รู้หรือไม่ว่า คนที่ร่ำรวยที่สุดในโลก คิดเป็นสัดส่วนประชากรของทั่วโลกแค่ 10% โดยคนเหล่านี้ควรต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อการปล่อยมลพิษทั่วโลกถึง 50% หรือประมาณครึ่งหนึ่ง ในจำนวนนี้คนกลุ่มที่กุมความมั่งคั่งส่วนใหญ่ของโลกเอาไว้มีเพียงแค่ 1%
การกอบโกยของพวก 1% ทำให้การผลาญทรัพยากรมากขึ้น เมื่อผลาญมากขึ้นสิ่งแวดล้อมโลกก็สั่นคลอนมากขึ้น
ตัวเลขนี้อาจรวมเอาพวกมหาเศรษฐีที่เป็นเจ้าของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ด้วย
แต่ไม่ต้องเป็นถึงมหาเศรษฐี คนที่มีรายได้สูงๆ ก็มีแนวโน้มเป็นตัวการเผาผลาญทรัพยากรและทำลายสิ่งแวดล้อมมากว่าอยู่แล้ว อ้างจากสถิติที่ระบุว่า การบริโภครายบุคคลนั้นมีส่วนรับผิดชอบต่อการปล่อยมลพิษทั่วโลกถึง 64%
ลัทธิบริโภคนิยมและลัทธิปัจเจกชนนิยมจึงมีส่วนอย่างมากกับปัญหาโลกร้อนและความพินาศทางสิ่งแวดล้อมต่างๆ
การบริโภครายบุคคลขับเคลื่อนด้วยลัทธิบริโภคนิยมและลัทธิปัจเจกชนนิยม ซึ่งจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีเงิน ยิ่งมีเงินการบริโภคยิ่งมาก หมายถึงการเผาผลาญทรัพยากรยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย
เมื่อเอาสถิติแรกมารวมกับสถิติที่ 2 เราจึงอาจสรุปได้ว่า ยิ่งรวยเท่าไร เรายิ่งมีโอกาสทำลายสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเท่านั้น แต่ก็ยังน้อยกว่าคนที่กุมความมั่งคั่งส่วนใหญ่ในโลกเอาไว้
คนกลุ่มที่กุมความมั่งคั่งส่วนใหญ่ในโลกเอาไว้ เรียกว่าพวก 1% หมายถึงประชากรโลก 1% ที่ยึดครองความมั่งคั่งเกือบทั้งหมดของโลกเอาไว้
จากการศึกษาโดย Solomon Hsiang และทีมงาน คาดการณ์ว่าสหรัฐอเมริกาจะมีระดับความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลกระทบทางภูมิศาสตร์ที่ไม่สม่ำเสมอจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น เกษตรกรมีผลผลิตน้อยลงเพราะอากาศแปรปรวน หรือเกิดภัยธรรมชาติบ่อยครั้งจนทำลายพืชผล และบ้านเรือนของคนที่ต้องอยู่อย่างปากกัดตีนถีบอยู่แล้ว
เมื่อคนส่วนใหญ่ (หรือพวก 99%) จนลง เพราะโลกร้อน จะส่งผลให้เกิดการโอนถ่ายความมั่งคั่งที่ใหญ่ที่สุดจากคนจนไปสู่คนรวยในประวัติศาสตร์ของประเทศ
รายงานเตือนว่าหากภาคธุรกิจยังปล่อยมลพิษตามปกติแบบนี้ เมื่อถึงช่วงปลายศตวรรษที่ 21 ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประชากรที่ยากจนที่สุดใน 3 ส่วนของประเทศ จะคิดเป็นสัดส่วนความเสียหาย 2 – 20% ของรายได้ในท้องถิ่นระดับเคาตี้ (เทียบกับระดับอำเภอของไทย)
นี่คือการประเมินเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่ความเหลื่อมล้ำรุนแรงกว่า ผลอาจจะน่ากลัวกว่านี้หลายเท่า
ประเทศที่เข้าข่ายแบบเดียวกับสหรัฐอเมริกา คือแคนาดา อังกฤษ รัสเซีย และแอฟริกาใต้ ประเทศเหล่านี้มีช่องว่างคนรวย-คนจนค่อนข้างสูง โดยที่คนรวยจะผลาญทรัพยากรแบบไม่ยั้งมือ
แต่ในสังคมที่มีความเท่าเทียมกันสูง การทำลายสิ่งแวดล้อมจะน้อยลง เพราะความรู้สึกเป็นปัจเจกบุคคลจะน้อยลง ทุกจะรู้สึกว่ามีความรับผิดชอบร่วมกันต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น เยอรมนี, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, ฝรั่งเศส และอิตาลี
จากการศึกษาของ Oxfam ชี้ว่าเมื่อผู้คนในประเทศร่ำรวยเท่าเทียมกันมากขึ้น ก็จะบริโภคน้อยลง ผลิตของเสียน้อยลง และปล่อยคาร์บอนโดยเฉลี่ยน้อยลง
พูดง่ายๆ คือเมื่อเหลื่อมล้ำน้อยลง เราก็ทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยลง
วิธีแก้ไขความเหลื่อมล้ำในสังคมยังมีไม่มากนักและยังแก้ไขได้ยาก เพราะผู้ที่กุมความมั่งคั่งส่วนใหญ่คือกลุ่มธุรกิจที่เราต้องพึ่งพาสิ่งของเครื่องใช้ประจำวันจากธุรกิจเหล่านี้
ดังนั้น มีผู้เชี่ยวชาญกลุ่มหนึ่งจึงผลักดัน Economic Inequality Rating App (EIRA) เป็นกระบวนการที่จะให้คะแนนบริษัท, บุคคล และผลิตภัณฑ์ตามระดับไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจที่คนที่กุมความมั่งคั่งส่วนใหญ่ได้สร้างขึ้น เพื่อที่จะหาทางเกลี่ยเอาความมั่งคั่งจากคนที่รวยที่สุดในโลก 1% กลับมายังคนที่ส่วนใหญ่ 99% ที่จนกว่าคนกลุ่มนั้นหลายเท่า
แม้จะดูเป็นการคว่ำบาตรแบบหนึ่งมากกว่าจะเป็นมาตรการทำลายความเหลื่อมล้ำในทันที แต่ถึงจะแก้ไม่ได้ทันทีเรายังช่วยสร้างความตระหนักในสังคมได้ว่า กลุ่มทุนไหนที่สร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและยังทำลายสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กับการโกยเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง
ส่วนกลุ่มทุนที่มีความตระหนักในการทำธุรกิจที่ปลอดภัยต่อโลก ก็ยังสามารถตรวจสอบตัวเองได้อีกด้วย
อ้างอิง:
Is inequality bad for the environment?
https://www.theguardian.com/inequality/2017/jul/04/is-inequality-bad-for-the-environment
Estimating economic damage from climate change in the United States
https://science.sciencemag.org/content/356/6345/1362
Is inequality harming the environment?
https://www.thersa.org/discover/publications-and-articles/rsa-blogs/2017/12/is-inequality-harming-the-environment