ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยสะโตน
สูญเสียพื้นที่ป่าอย่างถาวร 4,753 ไร่

by IGreen Editor

โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยสะโตน อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว ซึ่งดำเนินการโดยกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะส่งผลให้มีพื้นที่น้ำท่วมสูงสุดประมาณ 4,212 ไร่ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติตาพระยา มีพื้นที่ 0.37 ล้าน ไร่ และพื้นที่มรดกโลกผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ มีพื้นที่รวม 3.85 ล้าน ไร่

รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการ ซึ่ง iGreen นำมาเสนอในรายละเอียดพบว่า ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่สำคัญในระยะก่อสร้าง คือ สูญเสียพื้นที่ป่าทั้งหมดของบริเวณพื้นที่อ่างเก็บน้ำ 4,212 ไร่ พื้นที่หัวงานและอาคารประกอบ 452 ไร่ พื้นที่ถนนเข้าหัวงาน 70 ไร่ และแนวท่อส่งน้ำ 19 ไร่ทั้งหมดเป็นพื้นที่รวม 4,753 ไร่

อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานระบุว่า พื้นที่น้ำท่วมที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยสะโตน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.07 ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติตาพระยา และคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.10 ของพื้นที่มรดกโลกผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ โดยรายงานการประเมินได้เสนอแนะให้มีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดความจุ 22.3 ล้าน ลบ.ม. เพราะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด

สำหรับผลกระทบด้านต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น ผลกระทบต่อระบบนิเวศป่าไม้ การเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ป่าเป็นอ่างเก็บน้ำทำให้ระบบนิเวศเดิมซึ่งเป็นสังคมพืชป่าไม้ถูกทำลายลงซึ่งกล่าวได้ว่าก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพสังคมป่าที่กำลังฟื้นตัวไปเป็นพื้นที่ป่าไม้ที่สมบูรณ์ทางด้านลบในระดับที่ค่อนข้างรุนแรง แต่ในพื้นที่โครงการไม่มีพืชพรรณชนิดใดที่เป็นพืชหายากหรือเป็นพืชที่อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ ดังนั้นผลกระทบต่อแหล่งพันธุกรรมของพรรณไม้ที่หายากและใกล้สูญพันธุ์อยู่ในระดับต่ำ

อย่างไรก็ดี โครงการนี้อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ที่สำคัญในระดับนานาชาติ คืออุทยานแห่งชาติตาพระยาและพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ ซึ่งมีเป้าหมายในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเข้มข้น ดังนั้นผลกระทบต่อพื้นที่อนุรักษ์ทางด้านลบอยู่ในระดับสูงมาก การดำเนินโครงการอาจมีผลกระทบในการลักลอบตัดไม้ การเก็บหาของป่า และรวมทั้งการลักลอบล่สัตว์ป่าของคนงานก่อสร้างซึ่งประเมินได้ว่าจะต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นผลกระทบต่อการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่หวงห้ามจึงอยู่ในระดับสูง

ในระยะดำเนินการ การมีอ่างเก็บน้ำทำให้ระดับความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศในพื้นที่โดยรอบอ่างเก็บน้ำสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อการเจริญเติบโตของสังคมพืชป่าไม้โดยรอบพื้นที่อ่างเก็บน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูร้อน หรือในช่วงฝนทิ้งช่วงซึ่งเป็นผลกระทบด้านบวก และการมีอ่างเก็บน้ำช่วยบรรเทาอุทกภัยในช่วงฤดูน้ำหลากและช่วยให้มีน้ำใช้ในฤดูแล้ง โดยเฉพาะกิจกรรมการอนุรักษ์ เช่น การเพาะกล้าไม้ การดับไฟป่า และเป็นหล่งน้ำของสัตว์ป่า

