อินเดียรีไซเคิลขยะพลาสติก นำมาสร้างถนนยาว 33,796 กม.

“ถนนพลาสติก” คือวิธีแก้ปัญหาพลาสติกที่ตรงไปตรงมาที่สุดแบบหนึ่ง คือการสร้างถนนประกอบด้วยยางมะตอยผสมกับขยะพลาสติกที่รวมอยู่ในส่วนผสมของยางมะตอย การนำพลาสติกไปใช้บนถนนยังเป็นการเปิดทางเลือกใหม่สำหรับการรีไซเคิลพลาสติกหลังการบริโภค

ถนนพลาสติกเกิดขึ้นครั้งแรกจากไอเดียของ ราชโคปาลัน วสุเทวัน (Rajagopalan Vasudevan) ในปี 2001 เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ชาวอินเดียที่ทำงานด้านการจัดการขยะเป็นหลัก ปัจจุบันเขาเป็นศาสตราจารย์ในวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ติอาคระชาร (TCE) 

เขาเกิดมีแนวคิดที่จะทำลายขยะพลาสติกด้วยการผสมกับน้ำมันดิน และใช้ส่วนผสมโพลีเมอร์เรียกว่า “กาวโพลีเมอร์” ในการก่อสร้างถนน วิธีนี้จะช่วยทำให้ถนนเร็วขึ้นมาก และยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมจากขยะพลาสติกที่เป็นอันตรายอีกด้วย 

วิธีใหม่ที่เขาพัฒนาขึ้นเพื่อนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ ทำให้เกิดการสร้างถนนที่ดีขึ้น ทนทานขึ้น และคุ้มทุนมาก นอกจากสภาพถนนจะดีกว่าเดิม และช่วย “กลบฝังพลาสติกใต้ถนน” แล้ว ถนนรูปแบบใหม่ยังทนต่อความเสียหายที่เกิดจากฝนตกหนักอีกด้วย

ในการให้สัมภาษณ์กับ The Better India เขาอธิบายว่า “ข้อดีของการใช้พลาสติกเหลือทิ้งในการก่อสร้างถนนมีมากมาย กระบวนการนี้ง่ายและไม่ต้องการเครื่องจักรใหม่ใด ๆ หินที่นำมาใช้ทุก ๆ กิโลกรัม จะใช้น้ำมันดิน 50 กรัม และ 1 กิโลกรัม 1/10 เป็นขยะพลาสติก ซึ่งช่วยลดปริมาณการใช้น้ำมันดิน พลาสติกเพิ่มศักยภาพรับการกระแทกโดยรวม และปรับปรุงคุณภาพของทางเท้าที่ยืดหยุ่น การสึกของถนนลดลงอย่างมาก”

ตอนแรกเทคนิคการปูถนนด้วยพลาสติกและน้ำมันดินได้รับการคุ้มครองภายใต้สิทธิบัตรของวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ติอาคระชาร (TCE) แต่ในปี 2006 ดร.วสุเทวันได้มอบลิขสิทธิ์ให้เป็นของสาธารณะเพื่อที่คนทั่วไปจะใช้ประโยชน์ได้มากยิ่งขึ้น 

เทคโนโลยีนี้เรียบง่ายและมีอธิบายไว้ในเว็บไซต์โดยเฉพาะของ TCE วิธีการคร่าว ๆ คือ  ก) รวบรวมขยะพลาสติก รวมถึงถุงพลาสติก ถ้วย โฟมชนิดอ่อนและแข็ง และพลาสติกลามิเนต ข) ทำความสะอาดด้วยการล้าง ค) หั่นเป็นชิ้นขนาดสม่ำเสมอ

ง) หลอมพลาสติกที่อุณหภูมิ 165 องศาเซลเซียสผสมกับส่วนผสมอื่น ๆ ที่ร้อนและน้ำมันดิน และใช้ส่วนผสมนี้ในการปูถนน

ปัจจุบันวิธีการก่อสร้างถนนของ ดร.วสุเทวันใช้กันอย่างแพร่หลายในการสร้างถนนในชนบทของอินเดีย เขาได้รับรางวัลเกียรติยศสำหรับพลเรือนสูงสุดอันดับสี่ของอินเดีย คือรางวัล ปัทมศรี (Padma Shri) ในปี 2018

เจนไนเป็นหนึ่งในเมืองแรก ๆ ของโลกที่ปรับเทคโนโลยีครั้งใหญ่เมื่อเทศบาลสางแผนสร้างถนนพลาสติก 1,000 กม. ในปี 2004 ถนนพลาสติกเส้นแรกในรัฐทมิฬนาฑูสร้างขึ้นที่หมู่บ้านกัมไบนัลลูร์ เมืองปัญจยัต เขตธรรมปุรี ตามแนวทางของหัวหน้าคณะรัฐมนตรีในขณะนั้น ตั้งแต่นั้นมาเทศบาลใหญ่ ๆ ทั้งหมดในอินเดียก็ได้ทดลองใช้เทคโนโลยีนี้ เช่น ปูเน มุมไบ สุราษฎร์ อินดอร์ เดลี ลัคเนา เป็นต้น

ปัจจุบันข้อมูลจากเดือน ธ.ค. 2019 อินเดียได้สร้างถนนระยะทาง 33,796 กม. โดยใช้ขยะพลาสติก ซึ่งหมายความว่าทุก ๆ 1 กม. ถนนใช้พลาสติกหนึ่งล้านใบ เทคโนโลยียังไปถึงในพื้นที่ห่างไกล เช่น ในรัฐเมฆาลัยที่อยู่บนภูเขาสูงและไกลสุดทางตะวันออกของประเทศ มีหมู่บ้านแห่งหนึ่งแปลงขยะพลาสติก 430 กิโลกรัมเป็นถนนยาว 1 กิโลเมตรในปี 2018

ในเส้นทางที่สร้างจากพลาสติกเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นเส้นทางรอง และมีการสร้างทางหลวงแผ่นดินเพียง 703 กม. โดยใช้ถนนพลาสติก แต่กระทรวงคมนาคมและทางหลวงได้ออกแนวทางบังคับการใช้ขยะพลาสติกในการซ่อมถนนโดยเฉพาะทางหลวงแผ่นดินภายในระยะ 50 กม. ของเขตเมืองที่มีประชากรมากกว่า 5 แสนคน  

ข้อมูลจาก

  • Thiagarajan, Kamala (9 July 2018). “The man who paves India’s roads with old plastic”. The Guardian. Retrieved 3 July 2020
  • “Plastic Man – R Vasudevan creates 5000 Kms of Eco-Friendly Road from Plastic Waste : Plastindia Foundation”. plastindia.org. Retrieved 23 October 2019.
  • “India has built 21,000 miles of road ways using plastic waste”. 20 December 2019.
  • “All The Cities in India That Use Plastic Waste to Construct Roads – Lucknow, Chennai, Pune and More”. News18. 17 June 2019. Retrieved 23 October 2019.

ภาพ Maksym Kozlenko /wikipedia

Related posts

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย