การผจญภัยของ “อีแร้งน้อย”

ฤดูหนาวของไทยในทุกปี เรามักได้เห็นคำพาดหัวของหนังสือพิมพ์หัวสีประมาณว่า “ตะลึงนกยักษ์ตกทุ่งนา” เห็นคำนี้ก็หลับตาเดาได้เลย อีแร้งแน่นอน และแทบจะเจาะจงชื่อมันได้อีกต่างหากว่า อีแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย (Himalayan Griffon) เพราะเป็นอีแร้งหนึ่งเดียวที่ยังมาเที่ยวเมืองไทยอย่างสม่ำเสมอ

สำหรับฤดูหนาวปีนี้ ที่ส่อเค้าจะหนาวจัดและหนาวนาน โอกาสที่จะมี “นกยักษ์” จะมาเยือนเมืองไทยอีกครั้ง ดูจะมีโอกาสเป็นไปได้มากทีเดียว

วันนี้ ชวนมาทำความรู้จักอีแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย แม้ตัวจะมีแต่สีน้ำตาลมอมแมม แต่ชีวิตจริง กลับเต็มไปด้วยสีสันน่าทึ่ง!

1.อีแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย ที่ร่อนตามสายลมหนาวมาถึงเมืองไทย ล้วนแต่เป็น “นกเด็ก” “นกวัยอ่อน” ทั้งสิ้น นี่เป็นโปรแกรมการผจญภัยที่สุดยอด สิ่งตอบแทนที่ “อีแร้งน้อย” ทั้งหลายจะได้รับก็มีแค่ 2 ทางเท่านั้น คือ รอดกับตาย

สันนิษฐานว่าการที่พวกอีแร้งเด็กออกร่อนบินจากแหล่งกำเนิดแถวเทือกเขาหิมาลัย ลงไปทางทิศใต้และตามพื้นราบอันไม่คุ้นเคย เหมือนธรรมชาติจงใจใช้เป็นบททดสอบชีวิตของพวกมัน ถ้านกเด็กตัวไหนมีศักยภาพพอจะเอาตัวรอดกลับบ้านได้ ก็แปลว่า นกตัวนั้นแกร่งพอจะเติบโตเป็นนกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ชั้นดีต่อไป แต่ถ้าไม่แกร่งพอ ก็แปลว่า “คุณไม่ได้ไปต่อ” หรือหายสาบสูญไป

2.เมืองไทยเป็น “ตำบลอีแร้งตก” ที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยอีแร้งสีน้ำตาลหิมาลัยที่มาผจญภัยแถวนี้ จะกลายเป็น “แร้งร่วง” ในพื้นที่ประเทศไทยมากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน มีรายงานเหล่า “นกยักษ์” ร่อนเลยไปตกในมาเลเซีย สิงคโปร์ และไปถึงอินโดนีเซีย

เมื่อใดที่แร้งร่วง ก็แปลว่าพวกมันอยู่ในสภาพขาดอาหารอย่างหนัก หลังจากได้ใช้ธาตุทรหดในการอดอาหารได้ยาวนาน ไปจนหมดสิ้นแล้ว

3.อีแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย จัดเป็นนกรุ่นเฮฟวี่เวทแห่งเอเชีย โดยมีขนาดตัวที่ใหญ่สูสี หรือเป็นรองเล็กน้อย กับอีแร้งดำหิมาลัย (Cinereous Vulture) ที่อาศัยร่วมถิ่นแถบหิมาลัยด้วยกัน มันอาจมีน้ำหนักตัวสูงสุดถึง 12 กก. และกางปีกได้กว้างถึง 3 เมตร (ลองมโนเปรียบเทียบขนาดกับนกกระจิบนกกระจอกแถวบ้านดู)

4.อีแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย จัดเป็น “ผู้อยู่รอด” ในหมู่แร้งด้วยกัน ขณะที่แร้งเอเชียทั้งหลายลดจำนวนประชากรลงไปมาก อันเนื่องจากความศิวิไลซ์ของเมืองในปัจจุบัน ไม่สอดคล้องกับชีวิต “สัตว์กินซาก” แบบโบราณของพวกแร้ง