ในระยะก่อสร้างคาดว่ากระทบสัตว์ป่า ประกอบด้วย กลุ่มสัตว์มีกระดูกสันหลัง 4 กลุ่ม คือสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 26 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 32 ชนิด นก 108 ชนิดและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 35 ชนิด รวมสัตว์ป่าที่สำรวจพบ 201 ชนิด ซึ่งในระยะการก่อสร้างคาดว่าสัตว์ป่าอาจจะได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 184 ชนิด โดยมีกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 31 ชนิด ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด ขณะที่ 153 ชนิด ได้รับผลกระทบแต่ไม่มาก และไม่ได้รับผลกระทบ 16 ชนิด และได้รับผลกระทบในระดับที่รุนแรงมากเกือบทุกชนิด

นอกจากนั้นระยะการก่อสร้างแม้จะไม่รบกวน แต่โครงการทำให้สูญเสียป่าธรรมชาติซึ่งเป็นใช้ประโยชน์ต่าง ๆ ของสัตว์ป่าอย่างถาวร เปลี่ยนเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่อย่างถาวรซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่าในระยะนี้ทั้งสิ้น 195 ชนิด โดย 139 ชนิดได้รับผลกระทบทางบวก ส่วนอีก 56 ชนิดได้รับผลกระทบทางลบและมีชนิดที่ไม่ได้รับผลกระทบ 6 ชนิด ขณะที่ 31 ชนิดรับผลกระทบรุนแรงมากที่สุด

นอกจากทรัพยากรป่าไม้ที่จะได้รับผลกระทบข้างต้นแล้วโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยสะโตนยังมีผลต่อนิเวศวิทยาทางน้ำ ทรัพยากรประมง และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยเฉพาะในระยะดำเนินการในทางบวกจะทำให้สัตว์น้ำเพื่มขึ้น 2 เท่าของผลผลิตในโครงการหรือเพิ่มขึ้น 11.2 กก.ต่อไร่ แต่ก็จะทำให้ความหลากหลายของปลาและสัตว์น้ำลดลง และทางลบจะทำให้ปลาไม่สามารถขึ้นไปวางไข่เหนือน้ำได้

ผลกระทบที่มีต่อการจัดการอุทยาน ในระยะก่อสร้างจะสูญเสียป่าในเขตอุทยานแห่งชาติตาพระยาประมาณ 4,212 ไร่ เป็นการสูญเสียอย่างถาวรและพื้นที่ดังกล่าวส่วนใหญ่อยู่ในเขตสงวนธรรมชาติ และเขตฟื้นฟูธรรมชาติอีกทั้งอยู่ในเขตพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ จึงประเมินว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นผลกระทบทางลบระดับรุนแรง แต่เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จจะได้แหล่งน้ำแห่งใหม่สำหรับสัตว์ป่าในระยะยาว อุทยานฯ สามารถใช้เป็นแหล่งส่งเสริมการท่องเที่ยว, สามารถเป็นเส้นทางเพื่อการลาดตระเวนรักษาผืนป่าจากการบุกรุกและทำลายทรัพยากรในเขตอุทยาน

ในแง่การใช้ที่ดินเมื่อถูกนำมาก่อสร้างอ่างเก็บน้ำพื้นที่ป่าส่วนใหญ่จะถูกน้ำท่วมอย่างถาวรซึ่งเป็นผลกระทบทางลบในระดับรุนแรง แต่อย่างไรก็ตามในแง่การบริหารจัดการน้ำชลประทานรายงานฉบับนี้ระบุว่า จะเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ ประกอบด้วย 1) พื้นที่เพราะปลูกจากฝายเดิม 9,300 ไร่ ซึ่งก่อนมีโครงการสามารถสามารถให้ผลผลิตเพียงร้อยละ 0.67 ของพื้นที่เท่านั้น 2) ฝายใหม่ 4 แห่งจำนวน 1750 ไร่ 3) พื้นที่ชลประทานระบบคลองส่งน้ำท้ายอ่าง 8,500 ไร่ ซึ่งเดิมพึ่งพาฝนที่ไม่มีความแน่นอน

และ 4) สามารถเพิ่มการปลูกพืชผักได้ในช่วงฤดูแล้งได้อีกร้อยละ 5 หรือประมาณ 977 ไร่ ดังนั้นโดยรวมแล้วการพัฒนาโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยสะโตนจะเป็นผลกระทบทางบวกต่อการใช้น้ำในระดับมากโดยเฉพาะพื้นที่เกษตรฤดูฝนทิ้งช่วงและฤดูแล้ง ฯลฯ

โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยสะโตนกำหนดวงเงินลงทุนไว้ประมาณ 985 ล้าน บาท แบ่งออกเป็น 1) เขื่อนหัวงานและอาคารประกอบ 612 ล้าน บาท 2) ระบบชลประทาน 69 ล้าน บาท 3) ฝายทดน้ำ 4 แห่ง 128 ล้านบาท 4) ค่าชดเชยทรัพย์สิน 36 ล้าน บาท และ 5) แผนงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อม 140 ล้านบาท โดยใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 8 ปี แบ่งเป็นขั้นเตรียมการก่อสร้าง 4 ปี และขั้นก่อสร้าง อีก 4 ปี

รายงานอีไอเอระบุว่า ผลสัมฤทธิ์ของการพัฒนาโครงการนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ คิดเป็นอัตราผลตอบแทนภายใน (Internal Rate of Return: IRR) ร้อยละ 13.66 เพิ่มความมั่นคงทางด้านทรัพยากรน้้าให้พื้นที่ลุ่มน้ำห้วยสะโตน สามารถเก็บกักปริมาณน้ำได้กว่า 22.3 ล้าน ลบ.ม. และสามารถส่งน้ำให้พื้นที่เกษตรและชลประทานฤดูฝน 19,550 ไร่ ฤดูแล้ง 978 ไร่ ช่วยบรรเทาและลดความรุนแรงของน้ำท่วมในพื้นที่ได้ ช่วยให้ความเป็นอยู่ของราษฎรในพื้นที่ดีขึ้น เนื่องจากส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ที่ต้องอาศัยพึ่งพาทรัพยากรน้ำเป็นหลัก

ทั้งนี้ ความต้องการใช้น้ำจากลำห้วยสะโตน ส่วนใหญ่เป็นความต้องการใช้น้ำภาคการเกษตรโดยพบว่าในปัจจุบันมีฝายแก้มลิงในลำห้วยสะโตน 13 แห่ง มีพื้นที่รับประโยชน์รวมกันประมาณ 9,300 ไร่ ที่ต้องการใช้น้ำจากลำห้วยสะโตน ซึ่งคิดเป็นความต้องการใช้น้ำประมาณ 12 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี ส่วนความต้องการใช้น้ำจากลำห้วยสะโตนเพื่อการอุปโภค-บริโภค มีไม่มากนัก โดยมีความต้องการประมาณ 0.48 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี และความต้องการใช้น้ำเพื่อรักษาสมดุลระบบนิเวศด้านท้ายน้ำสำหรับลุ่มน้ำสาขาห้วยสะโตนประมาณ 1.26 ล้าน ลบ.ม.

ในอนาคตหากมีการพัฒนาโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยสะโตนเกิดขึ้นพร้อมทั้งแผนงานการสร้างฝายอีก 4 แห่งในลำห้วยสะโตน ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาระบบชลประทานเพิ่มขึ้นรวมทั้งสิ้น 10,205 ไร่ รวมพื้นที่รับประโยชน์ของฝายเดิม 13 แห่ง อีก 9,300 ไร่ จะทำให้มีความต้องการใช้น้ำเพื่อการเกษตรเพิ่มขึ้นเป็น 25 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี ส่วนความต้องการใช้น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค เพิ่มขึ้นเล็กน้อยประมาณ 0.65 ล้าน ลบ.ม. และการรักษาสมดุลระบบนิเวศด้านท้ายน้ำไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิม

