โศกนาฏกรรมตุรกีรอบ 100 ปี บทเรียนอาคารไม่ได้มาตรฐาน

โศกนาฏกรรม “แผ่นดินไหวตุรกี” รอบ 100 ปี ซึ่งเกิดรอยเลื่อนเคลื่อนตัวยาวกว่า 300 กม. เป็นบทเรียนให้ทราบว่าโครงสร้างอาคารที่ไม่ได้ออกแบบรองรับแผ่นดินดินไหวเป็นความเสี่ยง และสาเหตุทำให้อาคารพังถล่มจนมีผู้เสียชีวิตกว่า 7,000 ราย เตือนบริเวณ “รอยเลื่อนแม่จัน” ไม่เกิดแผ่นดินไหวมากว่า 500 ปีแล้ว

รศ. ดร.ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ นักวิจัยในชุดโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เปิดเผยว่า ธรณีพิบัติจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศตุรกีหรือชื่อใหม่ตุระเคีย เกิดขึ้นจากรอยเลื่อนอานาโตเลียตะวันออก ซึ่งมีความยาวประมาณ 500 กิโลเมตร ในอดีตเคยทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่มากกว่า 7.1 เมื่อปี 1893

ทว่าบริเวณรอยเลื่อนดังกล่าวไม่ได้ทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่กว่า 7.0 ตั้งแต่ต้น ค.ศ.ที่ 20 ดังนั้น แผ่นดินไหวครั้งนี้จึงเป็นเหตุการณ์ที่ใหญ่ที่สุดในรอบมากกว่า 100 ปี รอยเลื่อนเกิดการเคลื่อนตัวยาวมากกว่า 300 กิโลเมตร จึงเป็นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยวัดได้ในตุรกี ทั้งนี้ ในปี 1999 เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.6 ที่เมือง izmit โดยรอยเลื่อนอานาโตเลียตะวันออกเป็นรอยเลื่อนตามแนวระนาบ และเป็นรอยเลื่อนประเภทเดียวกับรอยเลื่อนสะแกงในเมียนมาที่เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.3 เมื่อปี 1930 และรอยเลื่อนแซนแอนเดรอัส ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.8 ในปี 1906

สำหรับในประเทศไทยนั้นรอยเลื่อนที่มีขนาดใหญ่และมีหลักฐานชัดเจน คือ รอยเลื่อนแม่จันที่มีความยาวกว่า 100 กิโลเมตร และไม่ได้เกิดแผ่นดินไหวมานานกว่า 500 ปี จึงอาจจะเป็นบริเวณที่จะต้องส่งเสริมการปรับปรุงอาคารในพื้นที่ต่อไปในอนาคต

อย่างไรก็ตาม เหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ล่าสุดมีอาคารได้รับความเสียหายและพังทลายกว่า 5,000 หลังในบริเวณเมือง Gaziantep เนื่องจากเป็นเมืองที่อยู่ห่างไกลในบริเวณชนบท การก่อสร้างอาคารในบริเวณดังกล่าวใช้โครงสร้างจากหินและอิฐซึ่งไม่มีความสามารถในการต้านทานแผ่นดินไหว และอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กส่วนใหญ่ที่ก่อสร้างในบริเวณเมืองนั้นสร้างก่อนการปรับปรุงมาตรฐานการก่อสร้างแผ่นดินไหวเมื่อปี 2000

ประกอบกับกับผลการวัดความเร่งจากเครื่องมือวัดคลื่นแผ่นดินไหวในบริเวณศูนย์กลางแผ่นดินไหวมีความรุนแรงมากกว่า 2g ซึ่งสูงกว่าค่าการออกแบบมาตรฐานการก่อสร้างแผ่นดินไหวเมื่อปี 2000 จึงทำให้อาคารในบริเวณศูนย์กลางแผ่นดินไหวได้รับความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง (ค่าการออกแบบอาคารทั่วไปไม่เกิน 0.3-0.4g)

ด้าน ศ. ดร.อมร พิมานมาศ นักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย ระบุว่า บทเรียนจากแผ่นดินไหวในครั้งนี้ได้เผยให้เห็นโครงสร้างอาคารจำนวนมากที่ได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงจนถึงขั้นถล่มลงมา เป็นสาเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก บ่งชี้ให้เห็นว่าโครงสร้างอาคารเหล่านี้ไม่สามารถต้านแผ่นดินไหวได้

การวิบัติของอาคารหลายหลังเข้าข่ายเป็นการพังทลายแบบต่อเนื่อง (Progressive collapse) ซึ่งเริ่มจากการวิบัติของชิ้นส่วนใดหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารแล้วลุกลามเป็นการวิบัติของอาคารทั้งหลังตามมา จุดเริ่มต้นมักเกิดขึ้นที่เสาชั้นล่างของอาคารที่รองรับน้ำหนักอาคารทั้งหลัง เมื่อเกิดการวิบัติจึงทำให้อาคารทั้งหลังพังถล่มได้ นอกจากนี้ยังอาจเกิดการวิบัติที่ข้อต่อระหว่างคานกับเสา หรือระหว่างพื้นกับเสาอีกด้วย