แถมยังต้องเจอวิกฤตครั้งใหญ่ เมื่อแร้งทั่วอนุทวีปอินเดีย ก่อปรากฎการณ์แร้งร่วงตายเป็นเบือ อันเนื่องจากกินซากปศุสัตว์ที่เคยได้รับการฉีดยาคลายกล้ามเนื้อ Diclofenac เข้าไป แล้วตัวยาดังกล่าวก่อพิษต่อตับไตของอีแร้ง จนสถานภาพระดับโลกของแร้งหลายชนิดอยู่ในขั้น “Endangered” และ “Critically Endangered” อย่างเฉียบพลัน

แต่อีแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย กลับยัง “สตรอง” และมีประชากรที่มั่นคง สถานภาพอยู่ที่ “Near Threatened” ยังห่างไกลต่อคำว่าสูญพันธุ์

5.อีแร้งสีน้ำตาลหิมาลัยมีบทบาทสำคัญในพิธี “ฝังศพฟ้า” หรือ Sky Burial ของชาวทิเบต เป็นพิธีศพที่เชิญชวนให้อีแร้งสีน้ำตาลหิมาลัยมากินศพผู้เสียชีวิต เพื่อส่งวิญญาณสู่สรวงสวรรค์

Sky Burial เป็นพิธีกรรมที่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่สูงอย่างทิเบต ที่นั่นไม่ค่อยมีไม้ฟืนให้เผาศพ ไม่ค่อยมีแม่น้ำให้ทิ้งศพ และดินก็แข็งเกินไปที่ขุดฝังศพ ขณะที่อีแร้งสีน้ำตาลหิมาลัยก็มีอยู่มากมาย พร้อมจะบริการกำจัดศพให้หมดเกลี้ยงได้ภายในครึ่งชั่วโมง ถ้าพวกมันมากันมากพอ

ว่ากันว่า หากศพไหนโดน “อีแร้งเมิน” ไม่ยอมลงมากิน ก็เหมือนผู้ตายถูกตีแผ่ออกมากลายๆว่า ตอนมีชีวิตคงเป็นคนบาปหยาบช้า ชนิดอีแร้งไม่รับประทาน!

ทั้งนี้ อีแร้งสีน้ำตาลหิมาลัยที่เร่ร่อนมาเที่ยวเมืองไทย อาจเคยผ่านพิธีกินศพคนทิเบตมาก่อนแล้วก็เป็นได้ ใครจะรู้?

6.จากการสำรวจอีแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย ในประเทศเนปาล พบว่ารังบนหน้าผาของมัน ส่วนใหญ่จะหันหน้าไปทางทิศใต้ ถือเป็นทิศฮวงจุ้ยสุดโปรดของพวกมัน ขณะที่คนไทยนิยมซื้อบ้านให้หันหน้าไปทางทิศเหนือมากที่สุด ถ้าไม่ได้จึงเลือกทิศใต้ (ก็ไม่รู้จะเอามาโยงกับคนทำไม แหะๆ)

7.นักวิชาการไทยมีแผนจะทำ “ภัตตาคารแร้ง” หรือการวางซากสัตว์ให้อีแร้งกิน บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ในช่วงฤดูหนาว โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นอาหารเติมพลังให้เหล่าอีแร้งน้อยผจญภัยทั้งหลาย แต่ลึกๆ คาดการณ์ถึงผลพลอยได้ที่อาจมีมากกว่านั้น

เนื่องจากพวกอีแร้งมีแบบฉบับการหากินในลักษณะมองหาเหยื่อพลาง มองหาความเคลื่อนไหวของอีแร้งอื่นไปพลาง ก่อเป็นความหวังลึกๆของนักวิชาการว่า หาก “ภัตตาคารแร้ง” ชายแดนเขมร ถูกค้นพบโดยอีแร้งสีน้ำตาลหิมาลัยอพยพ แล้วสร้างบรรยากาศการกินซากให้เกิดขึ้น ก็อาจดึงดูดสายตาอีแร้งสายพันธุ์อื่นในประเทศกัมพูชา ให้ร่อนเข้ามาแจมในพื้นที่ประเทศไทย

ถือเป็นไอเดียที่น่าลองน่าลุ้นมั่กๆ

Copyright @2021 – All Right Reserved.