‘สนธิสัญญาทะเลหลวง’ ข้อตกลงประวัติศาสตร์เพื่อปกป้องน่านน้ำสากล

ครั้งแรกที่สมาชิกสหประชาชาติตกลงร่วมกันในสนธิสัญญาที่เป็นเอกภาพเพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพในทะเลหลวงหลังใช้เวลากว่า 2 สัปดาห์ในการเจรจา

หลังการเจรจาสองสัปดาห์ที่สำนักงานใหญ่ของสหประชาชาติในกรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา สนธิสัญญาดังกล่าวได้รับการลงนามในเย็นวันเสาร์ 4 มีนาคม ที่ผ่านมา แม้การเจรจาจะใช้เวลานานกว่า 36 ชั่วโมง แต่ความพยายามในการสร้างข้อตกลงนี้มาร่วม 20 ปี

สนธิสัญญาให้เครื่องมือทางกฎหมายในการจัดตั้งและจัดการพื้นที่คุ้มครองทางทะเล เขตรักษาพันธุ์เพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพของมหาสมุทร นอกจากนี้ยังครอบคลุมถึงการประเมินด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อประเมินความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากกิจกรรมเชิงพาณิชย์ เช่น การทำเหมืองในทะเลลึก ก่อนที่จะเริ่มดำเนินการ และการให้คำมั่นโดยผู้ลงนามที่จะแบ่งปันทรัพยากรในมหาสมุทร

“วันนี้เป็นวันประวัติศาสตร์สำหรับการอนุรักษ์และเป็นสัญญาณว่าในโลกที่แตกแยก การปกป้องธรรมชาติและผู้คนสามารถมีชัยเหนือภูมิรัฐศาสตร์ได้” ลอรา เมลเลอร์ ผู้รณรงค์ด้านมหาสมุทรของกรีนพีซ นอร์ดิค กล่าวในถ้อยแถลง

Cr. กระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์

ทะเลหลวงคือทะเลและน่านน้ำที่อยู่นอกอธิปไตยของชนชาติใดชนชาติหนึ่งหรือประเทศใดประเทศหนึ่ง ทุกชาติทุกประเทศมีสิทธิ์เดินเรือหรือใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในทะเลและน่านน้ำนั้นได้อย่างเสรีไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของ บางครั้งถูกเรียกว่าถิ่นทุรกันดารแห่งสุดท้ายของโลก

ระบบนิเวศในมหาสมุทรผลิตออกซิเจนครึ่งหนึ่งที่เราหายใจ ซึ่งคิดเป็น 95% ของชีวมณฑลของโลก และดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นอ่างกักเก็บคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุดในโลก

แต่กันชนตัวสำคัญก็ได้รับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลให้อุณหภูมิของมหาสมุทรสูงขึ้นและน้ำที่เป็นกรดมากขึ้นคุกคามสิ่งมีชีวิตในทะเล

รวมไปถึงกิจกรรมของมนุษย์ที่เกิดจาก การประมงเชิงอุตสาหกรรม การเดินเรือ อุตสาหกรรมเหมืองแร่ใต้ทะเลลึกที่ และการแข่งขันเพื่อใช้ประโยชน์จาก “ทรัพยากรพันธุกรรม” ของมหาสมุทร ซึ่งนำพืชและสัตว์ทะเลมาใช้ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ยา

“พื้นที่คุ้มครองทางทะเลในทะเลหลวงสามารถมีบทบาทสำคัญในผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” Liz Karan ผู้อำนวยการโครงการธรรมาภิบาลมหาสมุทรขององค์กรอิสระไม่แสวงผลกำไร Pew Charitable Trusts กล่าว “ขณะนี้รัฐบาลและภาคประชาสังคมต้องมั่นใจว่าข้อตกลงนี้ได้รับการรับรองและมีผลใช้บังคับอย่างรวดเร็ว และได้รับการนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพในทะเลหลวง”

หลายฝ่ายเชื่อว่าสนธิสัญญาที่ประสบความสำเร็จนี้ช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายในการอนุรักษ์หรือปกป้องอย่างน้อย30% ของมหาสมุทรทั่วโลกภายในปี 2573

“สิ่งที่เกิดขึ้นในทะเลหลวงจะไม่คลาดสายตาหรือความสนใจ อีกต่อไป” เจสสิก้า แบทเทิล จาก WWF กล่าวในแถลงการณ์หลังจากนำทีมของกลุ่มในการเจรจา “ตอนนี้เราสามารถดูผลกระทบสะสมในมหาสมุทร อันเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจสีน้ำเงินและการปกป้องคุ้มครองระบบนิเวศ”

ที่มา:

  • March 5, 2023. Countries agree historic oceans treaty to protect the high seas. CNN
  • March 5, 2023. High seas treaty: historic deal to protect international waters finally reached at UN. The Guardian
  • March 5, 2023. A treaty to protect the world’s oceans has been agreed after a decade of talks. NPR

Related posts

‘เฉลิมชัย’ นำทีมไทยถก COP29 นำเสนอ 5 ประเด็นลดก๊าซ 222 ล้านตัน

ค่าฝุ่นปากีสถานทะลุ 1,900 รั้งอันดับโลก อ้างพัดข้ามพรมแดนจากอินเดีย

โลกจมกองพลาสติก ต้องเปลี่ยนวิธีผลิต ลดการบริโภค กำจัดอย่างยั่งยืน