‘นกชนหิน’ สถานะเสี่ยงสูญพันธุ์

เก็บตก “วันนกเงือก” 13 ก.พ. 2563 กิจกรรมที่จัดมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดขึ้นเป็นปีที่ 21 ณ สวนนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถนนพระราม 6 มีสาระสำคัญที่น่าสนใจ 13 ประเด็น ดังนี้

นกชนหิน (Helmeted Hornbill)

1) “นกเงือก” เป็นสัญลักษณ์แห่งความรักแท้ที่มีรักเดียวใจเดียว

2) วันที่ 13 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันรักนกเงือกของประเทศไทย เริ่มตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา

3) ผลการศึกษาวิจัยกว่า 6 โครงการในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมานี้พบว่า เผ่าพันธุ์ของนกเงือกถูกรุกรานและเสี่ยงต่อสภาวะสูญพันธุ์

4) ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญและกรรมการมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือกได้รับการยอมรับและขนานนามจากทั้งในประเทศและต่างประเทศว่าเป็น “มารดาแห่งนกเงือก” ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือกที่พัฒนาจากโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล

นกชนหิน (Helmeted Hornbill)

5) ในปีนี้ (2563) มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก ส่งสัญญาณอันตราย “นกชนหิน” (Helmeted Hornbill) ซึ่งเป็นนกเงือก 1 ใน 13 สายพันธุ์ในประเทศไทยมีสถานภาพที่ล่อแหลมและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ หลังจากช่วงปีที่ผ่านมามีลูกนกชนหินเกิดใหม่เพียง 2 ตัวเท่านั้น

6) ดร.วรพัฒน์ อรรถยุกติ ประธานมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก ระบุว่า สถานภาพการขยายพันธุ์นกชนหิน (Helmeted Hornbill) ในประเทศไทยจากงานวิจัยของโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก โดยคณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล พบว่าในอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ปัตตานี ยะลา ที่ทำงานวิจัยมากว่า 25 ปี มีลูกนกชนหินเกิดใหม่ 44 ตัว เฉพาะปีที่ผ่านมา มีเกิดใหม่เพียง 1 ตัวเท่านั้น

7) เช่นเดียวกับที่อุทยานแห่งชาติเขาสก จ.สุราษฎร์ธานี ได้ลูกนกชนหินเกิดใหม่เพียง 1 ตัว รวมในรอบปี 2562 มีลูกนกชนหินเพียง 2 ตัว โดยยังพบการกระจายของนกชนหินในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลาบาลา จ.นราธิวาช และอุทยานแห่งชาติบางลาง จ.ยะลา

8) นกชนหิน พบในป่าดิบชื้นระดับต่ำ ตั้งแต่แถบเทือกเขาตะนาวศรีลงมาทางใต้ของประเทศไทย จนถึงมาเลเซีย สุมาตรา และบอร์เนียว ปัจจุบันจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1 และอนุสัญญาไซเตส (CITES) จัดไว้ในบัญชีที่ 1 และสหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรรมชาติ (IUCN) จัดให้อยู่ในสถานภาพเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่ง

นกชนหิน (Helmeted Hornbill)

9) ตามรายงานขององค์กร TRAFFIC พบว่าในช่วงเวลา 6 เดือน (ก.ค.-ธ.ค. 2562) พบโพสต์การเสนอขายชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์จากนกเงือกมากกว่า 546 ชิ้น โดย 173 โพสต์ (73%) เป็นการซื้อขายชิ้นส่วน “โหนกนกชนหิน” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความนิยมและความต้องการในตลาดที่สูงมาก

10) นกชนหินส่วนมากจะถูกล่าเพื่อเอาโหนกนำมาทำตราประทับ เครื่องตกแต่ง กำไล สร้อย ทดแทนงาช้าง โดยราคาของเครื่องประดับจากโหนกนกชนหินตั้งมูลค่าสูงถึง 20,000-30,000 บาท ส่วนมากล่ามาจากป่าในมาเลเซียและอินโดนีเซียและส่งต่อไปขายในตลาดนักสะสมชิ้นส่วนสัตว์ป่าในจีน ไทย และลาว

นกเงือกปากย่น (Wrinkled Hornbill)

11) สถานภาพการขยายพันธุ์นกเงือกในประเทศไทย ในพื้นที่วิจัย 3 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี และอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี จ.นราธิวาช พบว่า ในฤดูทำรังของนกเงือกปี 2562 (ม.ค.-มิ.ย.) มีโพรงรังนกเงือกที่สามารถใช้ได้ 521 โพรง นกเงือกเข้าใช้โพรง 206 โพรง (40%) ประสบความสำเร็จในการทำรัง 183 โพรงรัง (89%)

12) ปีที่ผ่านมา ได้ลูกนกออกสู่ธรรมชาติทั้งหมด 238 ตัว ส่วนตั้งแต่ปี 2521-2562 (41ปี) มีลูกนกเงือกทั้งหมดออกสู่ธรรมชาติในพื้นที่วิจัยหลัก 3 พื้นที่ดังกล่าว จำนวน 4,651 ตัว แบ่งเป็น เขาใหญ่ (41ปี) 2,869 ตัว ห้วยขาแข้ง (28ปี) 989 ตัว และบูโด-สุไหงปาดี (25ปี) 757 ตัว

นกชนหิน (Helmeted Hornbill)

13) ปัจจุบันประเทศไทยมีนกเงือก 13 ชนิด ประกอบด้วย นกกก (Great Hornbill) นกเงือกกรามช้าง (Wreathed Hornbilll) นกแก๊ก (Oriental Pied Hornbill)
นกเงือกสีน้ำตาลคอขาว (White-throated Brown Hornbill) นกเงือกหัวแรด (Rhinoceros Hornbill) นกชนหิน (Helmeted Hornbill)

นกเงือกหัวหงอก (White-crowned Hornbill) นกเงือกปากดำ (Black Hornbill) นกเงือกดำ (Black Hornbill) นกเงือกสีน้ำตาล (Brown Hornbill) นกเงือกปากย่น (Wrinkled Hornbill) นกเงือกกรามช้างปากเรียบ (Plain-pouched Hornbill) และนกเงือกคอแดง (Rufous-necked Hornbill)

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

ชุบชีวิต ‘ขยะทะเล’ เพิ่มมูลค่า ชุมชนยั่งยืน ลดโลกร้อน