20 เมืองอินเดียสูด PM2.5 อ่วมรัฐลุยโครงการอากาศสะอาด

ในรายงานคุณภาพอากาศโลกประจำปี 2562 ของ IQAir AirVisual ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันยอดนิยมในการตรวจสอบคุณภาพอากาศพบว่า เมืองที่มีมลพิษทางอากาศเลวร้ายที่สุดในโลก 30 อันดับแรก อยู่ในประเทศอินเดียถึง 20 เมือง และในจำนวน 20 เมืองนี้มี 6 เมืองที่ติดท็อป 10 มลภาวะทางอากาศที่แย่ที่สุดในโลก

ในบรรดาเมืองของอินเดียเหล่านี้ เมืองที่มีสถานการณ์เลวร้ายที่สุดคือ กาเซียบาด (Ghaziabad) ซึ่งเป็นเมืองบริวารของเมืองหลวงนิวเดลีทางตอนเหนือของรัฐอุตตรประเทศ กาเซียบาดได้รับการจัดอันดับให้เป็นเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลกโดยมีการวัดค่าความเข้มข้นของ PM2.5 เฉลี่ยอยู่ที่ 110.2 ในปี 2562 ซึ่งสูงกว่าระดับที่สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐกำหนดว่าเป็นระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมากกว่าเก้าเท่า

ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับอันตรายของ PM2.5 กันก่อน พวกมันคืออนุภาคขนาดเล็กประกอบด้วยสารมลพิษ เช่น ซัลเฟตไนเตรตและคาร์บอนดำ มีเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่า 2.5 ไมโครเมตรซึ่งถือว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่งเนื่องจากมีขนาดเล็กพอที่จะเข้าไปในปอด ระบบหัวใจและหลอดเลือดได้ลึก การสัมผัสกับอนุภาคดังกล่าวเชื่อมโยงกับความผิดปกติของปอดและหัวใจและอาจทำให้การทำงานของระบบการรับรู้และภูมิคุ้มกันลดลง

ในแง่ของการจัดอันดับทั้งประเทศแล้ว อินเดียทั้งประเทศยังไม่อยู่ในตำแหน่งเลวร้ายที่สุดในโลก จากการตรวจสอบโดย IQAir AirVisual พบว่า ประเทศที่มีสภาพอากาศเลวร้ายที่สุดในโลก หรือในระดับ Unhealthy (ไม่ดีต่อสุขภาพ) อันดับที่ 1 คือ บังกลาเทศ (ค่า PM2.5 อยู่ที่ 83.3) อันดับที่ 2 คือปากีสถาน (65.8) อันดับที่ 3 คือมองโกเลีย (62) อันดับที่ 4 คือ อัฟกานิสถาน (58.8) และอันดับที่ 5 คืออินเดีย (58.1) ทั้ง 5 ประเทศนี้มีอยู่ 4 ประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียใต้และเป็นเพื่อนบ้านของอินเดียเกือบทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าอินเดียจะไม่ได้ติดอันดับที่ 1 ของสภาพอากาศที่เลวร้ายที่สุดแต่ถูกแวดล้อมด้วยเพื่อนบ้านที่มีอากาศเลวร้ายที่สุดท็อป 5 ของโลก และเราต้องไม่ลืมว่าอากาศสามารถถ่ายเทไปยังดินแดนใกล้เคียงได้ตามการหมุนเวียนของกระแสลม ยังไม่ต้องพูดถึงสถานการณ์ในอินเดียเองที่หากจะแยกวัดกันตามเมืองแล้ว มีสภาพอากาศเลวร้ายระดับท็อป 10 ของโลก และเมื่อวัดกันในหมู่เมืองหลวง กรุงนิวเดลียังเป็นเมืองหลวงที่มีมลภาวะทางอากาศแย่ที่สุดโลกด้วย ดังนั้นไม่ว่าจะวัดกันแบบไหนอินเดียก็ยังถือว่าเลวร้ายกว่าประเทศไหนๆ อยู่ดี

สาเหตุอะไรที่ทำให้เมืองในอินเดียมีสถานการณ์ PM2.5 ที่เลวร้ายที่สุดในโลก?

ต้นเหตุของ PM2.5 มีเหมือนกันทุกๆ ประเทศ คือการปล่อยมลพิษจากการขนส่ง การเผาชีวมวล (เช่น ฟืน) เพื่อประกอบอาหารในครัวเรือน การเผาในการเกษตรแบบเปิด การเผาไหม้จากอุตสาหกรรมและการเผาไหม้ของถ่านหินเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และยังรวมถึงฝุ่นจากการก่อสร้างด้วย เช่น กรณีเมืองกาเซียบาดซึ่งมีการเจริญเติบโตที่รวดเร็วมากทำให้เกิดการก่อสร้างไปทั่วเมืองจนมีจุดหนึ่ง (เช่น ในปี 2554) เมืองกาเซียบาดกลายเป็นเมืองที่เจริญเติบโตเร็วที่สุดอันดับที่ 2 ของโลก

พอถึงปี 2562 สถานการณ์ฝุ่นของกาเซียบาดก็ยังไม่ได้ดีขึ้น คณะกรรมการควบคุมมลพิษกลาง (CPCB) ของอินเดียได้ระบุว่า การจราจรติดขัดและฝุ่นละออง (dust) เป็นปัจจัยหลักที่อยู่เบื้องหลังระดับมลพิษทางอากาศที่เพิ่มสูงขึ้นในกาเซียบาด เบื้องต้นในช่วงปลายปี 2562 เทศบาลเมืองกาเซียบาดต้องใช้วิธีพรมน้ำตามถนนความยาว 90 กิโลเมตรภายในเขตเทศบาลของเมืองและใช้วิธีกวาดด้วยเครื่องจักรไปตามความยาวอีก 106 กิโลเมตร

