 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 29% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 

ตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา คิดเป็น 40.4% ของการส่งออกทั้งหมด รองลงมาคือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (17.9%) เยอรมนี (16.9%) สหราชอาณาจักร (12.1%) เนเธอร์แลนด์ (10.9%) และเกาหลีใต้ (1.35%)

ตามรายงานของบริษัทวิจัยตลาด Meticulous Market Research Inc ของสหรัฐ ระบุว่า คาดว่าตลาดแมลงที่กินได้จะเติบโตถึง 9,600 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2030 ซึ่งการเติบโตของตลาดนแมลงในช่วงปี 2022–2030 จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์

เหตุผลที่ UN ต้องการให้คนบริโภคแมลง โดยระบุว่าแมลงมีคุณค่าทางโภชนาการ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นทรัพยากรที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ เนื่องจากโลกทุกวันนี้มีสภาพอากาศแปรปรวน และแมลงเป็นแหล่งโปรตีนที่ยั่งยืนมากกว่าปศุสัตว์มาก

อย่างจิ้งหรีดมีพลังงานสูง หมายความว่าจิ้งหรีดมีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนพลังงานจากพืชเป็นโปรตีน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การเปลี่ยนอาหารที่กินเข้าไปให้กลายเป็นอาหารของร่างกายตัวเอง “จิ้งหรีดต้องการอาหารน้อยกว่าวัว 6 เท่า น้อยกว่าแกะ 4 เท่า และน้อยกว่าหมูและไก่เนื้อ 2 เท่า เพื่อผลิตโปรตีนในปริมาณเท่ากัน” ตามข้อมูลของ FAO

นอกจากนี้ การกินแมลงทำให้มีการใช้ที่ดินและน้ำน้อยลง ปล่อยมลพิษน้อยลง อีกทั้งสามารถเป็นแหล่งรายได้สำหรับผู้ที่เข้าถึงที่ดินได้น้อยหรือขาดการฝึกอบรมที่จำเป็นในการทำปศุสัตว์

อย่างไรก็ตาม เพื่อเดินไปสู่เป้าหมาย 30 by 30 รัฐได้สนับสนุนอุตสาหกรรมที่มีผลผลิตสูง ทนทานต่อสภาพภูมิอากาศ และมีความยั่งยืน ทาง Singapore Food Agency (SFA) จึงใช้กลยุทธ์ต่อไปนี้:
• การวางแผนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอาหารและการขยายการเพาะเลี้ยงปลาแบบยั่งยืนในน่านน้ำตอนใต้ที่ลึกลงไปของสิงคโปร์
• สนับสนุนให้ภาคเกษตรและอาหารสามารถยกระดับการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง ทนทานต่อสภาพอากาศ และใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านกองทุน Agri-Cluster Transformation (ACT)
• กองทุน ACT สนับสนุนความต้องการของฟาร์มในด้านต่างๆ เช่น การยกระดับขีดความสามารถ นวัตกรรมและการทดสอบ รวมถึงการยกระดับเทคโนโลยี
• ให้การสนับสนุนด้านเงินทุนสำหรับโครงการวิจัยเชิงนวัตกรรมด้านการผลิตอาหารในเมืองอย่างยั่งยืน อาหารในอนาคต วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมด้านความปลอดภัยของอาหาร ผ่านโครงการวิจัยและพัฒนา Singapore Food Story ซึ่งได้รับจัดสรรเงินทุนกว่า 309 ล้านดอลลาร์
• การกระตุ้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมผ่านการสร้างแบรนด์และการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น ซึ่งช่วยให้ฟาร์มท้องถิ่นสามารถเติบโตทางธุรกิจได้อย่างยั่งยืน
• ทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาระดับสูงในการเปิดหลักสูตรเพื่อพัฒนาแรงงานที่มีทักษะในภาคเกษตรและอาหาร และสร้างงานที่ดีให้กับชาวสิงคโปร์

ดังนั้น หนึ่งในการสร้างความมั่นคงด้านอาหารของสิงคโปร์คือ การบริโภคแมลง ซึ่งการกินแมลงในอีกหลายพื้นที่ของโลกไม่ใช่เรื่องแปลก โดยได้มีการอนุมัติให้บริโภคในอเมริกาเหนือและสหภาพยุโรป ในขณะที่ไทย กินตั๊กแตนและแมลงอื่นๆ เป็นของว่าง

อ้างอิง:
Jul 9, 2024 . Singapore Says Yes to Edible Insects in Boost to Food Security. Bloomberg
Strengthening our food security . Singapore Food Agency

Jun 2, 2022 . export-outlook-bright-for-edible-insects . BangkokPost
Jul 10, 2024 . Singapore has approved 16 insects to eat as food: here’s everything you need to know . Helen Sullivan, The Guardian

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

5 ปีอุณภูมิโลกส่อทะลุ 1.5 องศา ไทยเร่งรับมือ 6 สาขาเสี่ยงระดับพื้นที่