นี่มันบ้าไปแล้ว!หน้าหนาวอะแลสการ้อนทุบสถิติ

สำหรับคนไทยทั่วไปอุณหภูมิ 19.4 องศาเซลเซียสถือว่าหนาวมากแล้ว แต่สำหรับดินแดนใกล้ขั้วโลกเหนืออย่างอะแลสกา อุณภูมิขนาดนี้ในฤดูหนาวแบบนี้ ต้องถือว่าเป็นสัญญาณของหายนะเลยทีเดียว

สถิติที่น่าตกใจนี้เกิดขึ้นเมื่อเกิดภาวะอากาศอบอุ่นในฤดูหนาวที่ไม่ปกติในอะแลสกา ทำให้อุณหภูมิในตอนกลางวันพุ่งสูงกว่า 15.5 องศาเซลเซียส และมีฝนตกหนักซึ่งปกติแล้วมันควรจะมีอากาศหนาวเย็น และมีหิมะตกต่างหาก

ที่ชุมชนเกาะโคไดแอก อุณหภูมิวัดได้ที่ 19.4 องศาเซลเซียสในวันอาทิตย์ ถือเป็นสถิติสูงสุดในเดือนธันวาคมที่เคยบันทึกไว้ในอะแลสกา นักวิทยาศาสตร์ถึงกับบอกว่า “นี่มันบ้าไปแล้ว”

ตามปกติแล้วเดือนธันวาคมจะเป็นเดือนที่อากาศแห้ง และหนาวจัด อย่างที่เรารู้ ๆ กันว่าอะแลสกาหนาวแค่ไหนในช่วงฤดูหนาว แต่ตอนนี้มันมีอุณภูมิเท่ากับฤดูร้อนในซีกโลกเหนือทั่ว ๆ ไป แถมยังมีฝนตกหนักด้วย

เทียบกันชัด ๆ ให้เห็นเลยว่า ตามปกติแล้วอุณหภูมเฉลี่ยวัน ๆ หนึ่งในเดือนธันวาคมที่โคไดแอกที่อยู่ใต้ลงมาจากอะแลสกาแผ่นดินใหญ่ จะต้องติดลบถึง 0.4 องศาเซลเซียส และเฉลี่ยอุณหภูมิที่ “อุ่นที่สุด” ในช่วงนี้จะอยู่ที่ 2.3 องศาเซลเซียส ซึ่งหนาวสุด ๆ อยู่ดี

เรื่องนี้ยังไม่เกี่ยวกับความร้อนของแสงอาทิตย์ เพราะอะแลสกาได้รับแสงแดดเพียงเล็กน้อยในช่วงเวลานี้ของปี ดวงอาทิตย์อยู่เหนือขอบฟ้าประมาณ 6 ชั่วโมงต่อวันในเมืองโคไดแอกในช่วงปลายเดือนธันวาคม โดยขึ้นประมาณ 10.00 น. และตกหลัง 16.00 น.

และอากาศที่แห้ง และหนาวจัดจะทำให้ตามปกติแล้ว เมื่อมีความชื้นมันจะตกลงมาเป็นหิมะ แต่ตอนนี้มันกลายเป็นฝนตกหนัก เพราะสภาพอากาศไม่หนาวขนาดนั้น ผลคือฝนและหิมะผสมกันกลายเป็นโคลนแข็งที่อันตราย

สภาพอากาศสุดขั้วทำให้ทางการต้องเตือนให้ระวัง “ไอซ์มาเกดดอน” (Icemageddon) เนื่องจากฝนตกหนักและหิมะทำให้น้ำแข็งแข็งพอ ๆ กับซีเมนต์ที่เคลือบถนน และจะอยู่แบบนี้ไปจนถึงเดือนเมษายนปีหน้า

นี่อาจเป็นสัญญาณอันตรายที่มาเร็วก่อนคาด ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนที่แล้วในวารสาร Nature Communications คาดการณ์ว่าสภาพอากาศในอาร์กติกจะมีฝนตกชุกมากกว่าหิมะในช่วงปี 2060 หรือ 2070

ริก ทอแมน จากศูนย์การประเมินและนโยบายสภาพภูมิอากาศอะแลสก้าบอกกับ BBC ว่า การระเบิดขึ้นมาของอุณหภูมิที่อุ่นจัดและเย็นจัดในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาเป็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ในขณะที่แบรนดอน มิลเลอร์ นักอุตุนิยมวิทยาของ CNN บอกว่า เราจะเริ่มชินชากับอุณหภูมิสภาพอากาศสุดขั้วที่ ‘ไม่เคยเห็นมาก่อน’ เหล่านี้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก

แต่เขาบอกว่า ในและรอบ ๆ อาร์กติกยิ่งจะเจอหนัก เพราะอุณหภูมิได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับส่วนอื่น ๆ ของโลก และตอนนี้เราเห็นมันชัดขึ้นแล้ว แม้แต่ในวันส่งท้ายของปี 2564

ข้อมูลจาก
• “Alaska sets record high December temperature of 19.4C”. (29 Dec 2021). Reuters.
• “Alaska ‘Icemageddon’ warning follows heat record”. (29 Dec 2021). BBC.
• “67-degree day in Kodiak, Alaska, sets new statewide temperature record”. (29 Dec 2021). Jennifer Gray. CNN.

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

5 ปีอุณภูมิโลกส่อทะลุ 1.5 องศา ไทยเร่งรับมือ 6 สาขาเสี่ยงระดับพื้นที่