ไทยยกระดับคุณภาพอากาศ 37.5 มคก./ลบ.ม. เทียบเท่าอเมริกา ยุโรป เริ่มบังคับใช้ 1 มิ.ย. 66

ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2566 ประเทศไทยจะปรับค่าเฉลี่ยมาตรฐานฝุ่น PM2.5 ราย 24 ชั่วโมงใหม่ จากเดิมอยู่ที่ 50 มคก./ลบ.ม. ลดลงเป็น 37.5 มคก./ลบ.ม.และค่าเฉลี่ยรายปีจากเดิม 25 มคก./ลบ.ม. ปรับลดลงเป็น 15 มคก./ลบ.ม. โดยจะมีผลบังคับใช้หลังลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรืออีกประมาณ 2-3 เดือนนี้

เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2565 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า ภายหลังคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติกำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ใหม่ จากค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ปรับลดลงเป็น 37.5 มคก./ลบ.ม. และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิ.ย. 2566

และค่าเฉลี่ยรายปีจากเดิม 25 มคก./ลบ.ม. ปรับลดลงเป็น 15 มคก./ลบ.ม. โดยจะมีผลบังคับใช้ในทันทีนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งคาดว่าอีกประมาณ 2-3 เดือนนี้

การปรับปรุงค่ามาตรฐานดังกล่าว เนื่องจากมีการใช้ค่ามาตรฐานมานานกว่า 10 ปี จึงควรปรับปรุงให้มีความเข้มข้นและเหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อเป็นเกณฑ์ทั่วไปสำหรับการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแหง่ชาติ พ.ศ.2535 ซึ่งถือเป็นการยกระดับมาตรฐานคุณภาพอากาศของประเทศ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และให้เทียบเท่าอยู่ในกลุ่มเดียวกับประเทศสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และประเทศกลุ่มอาเซียน ลำดับต้น ๆ ได้แก่ สิงค์โปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน

สำหรับค่าเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมง ที่กำหนดให้ลดลงเหลือ 37.5 มคก./ลบ.ม. นั้นหลังจากนี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ซึ่งต้องดำเนินการกันอย่างเข้มข้น เพื่อให้ค่าฝุ่น PM2.5 เหลือตามค่ามาตรฐาน 37.5 มคก./ลบ.ม. ซึ่งจะเป็นการเพิ่มระดับการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน โดยคำนึงถึงความก้าวหน้าในทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและความเปลี่ยนแปลงในทางเศรษฐกิจและสังคม

นอกจากนี้ อธิบดี คพ.ได้เป็นประธานและร่วมลงนามการดำเนินงานโครงการศึกษาประสิทธิผลของการติดตั้งอุปกรณ์บำบัดไอเสียรถยนต์สำหรับรถยนต์ดีเซลขนาดใหญ่ใช้งานเพื่อการพาณิชย์ เพื่อลดมลพิษทางอากาศ ร่วมกับกองทัพเรือ โดยกรมการขนส่งทหารเรือ กรมการขนส่งทางบก องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ บริษัท สามมิตร กรีนพาวเวอร์ จำกัด บริษัท Eminox Ltd บริษัท เอสซีจี โลจิสติกส์ จำกัด และบริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด

ทั้งนี้ เพื่อการทดสอบประสิทธิภาพของ Diesel Particulate Filter (DPF) ของรถยนต์ดีเซล และเป็นข้อมูลประกอบการกำหนดมาตรการเชิงนโยบายในการแก้ไขปัญหามลพิษจากรถยนต์ดีเซลในประเทศ ซึ่งกลุ่มรถยนต์ดีเซลที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 15 ปี มีจำนวนมากถึงร้อยละ 60 ของรถยนต์ดีเซลที่ใช้งานในประเทศ

สำหรับอุปกรณ์ DPF เป็นเทคโนโลยีสำหรับกรองฝุ่นละอองจากไอเสียรถยนต์มาตรฐานยูโร 5 และยูโร 6 ได้ถึงร้อยละ 90 รวมถึงทดสอบกับรถยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีเก่ากว่า 10 – 15 ปี ซึ่งพบว่ามีประสิทธิภาพเป็นที่น่าพอใจ โดยหากมีการกำหนดมาตรฐานไอเสียรถยนต์ใหม่เป็นยูโร 5 และยูโร 6 จะทำให้ฝุ่น PM2.5 ลดลงไปได้ถึง 75%

Related posts

‘เฉลิมชัย’ นำทีมไทยถก COP29 นำเสนอ 5 ประเด็นลดก๊าซ 222 ล้านตัน

ค่าฝุ่นปากีสถานทะลุ 1,900 รั้งอันดับโลก อ้างพัดข้ามพรมแดนจากอินเดีย

โลกจมกองพลาสติก ต้องเปลี่ยนวิธีผลิต ลดการบริโภค กำจัดอย่างยั่งยืน