เตือนหิมะถล่มน้ำท่วมฉับพลัน หลังธารน้ำแข็งหิมาลัยละลายรวดเร็ว

ธารน้ำแข็งในเทือกเขาหิมาลัยฮินดูกูชกำลังละลายอย่างรวดเร็ว และอาจมากถึง 80% ภายในปี 2100 นักวิทยาศาสตร์เตือนถึงอันตรายจากน้ำท่วมฉับพลันและการขาดแคลนน้ำจืดสำหรับประชากรเกือบ 2 พันล้านคนที่อาศัยอยู่ตามลำน้ำของแม่น้ำที่มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาหิมาลัยฮินดูกูช

ตั้งแต่ปี 2010 ธารน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยหายไปเร็วกว่าทศวรรษที่ผ่านมาถึง 65% และปริมาณหิมะที่ปกคลุมก็ลดลงเนื่องจากภาวะโลกร้อน และอาจสูญเสียปริมาณธารน้ำแข็งมากถึง 80% ภายในปี 2100 หากไม่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ศูนย์นานาชาติเพื่อการพัฒนาภูเขาแบบบูรณาการในกรุงกาฐมาณฑุ จึงออกเตือนว่าการละลายของน้ำแข็งอย่างรวดเร็วอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและหิมะถล่ม ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ปริมาณน้ำจืดจะลดลงส่งผลกระทบต่อประชากรเกือบ 2 พันล้านคนที่อาศัยอยู่ตามลำน้ำของแม่น้ำ 12 สายที่มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาหิมาลัยและเทือกเขาฮินดูกูช

การศึกษายังระบุว่าการเปลี่ยนแปลงของธารน้ำแข็ง หิมะ และชั้นดินเยือกแข็งของเทือกเขาหิมาลัยในเทือกเขาฮินดูกูช ซึ่งเกิดจากภาวะโลกร้อนนั้นไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและไม่สามารถทำให้กลับไปเป็นอย่างเดิมได้อีกแล้ว

โดยพื้นฐาน ธารน้ำแข็งที่ละลายจะกลายเป็นเขื่อนธรรรมชาติในบริเวณหุบเขา แต่การละลายอย่างรวดเร็วจากภาวะโลกร้อนอาจส่งผลให้เกิดดินถล่มและน้ำท่วมฉับพลันกระทบต่อผู้ที่อยู่อาศัยโดยรอบได้

นอกจากความเสี่ยงจากน้ำท่วมฉับพลันและดินถล่มแล้ว ทะเลสาบธารน้ำแข็ง 200 แห่งทั่วเทือกเขาหิมาลัยฮินดูกูชก็มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดน้ำท่วม กระทบต่อการเกษตร ความมั่นคงทางอาหาร แหล่งน้ำจืด และแหล่งพลังงาน นอกจากนี้ยังสามารถเป็นอันตรายต่อพืชและสัตว์บางชนิดในจุดที่มีความหลากหลายทางชีวภาพจนถึงขั้นสูญพันธุ์ได้

รายงานก่อนหน้านี้หลายฉบับพบว่าไครโอสเฟียร์ – พื้นที่บนโลกที่ปกคลุมด้วยหิมะและน้ำแข็ง – ได้รับผลกระทบเลวร้ายที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การวิจัยล่าสุดพบว่าธารน้ำแข็งบนยอดเขาเอเวอเรสต์ เช่น ได้สูญเสียน้ำแข็งไป 2,000 ปีในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา

อมีนา มหาราจัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการย้ายถิ่นฐานและหนึ่งในผู้เขียนรายงานกล่าวว่า ผู้คนที่อาศัยอยู่ในภูเขาเหล่านี้ซึ่งแทบไม่ได้มีส่วนร่วมอะไรเลยกับภาวะโลกร้อน แต่กลับมีความเสี่ยงสูงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“ความพยายามในการปรับตัวในปัจจุบันยังไม่เพียงพอ และเรากังวลอย่างยิ่งว่าหากไม่มีการสนับสนุนมากกว่านี้ ชุมชนเหล่านี้จะไม่สามารถรับมือได้” อมีนา กล่าว

ภูมิภาคหิมาลัยเป็นที่ตั้งของภูเขาที่สูงที่สุดในโลกและยังเป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำที่หล่อเลี้ยงผู้คนเกือบ 2 พันล้านคน ซึ่งไหลผ่าน 16 ประเทศในเอเชีย หนึ่งในแม่น้ำที่มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาหิมาลัยคือแม่น้ำโขง.

ธารน้ำแข็งนภูมิภาคนี้มีขนาดใหญ่มากจนถูกเรียกว่า ‘ขั้วโลกที่สาม’ เพราะมีปริมาณหิมะและน้ำแข็งมากที่สุดเป็นอันดับที่ 3 รองจากขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ เฉพาะธารน้ำแข็งในพื้นที่ที่จีนครอบครองมีสัดส่วนถึง 14.5% ของยอดรวมทั้งหมดของโลก

ที่มา

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

จัดเดิน-วิ่ง มินิมาราธอน ปีที่ 2 ส่งต่อขาเทียมช่วยผู้พิการยากไร้

‘COP-19’ ดันอาเซียน เป็นภูมิภาคปลอด หมอกควัน