ผลสำรวจสภาพแวดล้อมที่สำคัญในพื้นที่ศึกษาอ่างเก็บน้ำห้วยสะโตนที่สำคัญ มีดังนี้
1) ทรัพยากรป่าไม้ บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยสะโตน พบว่าสภาพโดยทั่วไปของป่าเป็นป่าที่กำลังฟื้นตัว (ป่ารุ่น2) ต่อมามีการปลูกป่าเพื่อการฟื้นฟู ซึ่งประเภทของป่าที่พบ เป็นประเภทป่าผสมผลัดใบ (mixed deciduous forest type, MDF) เป็นหลัก ครอบคลุมทั้งพื้นที่อ่างเก็บน้ำ ยกเว้นในบางบริเวณตามแนวริมห้วย พบว่า มีพรรณไม้ดั้งเดิมกระจายอยู่เป็นหย่อม ๆ พรรณพืชที่พบ มีจำนวน 156 ชนิด จำแนกเป็น พรรณไม้ยืนต้น (tree) 77 ชนิด ไม้พุ่ม (shrub) 12 ชนิด ไม้ล้มลุก (herb) 6 ชนิด พรรณไม้เลื้อย (climber) 12 ชนิดและพรรณอื่น ๆ อีก 49 ชนิด

ลักษณะทางนิเวศวิทยาของป่าเบญจพรรณบริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยสะโตน

  • ความหนาแน่น พบว่าพรรณไม้ในชั้นไม้ใหญ่ (tree) มีความหนาแน่นเฉลี่ยรวม 115.94 ต้นต่อไร่ ตะแบก มีความหนาแน่นเฉลี่ยสูงสุดเท่ากับ 27.51 ต้นต่อไร่
  • พรรณในชั้นลูกไม้ (sapling) มีความหนาแน่นเฉลี่ยรวม 822.74 ต้นต่อไร่ กระดูกค่าง มีความหนาแน่นเฉลี่ยสูงสุด 290.40 ต้นต่อไร่
  • พรรณไม้ในชั้นกล้าไม้ (seedling) มีความหนาแน่นเฉลี่ยรวม 2,731.43 ต้นต่อไร่ ตะแบก มีความหนาแน่นเฉลี่ยสูงสุด 268.57 ต้นต่อไร่

2) ชั้นคุณภาพลุ่มน้้า ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำในบริเวณพื้นที่โครงการ พบว่า พื้นที่โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 5 มีพื้นที่เท่ากับ 3,879 ไร่ มีพื้นที่เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 4 มีพื้นที่เท่ากับ 256 ไร่ สภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินปัจจุบันในพื้นที่โครงการเป็นพื้นที่ป่าไม้ ส่วนพื้นที่รับประโยชน์เป็นพื้นที่เกษตรกรรม โดยเฉพาะการทำนาข้าว

3) ทรัพยากรสัตว์ป่า สภาพของป่าในพื้นที่ตั้งโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยสะโตน เหมาะต่อการอยู่อาศัย ทำรัง วางไข่ของสัตว์ป่ากลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ทำให้พบจำนวนชนิดและจำนวนตัวมากที่สุดสำหรับสัตว์ป่าที่ดำเนินกิจกรรมในเวลากลางคืน ซึ่งสัตว์บางชนิดพบเห็นตัวไม่ง่ายนัก แต่พบร่องรอย คือรอยเท้าและมูล ทั่วทั้งในพื้นที่โครงการฯ และหน่วยพิทักษ์ฯ คือ กระทิง หมูป่า เก้ง กวาง หมาจิ้งจอก หมาใน แมวดาว หมีหมา เม่นใหญ่ เสือลายเมฆ และเสือโคร่ง ชะมด เป็นต้น

สัตว์ชนิดที่พบเห็นค่อนข้างยาก/ยากมากในสภาพธรรมชาติ เพราะเป็นชนิดที่ตื่นตกใจกับสิ่งแปลกปลอมง่าย ซึ่งการพบเห็นสัตว์ป่าจากกล้องดักถ่าย (camera trap) เป็นส่วนใหญ่ อาทิเช่น เสือโคร่ง วัวแดง เสือลายเมฆ แมวดาว เสือปลา และชะมดแผงสันหางดำ เป็นต้น โดยสรุปจำนวนสัตว์ป่าที่สำรวจพบจากการศึกษาในครั้งนี้ แบ่งเป็นสัตว์ปีกมากที่สุดคิดเป็น 53.73% สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 17.41% สัตว์เลื้อยคลาน 15.92% สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 12.94%

สำหรับสภาพปัญหาในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยสะโตนและพื้นที่โครงการ
1) สภาพปัญหาภัยแล้ง เกิดขึ้นในพื้นที่โดยส่วนใหญ่ ทั้งตอนกลางและท้ายน้ำ โดยมีปัญหารุนแรงเกิดบริเวณลุ่มน้ำห้วยสะโตนตอนล่าง เนื่องจาก (1) ปริมาณฝนโดยเฉลี่ยต่า (900-1,000 มม. ต่อปี) และ (2) ไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่มีเพียงอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ซึ่งปริมาณน้ำต้นทุนไม่เพียงพอกับพื้นที่เกษตรท้ายน้ำซึ่งมีขนาดใหญ่ (3) สภาพป่าถูกปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่การเกษตร (4) การใช้ประโยชน์ที่ดินผิดประเภทไม่สอดคล้องกับความเหมาะสมกับทรัพยากรดิน เกษตรกรส่วนใหญ่เปิดพื้นที่ดอนเพื่อทำนาข้าวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งต้องการปริมาณน้ำมาก จึงทำให้ขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรเพิ่มขึ้น

2) สภาพปัญหาอุทกภัย เกิดขึ้นในพื้นที่ริมลำน้ำสะโตนตั้งแต่ตอนกลางถึงท้ายน้ำ โดยมีความรุนแรงเกิดในบริเวณลุ่มน้ำห้วยสะโตนตอนล่าง เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่ม และเป็นจุดบรรจบของลำน้ำหลัก 3 สาย ปัญหาหลัก ได้แก่ 1) ลำน้ำตื้นเขินเนื่องจากการพังทลายของดินและการตกตะกอนจากน้ำท่วมฉับพลันและฝนที่ตกบริเวณที่ลาดชัน และท่วมขังในพื้นที่ลุ่ม 2) การก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างขวางลำน้ำสายหลัก เช่น ฝายทดน้ำตลอดล้าน้ำ และบริเวณท้ายห้วยสะโตน ซึ่งมีถนนทางหลวงขวางเส้นทางระบายน้ำหลาก เป็นต้น 3) สภาพพื้นที่ต้นน้ำถูกปรับเปลี่ยนจากพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่เกษตรโดยส่วนใหญ่

การพิจารณาทางเลือกโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ จากการรวบรวมแผนงานรวมทั้งทบทวนผลการศึกษาเดิมปี พ.ศ. 2558 และเสนอเพิ่มเติมในการศึกษาครั้งนี้ พบว่า มีทางเลือกโครงการขนาดกลางที่เหมาะสมนำมาพิจารณาเป็นทางเลือก ได้แก่

1) โครงการระบบผันน้ำห้วยสะโตน-อ่างเก็บน้ำห้วยยาง
2) โครงการแก้มลิงบ้านใหม่ไทยถาวร –ทุ่งเขาโล้น
3) โครงการฝายใหม่ 4 แห่งในลำห้วยสะโตน (ฝายบ้านใหม่ไทยถาวร, ฝายบ้านโคกตะแบน, ฝายบ้านคลองน้ำใส และฝายบ้านเจียงดำ

จากการศึกษาสมดุลน้ำโครงการทางเลือกดังกล่าวข้างต้น มีศักยภาพในการเก็บกักน้ำต้นทุนรวมกันได้เพิ่มเพียง 12.2 ล้าน ลบ.ม. (เป็นส่วนของโครงการผันน้ำฯประมาณ 10 ล้าน ลบ.ม.) ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำในพื้นที่เป้าหมายหลักลุ่มน้ำย่อยห้วยสะโตน ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 20,000 ไร่ มีความต้องการใช้น้ำประมาณ 26 ล้าน ลบ.ม. และเมื่อพิจารณารูปแบบโครงการประเภทอื่น ๆ เพิ่มเติมก็ยังพบว่าไม่มีศักยภาพเพียงพอและไม่มีความเหมาะสมในการน้ำมาพิจารณาเป็นทางเลือก ได้แก่ 1) สระเก็บน้ำที่ต้องการใช้พื้นที่หลายพันไร่ ซึ่งลุ่มน้ำห้วยสะโตนไม่มีพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่ และ 2) แหล่งน้ำบาดาล พบว่า มีปริมาณการให้น้ำในอัตราที่น้อยไม่พียงพอใช้เพื่อด้านการเกษตรและคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ไม่ค่อยดีนัก