ปัจจัยที่ทำให้อาคารมีการสั่นไหวที่รุนแรงยังอาจมีสาเหตุจากการเกิดกำทอน (Resonance) ระหว่างพื้นดินที่รองรับกับโครงสร้างอาคาร ทั้งนี้ต้องตรวจสอบสภาพชั้นดินและคลื่นแผ่นดินไหวจึงจะสามารถระบุได้ว่ามีการกำทอนเกิดขึ้นหรือไม่ แต่เชื่อว่าอาคารหลายหลังที่พังถล่มได้ก่อสร้างมานานแล้วก่อนที่จะมีมาตรฐานการออกแบบอาคารต้านแผ่นดินไหว จึงทำให้ไม่ได้ออกแบบให้รองรับแผ่นดินไหวในระดับที่รุนแรงได้ ซึ่งอาคารเก่าที่ไม่แข็งแรงเหล่านี้สามารถเสริมกำลังให้ต้านแผ่นดินไหวได้ด้วยเทคนิคต่างๆ เช่น การพอกขยายหน้าตัดให้ใหญ่ขึ้น (Jacketing) การใช้แผ่นเหล็กหุ้ม (Steel plate jacketing) หรือการใช้แผ่นคาร์บอนไฟเบอร์ (CFRP) หรือการติดตั้งค้ำยัน ซึ่งมีงานวิจัยรองรับเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว

“ขอย้ำเตือนว่าแผ่นดินไหวเป็นภัยพิบัติที่ไม่อาจพยากรณ์ล่วงหน้าได้ และประเทศไทยเองก็ได้รับการยืนยันแล้วว่ามีความเสี่ยงต่อแผ่นดินไหวในระดับปานกลาง จากการศึกษาวิจัยพบว่ามีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ของอาคารในกรุงเทพมหานคร เช่น การกำทอน และอาคารเก่าจำนวนมาก แม้ว่าเราจะไม่สามารถทำนายแผ่นดินไหวได้แต่ก็สามารถป้องกันได้โดยการทำให้อาคารแข็งแรง ดังนั้นเจ้าของอาคารต้องตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคารในการรองรับภัยพิบัติแผ่นดินไหว และเสริมความแข็งแรงของอาคารเพื่อมิให้เกิดความสูญเสียในอนาคต” ศ. ดร.อมร ระบุ

ทั้งนี้ เหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศตุรกีและรอยต่อประเทศซีเรียครั้งนี้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 4,000 คน และคาดว่า ยอดตายจะยังไม่หยุดอยู่แค่นี้ โดยแผ่นดินไหวในรอบแรกมีความรุนแรง 7.8 เกิดขึ้นเมื่อเวลา 04.17 น. ของวันที่ 6 ก.พ. ตามเวลาท้องถิ่น หรือประมาณ 08.17 น. ตามเวลาประเทศไทย มีความลึกอยู่ที่ 17.9 กิโลเมตร แรงสั่นสะเทือนได้ทำให้อาคารบ้านเรือนเสียหายกว่า 5,600 แห่ง รวมถึงปราสาทเก่าแก่อายุกว่า 2,000 ปี

ต่อมาได้เกิดแผ่นดินไหวขึ้นครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในเวลา 12 ชั่วโมงต่อมา โดยมีความรุนแรง 7.5 จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวใกล้ๆ กับเขตเอลบิสตาน (Elbistan) ของจังหวัดคาห์รามานมารัส (Kahramanmaras) ที่อยู่ใกล้ๆ กับเมืองกาซีอันสเต็ป ซึ่งถือว่าเป็นแผ่นดินไหวครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบ 10 ปี โดยทำให้เกิดรอยแยกยาวกว่า 300 กิโลเมตร ระหว่างแผ่นเปลือกโลกอานาโตเลีย และแผ่นเปลือกโลกอาหรับ แรงสั่นสะเทือนรับรู้ได้ถึงเลบานอน ซีเรีย ไซปรัส และอิสราเอล และเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาไม่ต่ำ 100 ครั้ง

ล่าสุด ยอดผู้เสียชีวิตในตุรกีและซีเรียพุ่งทะลุ 7,926 รายแล้ว ในส่วนของตุรกีอยู่ที่ 5,894 ราย มีอาคารอย่างน้อย 5,606 หลังพังราบคาบ

อย่างไรก็ดี ประเทศตุรกีนั้นอยู่ในทำเลที่พร้อมจะเกิดแผ่นดินไหวได้ตลอดเวลา หากมีการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก โดยแผ่นดินไหวครั้งหายนะที่สุดในตุรกี ที่รุนแรงที่สุดเคยเกิดขึ้นเมื่อเดือน ธ.ค. ปี 1939 ที่เมืองเอร์ซินจาน (Erzincan) ระดับความรุนแรงอยู่ที่ 8.0 แมกนิจูด มีผู้เสียชีวิตสูงถึง 32,968 ราย บาดเจ็บอีกนับแสนคน และอาคารบ้านเรือนพังเสียหายมากกว่า 160,000 แห่ง

อ้างอิงข้อมูลเพิ่มเติม:

– CNN Live Updates : Powerful quake leaves thousands dead in Turkey and Syria

– คมชัดลึก, PPTV

#แผ่นดินไหวตุรกี #ประเทศตุรกี #รอยเลื่อนขนาดใหญ่ #รอยเลื่อนแม่จัน-

Related posts

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย