เริ่ม 1 พ.ย. ความรับผิดชอบโรงงานจะสิ้นสุด เมื่อของเสียได้รับการจัดการ

โฆษกรัฐบาลย้ำ ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ‘การจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2566’ บังคับใช้ 1 พ.ย. ยึดหลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย กำหนดความรับผิดตั้งแต่ต้นทางโรงงานผู้ก่อกำเนิด ไปจนกว่าของเสียจะได้รับการจัดการแล้วเสร็จ

วันที่ 2 ก.ค. 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาย้ำประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2566 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ซึ่งประกาศนี้ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป เว้นแต่ในส่วนหน้าที่ของผู้ก่อกำเนิด (WG) ตามข้อ 13 และหน้าที่ของผู้รับดำเนินการ (WP) ตามข้อ 22 ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2566

การปรับปรุงกฎหมายฉบับดังกล่าว กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้นำหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายหรือเป็นผู้รับผิดชอบ (Polluter Pays Principle: PPP) มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ โดยกำหนดความรับผิดตั้งแต่ต้นทางโรงงานผู้ก่อกำเนิด ไปจนกว่าสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วจะได้รับการจัดการจนแล้วเสร็จ ต่างจากเดิมที่ความรับผิดชอบจะสิ้นสุดเมื่อโรงงานผู้รับกำจัดได้รับมอบสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว

โรงงานผู้ก่อกำเนิดของเสียทุกโรงงาน ต้องรายงานประจำปีเกี่ยวกับการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ทั้งที่เป็นของเสียอันตรายและไม่อันตราย ภายในวันที่ 1 เมษายนของปีถัดไป ผ่านระบบการรายงานข้อมูลกลางของกระทรวงอุตสาหกรรม หรือ iSingle Form (https://isingleform.go.th/home) ซึ่งเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ของกระทรวงอุตสาหกรรม ฝ่าฝืนไม่รายงานหรือรายงานล่าช้ามีโทษปรับสุงสุด 20,000 บาท

ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ของกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นฐานข้อมูลที่ใช้ในการกำหนดนโยบาย การกำกับดูแลการประกอบกิจการโรงงาน การป้องกันและปราบปรามการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนและสิ่งแวดล้อม

จากข้อมูลกระทรวงอุตสาหกรรมระบุ ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานผู้ก่อกำเนิดของเสีย (Waste Generator: WG) 60,638 โรงงานทั่วประเทศ โดยมีโรงงานที่ยังไม่ได้รายงานข้อมูลกว่า 27,000 แห่ง ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม จึงขอให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศเร่งประสาน ติดตาม และเน้นย้ำให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานรายงานข้อมูลการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุไม่ใช้แล้ว ผ่าน iSingle Form ภายในกรอบระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด

การบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม จำเป็นต้องใช้กฎหมายในการกำกับดูแลอย่างเข้มงวด และต้องมีการจัดการอย่างถูกต้องและเหมาะสมตามหลักวิทยาศาสตร์ เพื่อป้องกันไม่ให้ของเสียจากภาคอุตสาหกรรมหลุดออกจากระบบ อาจส่งผลกระทบกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง

Related posts

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

COP29 มุ่งมั่นเป้าหมายทางการเงินใหม่ ชาติพัฒนาแล้วจ่าย 1 แสนล้าน

‘เฉลิมชัย’ พาหมูเด้งบุก COP29 เปิด Thailand Pavilion โชว์แก้โลกเดือด