ดังนั้น ในการศึกษาครั้งนี้จึงจำเป็นต้องพิจารณาโครงการประเภทอ่างเก็บน้ำมาเป็นทางเลือกเพื่อพิจารณาเพิ่มเติม นอกเหนือจากโครงการต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมาข้างต้น เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่เป้าหมายหลักตามแนวห้วยสะโตน ได้แก่ 1) โครงการแก้มลิงบ้านใหม่ไทยถาวร –ทุ่งเขาโล้น 2) โครงการฝายทดน้ำ 4 แห่ง และ 3) โครงการระบบผันน้ำห้วยสะโตน-อ่างฯห้วยยาง ซึ่งโครงการผันน้ำจะสามารถผันน้ำท่าบางส่วนจากห้วยสะโตนไปฝากเก็บกักยังอ่างฯ ห้วยยางได้จำนวนหนึ่งทำให้อ่างฯ ห้วยสะโตนสามารถลดระดับเก็บกักลงได้

ในการพิจารณาความจุเก็บกักน้ำที่เหมาะสม ที่ปรึกษาได้กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกโดยใช้การวิเคราะห์แบบปัจจัยรวม หรือ Multi-Criteria Analysis (MCA) ซึ่งพิจารณาปัจจัยหลัก 4 ด้าน โดยให้ความสำคัญต่อด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสังคมรวมกันสูงถึงร้อยละ 70 รายละเอียด ดังนี้

1) ด้านวิศวกรรม (คะแนนความสำคัญ 15 คะแนน) โดยพิจารณาปัจจัยย่อย ได้แก่ ความจุที่เก็บกักได้ต่อน้ำท่า ขนาดพื้นที่รับประโยชน์ อยู่ในพื้นที่เป้าหมายหลัก ความยากง่ายในการบริการจัดการ และระยะเวลาในการก่อสร้าง

2) ด้านสิ่งแวดล้อม (คะแนนความสำคัญ 35 คะแนน) โดยพิจารณาปัจจัยย่อย ระดับความรุนแรงของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันเนื่องจากโครงการ ได้แก่ ผลกระทบต่อพื้นที่ป่าอนุรักษ์ (อุทยานแห่งชาติตาพระยา) และความโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม (เขตมรดกโลก) ซึ่งจะครอบคลุมไปถึงผลกระทบต่อป่าไม้และสัตว์ป่า รวมทั้งพิจารณาผลกระทบด้านอื่น ๆ อาทิ นิเวศวิทยา โบราณสถาน ด้วย

3) ด้านสังคม (คะแนนความสำคัญ 35 คะแนน) โดยพิจารณาปัจจัยย่อย ผู้ได้รับผลกระทบต่อที่ดินทำกิน ปัญหาการแย่งน้ำและผู้ได้รับประโยชน์จากการบรรเทาภัยแล้ง อุทกภัย

4) ด้านเศรษฐกิจ (คะแนนความสำคัญ 15 คะแนน) โดยพิจารณาปัจจัยย่อย มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ของโครงการ อัตราผลตอบแทนภายใน (IRR) ของโครงการ จากการพิจารณาทางเลือกต่าง ๆ ทั้ง 10 ทางเลือก ปรากฏว่า ทางเลือกที่ 1 อ่างเก็บน้ำห้วยสะโตนความจุ 22.3 ล้าน ลบ.ม. ได้คะแนนสูงสุดเป็นลำดับแรก 64.13 คะแนน รองลงมาคือ ทางเลือกที่ 2 อ่างเก็บน้ำห้วยสะโตนความจุ 18 ล้าน ลบ.ม. ได้ 63.68 คะแนน และ ลำดับสาม คือ ทางเลือกที่ 9 อ่างเก็บน้ำห้วยสะโตนความจุ 9 ล้าน ลบ.ม. ร่วมกับโครงการผันน้ำฯ ได้ 62.69 คะแนน

Copyright @2021 – All Right Reserved.