มีอะไรอยู่ใน “ป่าแอมะซอน”

แหล่งผลิตออกซิเจนของโลก

ป่าฝนแอมะซอนถูกขนานนามว่าเป็น “ปอดของโลก” เพราะผลิตออกซิเจนมากกว่า 20 % ของทั้งโลก ทั้งยังช่วยกำจัดคาร์บอนจำนวนมหาศาลออกจากชั้นบรรยากาศซึ่งสามารถช่วยชะลอภาวะโลกร้อนให้มนุษย์เราได้

Fernando Espírito-Santo นักวิจัย Jet Propulsion Lab ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ (นาซ่า) ค้นพบว่า ต้นไม้ในแอมะซอนสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 2,200 ล้านตัน/ปี แต่เหตุการณ์การลุกลามของไฟป่าครั้งนี้กำลังจะเปลี่ยนสถานะแอมะซอน จากแหล่งกักเก็บคาร์บอนเป็นแหล่งปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์แทน

ปริมาณน้ำฝน

นักวิทยาศาสตร์ ระบุว่า การทำลายป่าแอมะซอนกำลังทำให้ความสามารถในการสร้างปริมาณน้ำฝนของแอมะซอนที่ได้ชื่อว่าเป็น “ป่าฝน” ลดลง และในไม่ช้าทุ่งหญ้าสะวันนาจะเข้ามาแทนที่ป่าฝนแห่งนี้

Deborah Lawrence นักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยจอเจียร์ พบว่าการเปลี่ยนความชื้นของป่าแอมะซอนไปสู่ความแห้งแล้งที่มีอุณหภูมิสูง ส่งผลให้สหราชอาณาจักรและหมู่เกาะฮาวายจะมีปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ปริมาณน้ำฝนในภาคตะวันตกของสหรัฐอเมริกาและตอนใต้ของฝรั่งเศสจะลดลง

ภาคการเกษตรที่ต้องพึ่งพิงปริมาณและฤดูกาลของฝน อาจได้รับผลกระทบโดยตรงจากการผันผวนของปริมาณน้ำฝน และช่วงเวลาของฤดูฝน และถึงแม้เกษตรกรจะปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้ แต่ในท้ายที่สุดมันคงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะปรับตัวให้เข้าสภาพดินที่แตกระแหงจากความแห้งแล้ง หรือภาวะน้ำท่วมยาวนาน

บ้านของชนเผ่าพื้นเมือง

การสูญเสียป่าแอมะซอนในครั้งนี้หมายถึงการสูญเสียที่อยู่อาศัยชนเผ่าต่างๆ 420 ชนเผ่า ซึ่งพวกเขาเรียกแอมะซอนแห่งนี้ว่า “บ้าน”

มนุษย์เข้าไปอาศัยในลุ่มน้ำแอมะซอนอย่างน้อย 11,000 ปีมาแล้ว ทุกวันนี้มีผู้คนอาศัยอยู่ประมาณ 34 ล้านคน ในจำนวนนั้น 2 ใน 3 อาศัยอยู่ในเมือง และมีอีกประมาณ 3 ล้านคนที่เป็นชนเผ่าอิสระ โดยคนเหล่านั้นเป็นสมาชิกของชนเผ่าต่างๆ 420 เผ่า ในจำนวนดังกล่าวมี 60 เผ่าที่แยกตัวอย่างเป็นอิสระ ซึ่งชนเผ่าในลุ่มน้ำอเมซอนนั้นพูดได้ 86 ภาษา และภาษาถิ่นอีก 650 ภาษา

ข้อมูลจากเซอร์ไววัลอินเตอร์เนชันนัล (Survival International) องค์กรพิทักษ์ชนเผ่า ระบุว่า ชนเผ่ากลุ่มใหญ่ที่สุดในอเมซอนคือเผ่าทิกูนา (Tikuna) โดยมีสมาชิก 40,000 คน ซึ่งอาศัยอยู่ในบราซิล เปรู โคลอมเบีย

นานาพรรณพืช

นอกจากสูญเสียต้นไม้ที่ทำหน้าที่ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว ยังมีพืชประมาณ 40,000 ชนิด ในแอมะซอนส่งผลกระทบต่อผู้คนทั่วโลกในรูปแบบแตกต่างกันไป เพราะป่าฝนแห่งนี้คือแหล่งผลิตอาหารมากมายอย่างที่เราคุ้นเคยกันดี เช่น กล้วย, ส้ม, อะโวคาโด, เม็ดมะม่วงหิมพานต์, ถั่วบราซิล, วนิลลา, น้ำตาลและกาแฟ

ที่อยู่สรรพสัตว์นานาชนิด

องค์การสนธิสัญญาปกป้องอเมซอน (Amazon Cooperation Treaty Organization: ACTO) ระบุว่า มีพืชที่ได้รับการจำแนกราวๆ 30,000 ชนิด ปลา 2,500 ชนิด นก 1,500 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 500 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 550 ชนิด และแมลงอีก 2.5 ล้านชนิด และในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีสิ่งมีชีวิตสปีชีส์ใหม่ทั้งพืชและสัตว์มีกระดูกสันหลังได้รับการค้นพบอีกประมาณ 2,200 ชนิด

ในขณะที่ National Geographic ระบุว่าประมาณครึ่งหนึ่งของสิ่งมีชีวิตหลายล้านชนิดที่อาศัยอยู่ในแอมะซอนยังไม่ได้รับการจัดหมวดหมู่

Sloth

ยารักษาโรค

ยาแผนปัจจุบันนับไม่ถ้วนมีต้นกำเนิดจากป่าฝน โดยเฉพาะอเมซอน รวมถึงยารักษามะเร็งชนิดหนึ่งที่ได้ที่ได้รับการวิจัยและพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพใช้รักษาได้และยาอีกชนิดหนึ่งที่ได้รับการศึกษาเพื่อรักษาโรค HIV ก็มีแหล่งที่มาจากในป่าฝนแอมะซอนด้วยเช่นกัน

คุณูปการจากผืนป่าแอมะซอนอนที่มีคุณค่ามากมายและหลากหลายอย่างมหาศาลนี้ หากถูกเผาวอดวายไปหลายล้านตารางกิโลเมตรย่อมจะส่งผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์ทั่วทุกมุมโลก…ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ที่มา

https://www.livescience.com/44235-amazon-rainforest-carbon-cycle-measured.html

https://www.thedailybeast.com/rainforests-are-fast-becoming-a-laboratory-for-cancer-drugs

https://www.drugbank.ca/drugs/DB04886

http://wwf.panda.org/knowledge_hub/where_we_work/amazon/about_the_amazon/

https://www.nationalgeographic.com/environment/habitats/rain-forests/

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

ชุบชีวิต ‘ขยะทะเล’ เพิ่มมูลค่า ชุมชนยั่งยืน ลดโลกร้อน