เมื่อปี 2562 กาเซียบาดมีสภาพมลพิษทางอากาศที่รุนแรงมากจนต้องปิดโรงเรียนเป็นการชั่วคราว สถานการณ์แบบเดียวกันนี้ยังเกิดขึ้นทั่วไปในอินเดียตอนเหนือใกล้ๆ กับกรุงนิวเดลี ในกรุงนิวเดลีประสบปัญหามลพิษทางอากาศที่เป็นอันตรายยาวนานที่สุดในช่วงปลายเดือนตุลาคมและต้นเดือนพฤศจิกายน 2562 สถานการณ์ที่เลวร้ายทำให้รัฐบาลต้องประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข สั่งปิดโรงเรียนชั่วคราวและหยุดกิจกรรมก่อสร้างในช่วงกลางคืน

แต่สาเหตุของ PM2.5 ในนิวเดลีต่างจากกาเซียบาดเล็กน้อย เพราะนอกจากมาจากการจราจรที่ติดขัดแล้วยังมาจากการที่ประชาชนจำนวนมหาศาลในเมืองหลวงเผาฟืนเพื่อทำครัว ให้ความอบอุ่น หรือแม้แต่การเผาศพในที่แจ้งซึ่งเป็นพิธีการทำศพที่นิยมกันในอินเดียตามหลักศาสนาฮินดู จากข้อมูลของทางการอินเดียพบว่าการเผาศพๆ หนึ่งต้องใช้ฟืนมากถึง 450 กิโลกรัมและทำให้เกิดมลภาวะเป็นจำนวนมาก

ส่วนใหญ่ของการเผาไหม้รายย่อยในนิวเดลีมาจากการเผาพื้นที่เกษตร โดยประมาณ 46% ของปริมาณมลพิษ PM2.5 ในนิวเดลีซึ่งสูงที่สุดในฤดูกาลปี 2562 มาจากการเผาตอซังพืชในรัฐใกล้เคียง ตอกย้ำว่าแม้พื้นที่ที่มีมลภาวะรุนแรงจะไม่ได้เป็นตัวก่อมลพิษโดยตรง แต่กระแสลมและปัจจัยอื่นๆ นำเอามลพิษจากบริเวณใกล้เคียงเข้ามา เมื่อมลพิษเดินทางมาถึงนิวเดลีมันจะค้างอยู่ในพื้นที่นั้นหากไม่มีกระแสลมพัดพาต่อไปยังพื้นที่อื่นๆ อีก ผลก็คือเมื่อปี 2562 นิวเดลีจึงกลายเป็นเมืองหลวงที่สภาพอากาศเลวร้ายที่สุดในโลก

สถานการณ์ที่เลวร้ายนี้แม้แต่ฝ่ายตุลาการก็รับไม่ได้ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2562 ศาลฎีกาได้ตำหนิรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นของรัฐต่างๆ อย่างหนักเนื่องจากไม่สามารถควบคุมการเผาตอซังในปัญจาบและรัฐหรยาณาและทำให้มลพิษทางอากาศในเดลีเลวร้ายอย่างมาก โดยศาลฎีกาถามรัฐบาลว่าพวกเขารู้สึกละอายใจหรือไม่ที่ประชาชนไม่ปลอดภัยอีกต่อไปแม้จะอยู่ในบ้าน

“คุณไม่รู้สึกละอายใจหรือที่เที่ยวบินถูกเปลี่ยนเส้นทางและประชาชนไม่ปลอดภัยแม้จะอยู่ในบ้านก็ตาม” ศาลฎีกากล่าวและบอกว่า “เราต้องให้รัฐบาลรับผิดชอบในเรื่องนี้เราคาดหวังมากขึ้นจากรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยของประเทศ ที่จะจัดการกับปัญหาการเผาตอซังและควบคุมมลพิษ”

หลังจากเผชิญกับแรงกดดันจากภาคประชาสังคมและฝ่ายตุลาการในที่สุดเมื่อปี 2562 รัฐบาลอินเดียก็เริ่มขยับด้วยการเปิดตัวโครงการ National Clean Air Program (NCAP) แห่งแรกของประเทศซึ่งมีเป้าหมายเพื่อลด PM2.5 และฝุ่นละออง PM10 ซึ่งเป็นมลพิษทางอากาศที่ใหญ่กว่าใน 102 เมืองให้ได้ 20-30% ภายในปี 2567 เมื่อเทียบกับปี 2560

อ้างอิง
• Regan, Helen. “21 of the world’s 30 cities with the worst air pollution are in India”. CNN. (Febuary 25, 2020)
• “Traffic Congestion, Dust Making Ghaziabad Most Polluted City in India”. NEWS 18. (November 1, 2019)
• Tripathi, Shibu. “Delhi most polluted capital, India has 21 of top 30 worst AQI ranked cities”. Business Standard. (Febuary 25, 2020)
• Mohan, Vishwa. “Delhi air pollution: Smaller sources add up to 11% of PM2.5 emission”. TNN. (November 17, 2019)
• Nandi, Jayashree. “Stubble-burning contributes to 46% of Delhi’s PM2.5 load”. Hindustan Times. (November 2, 2019)
• Mathur, Aneesha. “Aren’t you ashamed sitting in ivory towers letting people die: SC to govts on Delhi air pollution”. India Today. (November 6, 2019)

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

ชุบชีวิต ‘ขยะทะเล’ เพิ่มมูลค่า ชุมชนยั่งยืน ลดโลกร้อน