ชาติมหาอำนาจต่อกรณี ‘เกรต้า’นักการเมืองไม่สนใจฟังเจ้าของอนาคต

นิตยสาร Time ฉบับเดือนพฤษภาคม 2562 ยกย่องให้เกรต้า ธันเบิร์ก เป็นหนึ่งในผู้นำรุ่นใหม่ และเธอยังเป็นแนวหน้าของคนรุ่นใหม่ในการสื่อสารกับผู้นำโลกให้ลงมือทำจริง ๆ จัง เพื่อสกัดกั้นวิกฤตจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลก

แต่ปฏิกิริยาของบรรดาผู้นำโลกต่อเกรต้านั้นรุนแรงพอ ๆ กับที่เธอโจมตีพวกเขา นอกจากผู้นำระดับโลกจะไม่ยอมฟังเสียงเธอแล้ว ยังตำหนิเธออย่างรุนแรง แต่ก็มีผู้นำและนักการเมืองจำนวนหนึ่งที่รับฟังและเห็นด้วยกับการรณรงค์ของเธอ

สวีเดน

สวีเดนคือบ้านเกิดของเกรต้า และเป็นที่แรกที่เธอเผชิญหน้ากับผู้นำเพื่อกดดันให้ลงมือแก้ปัญหา เส้นทางการต่อสู้กับผู้นำโลกของเกรต้าเริ่มต้น เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2561 เมื่อเธอตัดสินใจไม่ยอมไปโรงเรียนจนถึงการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 9 กันยายน 2561 และลงมือประท้วงด้วยการนั่งด้านนอกรัฐสภาทุกวันเป็นเวลา 2 สัปดาห์ในช่วงเวลาเรียน พร้อมป้าย Skolstrejk för klimatet (หยุดเรียนเพื่อสภาพอากาศ) ข้อเรียกร้องของเธอคือ รัฐบาลสวีเดนต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้สอดคล้องกับความตกลงปารีส (Paris Agreement) หลังจากสวีเดนเผชิญกับคลื่นความร้อนและไฟป่าในช่วงฤดูร้อนที่ร้อนแรงที่สุดในรอบ 262 ปี (1)

ฝรั่งเศส

เกรต้าเริ่มมีบทบาทด้านการเคลื่อนในระดับโลกมากขึ้น และเริ่มเดินสายกล่าวปาฐกถากับนักการเมือง และผู้นำประเทศต่าง ๆ เช่น เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2562 เธอกล่าวปาฐกถาที่รัฐสภาฝรั่งเศสในกรุงปารีส แต่เธอกลับถูกนักการเมืองฝรั่งเศสจำนวนหนึ่งตำหนิอย่างรุนแรง

โดยเฉพาะกลุ่มการเมืองฝ่ายขวา หลายคนไม่พอใจที่เชื้อเชิญให้เธอมาพูดที่สภาและถึงกับคว่ำบาตร บางคนเย้ยหยันเธอว่าเป็นแค่ “จัสติน บีเบอร์ แห่งนิเวศวิทยา” ซึ่งหมายความว่าเธอเป็นเพียงผู้นำกระแสฉาบฉวยในด้านภูมิอากาศของโลก โดยผู้ที่ตำหนิเธอ เช่น กีโยม ลาร์รีฟ (Guillaume Larrive) สส. พรรครีพับลิกัน บอกว่า “สิ่งที่เราต้องการคือความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และความกล้าหาญทางการเมือง ไม่ใช่เจ้าลัทธิวันสิ้นโลก” (2)

แม้แต่เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ยังตำหนิเธอหลังจากการประชุม UN Climate Action Summit โดยบอกว่าเกรต้ามีท่าทีที่รุนแรงมาก และมีแนวโน้มที่จะทำให้สังคมกลายเป็นปรปักษ์กัน (3)

แคนาดา

ต่อมาเกรต้าเดินทางไปร่วมการประท้วง Friday for Future ที่แคนาดา เธอได้มีโอกาสพบกับ จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา ทั้งคู่พูดคุยกันเป็นส่วนตัวประมาณ 15 นาที หลังการพูดคุยกันเกรต้าบอกว่า นายกรัฐมนตรีแคนาดายังลงมือทำไม่มากพอที่จะปกป้องสิ่งแวดล้อมจากการคุกคามของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเมื่อถูกถามว่ามีอะไรจะฝากไปถึงทรูโดหรือไม่ เกรต้าบอกว่า “ข้อความของฉันที่มีไปถึงนักการเมืองทุกคนทั่วโลกเหมือนกัน ขอเพียงแค่ฟังและหาแนวทางการปฏิบัติของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ united science ที่หาได้ง่ายที่สุดในตอนนี้”

ด้านนายกรัฐมนตรีของแคนาดา กล่าวระหว่างในการแถลงข่าว โดยประกาศแผนปลูกต้นไม้เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเรียกเกรต้าว่าเป็นคนรุ่นหนุ่มสาวที่น่าทึ่ง เป็นเสียงของคนรุ่นใหม่ที่เรียกร้องให้ผู้นำทำมากขึ้น และดีขึ้น ซึ่งขาเองก็กำลังรับฟังอยู่เช่นกัน (4)

สหรัฐอเมริกา

เยาวชนออกมาแสดงพลัง Climate Strike ณ เมืองโตริโน อิตาลี ระหว่าง เกรต้า ธันเบิร์ก ไปร่วมประชุม Climate Action Summit ในนิวยอร์ก

เมื่อวันที่ 23 กันยายน เกรต้า กลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลกกับปาฐกถาของเธอที่มีไปถึงผู้นำโลกในที่ประชุม UN Climate Action Summit ในนิวยอร์ก โดยเธอตำหนิผู้นำอย่างเกรี้ยวกราดว่า “ขโมยอนาคตของพวกเราไป” ในวันเดียวกันนั้นโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาโพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ตอบคลิปวีดิโอปาฐกถาของเกรต้าในลักษณะเย้ยหยันเกรต้าว่า “เธอดูเหมือนเด็กสาวที่มีความสุขมาก ซึ่งกำลังรอคอยอนาคตที่สดใสและน่าอัศจรรย์ ดีจริง ๆ ที่ได้เห็น!” (5)

การเผชิญหน้าระหว่างทั้งคู่ยังไม่จบลงง่าย ๆ เกรต้าตอบโต้การเย้ยหยันของทรัมป์ด้วยการเปลี่ยนประวัติ Twitter ของเธอให้ตรงกับคำอธิบายของทรัมป์ และบอกว่า “ทำไมผู้ใหญ่เลือกที่จะเยาะเย้ยเด็กและวัยรุ่น แทนที่พวกเขาจะทำในสิ่งที่ดีขึ้น” (6)

รัสเซีย

ในเดือนตุลาคม 2562 วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีแห่งรัสเซีย เรียกเกรต้าว่าเป็น “เด็กผู้หญิงที่ใจดีและจริงใจมาก” แต่ขณะเดียวกัน ปูตินตั้งข้อสังเกตว่าเกรต้าอาจถูกบงการเพื่อผลประโยชน์ของผู้อื่น และบอกว่า “ไม่มีใครอธิบายให้เกรต้าเข้าใจว่าโลกสมัยใหม่มีความซับซ้อนและแตกต่าง และผู้คนในแอฟริกาหรือในหลายประเทศของเอเชียต่างก็ต้องการที่จะอยู่ในระดับความมั่งคั่งเช่นเดียวกับคนในสวีเดน” (7)

แม้ปูตินจะติงเกรต้าว่าไม่เข้าใจความซับซ้อนของโลก แต่รัฐสภารัสเซีย (State Duma) กลับส่งจดหมายเชิญเกรต้าให้เดินทางมากล่าวปาฐกถาที่รัสเซีย โดย วาซิลี วลาซอฟ (Vasily Vlasov) แห่งคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติได้ส่งจดหมายเชิญเกรต้าผ่านไปยังสถานเอกอัครราชทูตสวีเดนประจำรัสเซีย โดยในจดหมาย วลาซอฟที่เป็นคนรุ่นใหม่เช่นกัน บอกกับเกรต้าว่า “เราในฐานะรุ่นที่อ่อนวัยกว่า จะต้องไม่นิ่งเฉยเมื่อพูดถึงอนาคตของเรา และเราจะไม่ยอมแพ้ต่อการสูญพันธุ์” (8)

องค์กรนานาชาติ

นอกจากผู้นำฝ่ายการเมืองแล้ว เกรต้ายังไม่เป็นที่ถูกใจของผู้นำองค์กรระดับโลกอีกจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากรของโลกโดยตรง เช่น โมฮัมหมัด บาร์กินโด (Mohammed Barkindo) เลขาธิการองค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออก (OPEC)

โดยสำนักข่าว AFP ได้รายงานว่า บาร์กินโด ติติงการโจมตีอุตสาหกรรมน้ำมันด้วยข้อมูลที่ไม่ถูกต้องทางวิทยาศาสตร์ (unscientific) จากขบวนการรณรงค์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขบวนการที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเกรต้า เขามองว่าความเคลื่อนไหวเหล่านี้ “อาจเป็นภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดต่อการก้าวไปข้างหน้าในอุตสาหกรรมของเรา” (9)

จะเห็นได้ว่าผู้นำโลกมีท่าทีไม่เป็นมิตรนักกับเกรต้า ส่วนเกรต้าองเก็มีท่าทีไม่เป็นมิตรกับพวกเขาเช่นกัน แม้แต่คนที่ดูเหมือนจะเป็นมิตรกับเกรต้ามากที่สุด คือ จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแห่งแคนาดา ยังถูกเธอตำหนิว่ายังลงมือทำไม่มากพอ

อ้างอิง

  1. Crouch, David (1 September 2018). “The Swedish 15-year-old who’s cutting class to fight the climate crisis”. The Guardian. Archived from the original on 4 January 2019. Retrieved 20 October 2019.

https://www.theguardian.com/science/2018/sep/01/swedish-15-year-old-cutting-class-to-fight-the-climate-crisis

  1. FRANCE 24. (23 July 2019) “Young ecologist Greta Thunberg addresses French parliament”. FRANCE 24. Retrieved 20 October 2019.

https://www.france24.com/en/20190723-live-swedish-ecologist-greta-thunberg-french-parliament

  1. Europe 1 .(24 September 2019) “EXCLUSIF – Emmanuel Macron répond à Greta Thunberg : “Je n’ai pas le sentiment que la France bloque””. Europe 1. Retrieved 20 October 2019.

https://www.europe1.fr/international/exclusif-emmanuel-macron-repond-a-greta-thunberg-je-nai-pas-le-sentiment-que-la-france-bloque-3921379

  1. Harris, Kathleen (27 September 2019). “Greta Thunberg meets Trudeau, tells him he’s not doing enough to fight climate change” CBC News. Retrieved 20 October 2019.

https://www.cbc.ca/news/politics/trudeau-greta-thunberg-climate-change-action-1.5299674

  1. Stracqualursi, Veronica (25 September 2019) “Trump mocks teenage climate activist Greta Thunberg”. CNN. Retrieved 20 October 2019.

https://edition.cnn.com/2019/09/24/politics/trump-greta-thunberg-climate-change-trnd/index.html

  1. Gilles, Rob; Jordans, Frank (28 September 2019). “Greta: Grown-ups mock children because world view threatened”. Associated Press. Retrieved 20 October 2019.

https://www.apnews.com/deb9b5aea9b24ee6a579f242d9149982

  1. Soldatkin, Vladimir; Zhdannikov, Dmitry (2 October 2019). “Putin: I don’t share excitement about Greta Thunberg’s U.N. speech”. Reuters. Retrieved 20 October 2019.

https://www.reuters.com/article/us-russia-putin-thunberg/putin-i-dont-share-excitement-about-greta-thunbergs-un-speech-idUSKBN1WH1FM

  1. The Moscow Times. (1 October 2019). “Russia Invites Climate Activist Greta Thunberg to Speak in Parliament”. The Moscow Times. Retrieved 21 October 2019.

https://www.themoscowtimes.com/2019/10/01/russia-invites-climate-activist-greta-thunberg-to-speak-in-parliament-a67518

  1. “Climate campaigners ‘greatest threat’ to oil sector: OPEC”. Agence France-Presse. 2 July 2019. Archived from the original on 5 July 2019.

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

ชุบชีวิต ‘ขยะทะเล’ เพิ่มมูลค่า ชุมชนยั่งยืน ลดโลกร้อน