ไทยประกาศจุดยืนเวที COP25เตรียมผลักดันกฎหมายโลกร้อนฉบับแรก

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ได้เข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำและระดับรัฐมนตรี (High-level Segment) ของการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 25 (COP25), การประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโต สมัยที่ 15 (CMP 15) และการประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีส สมัยที่ 2 (CMA 2) เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา ณ กรุงมาดริด ประเทศสเปน โดยมี นางสาวคาโรลิน่า ชมิดท์ (Ms. Carolina Schmidt) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม สาธารณรัฐชิลี ในฐานะประธาน COP 25/CMP 15/CMA 2 ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม

โดยในที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้รัฐมนตรีของประเทศต่าง ๆ กล่าวถ้อยแถลงเพื่อแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับทิศทางการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกและความคาดหวังในการประชุมครั้งนี้

วราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ในการนี้ นายวราวุธ ได้กล่าวถ้อยแถลงในนามประเทศไทย เพื่อแสดงจุดยืนในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญและตระหนักถึงผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จึงได้มีการบูรณาการเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งในวาระการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง

ในส่วนของการดำเนินงานในช่วงก่อนสิ้นปี พ.ศ. 2563 ประเทศไทยได้ประสบความสำเร็จในการลดก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 14% เมื่อปี 2560 ในภาคพลังงานและขนส่ง ซึ่งคิดเป็นสองเท่าของเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ประเทศไทยตั้งเป้าหมายไว้สำหรับปี พ.ศ. 2563

นอกจากนั้น ประเทศไทยได้พยายามเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลไกการดำเนินงานภายในประเทศ โดยการเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรในประเทศ และกำหนดโครงสร้างที่จำเป็นในการดำเนินการให้สามารถบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดทั้งในด้านการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวจากผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อทำให้การดำเนินงานในประเทศสอดคล้องและตอบโจทย์เป้าหมายความตกลงปารีส

นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดทำร่างกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับแรกของไทย การจัดทำยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ และการปรับปรุงระบบการเงินในประเทศ รวมถึงการเสริมสร้างบทบาทของกองทุนสิ่งแวดล้อมในการสนับสนุนทางการเงินแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนในการจัดทำโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ทั้งนี้ ประเทศไทยยังมุ่งมั่นที่จะบูรณาการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับประเด็นสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ เช่น การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ การลดมลสารช่วงชีวิตสั้นที่ส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ (Short-lived climate pollutants) และขยะทะเล เป็นต้น

เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้รวมกับประเทศต่าง ๆ ภายใต้กลไกความร่วมมือพหุภาคี ในโอกาสนี้ ประเทศไทยจึงแสดงความตั้งใจอย่างเต็มที่ที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินงานเพื่อปกป้องภูมิอากาศสำหรับอนาคตของโลกและลูกหลานของเราทุกคน

สำหรับผลการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 25 หรือ COP25 มีกำหนดปิดการประชุมในวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2562
และเกือบจะต้องปิดฉากลงโดยไม่มีความคืบหน้า แต่ที่ประชุมได้ตัดสินใจเลื่อนการเจรจาออกไปอีก 2 วันและสิ้นสุดลงอย่าง “พอมีความหวัง” ในวันที่ 15 ธันวาคม
ซึ่งแม้จะเป็นเพียงความคืบหน้าที่ไม่มากนัก แต่ก็ยังดีกว่าปิดฉากโดยไม่มีข้อสรุป หลังจากที่การประชุม COP25 ต้องเผชิญกับอุปสรรคนานับประการ รวมถึงการเปลี่ยนเจ้าภาพและสถานที่ประชุมถึง 2 ครั้ง

จากร่างข้อตกลงที่เสนอโดยประธานที่ประชุมก่อนที่จะมีการตกลงอย่างเป็นทางการ
มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้

• รับรู้ว่าการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะมีประสิทธิภาพมากที่สุดหากใช้วิท
ยาศาสตร์ที่ดีที่สุดที่เรามีอยู่ และจะต้องประเมินใหม่อย่างต่อเนื่องหากมีการค้นพบข้อมูลใหม่ๆ

• ต้องรับรู้ถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่เพิ่มขึ้นในอันที่จะต้องมีความกระตือรือร้นที่จะตอบสนองต่อการคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

• เน้นย้ำความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขช่องโหว่ในการลดผลกระทบของภาคีสมาชิก
ทั้งในแง่ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกภายในปี พ.ศ. 2563 และการสกัดให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียสก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม และเดินหน้าที่จะจำกัดอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม

• ข้อเสนอส่วนใหญ่ในแถลงการณ์ ประธานที่ประชุมได้เรียกร้องให้ประเทศภาคีสมาชิกเร่งดำเนินการปรับใช้มาตรการที่ระบุไว้ในข้อตกลง เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งในการนี้ ประธานได้ขอให้คณะกรรมการว่าด้วยการปรับใช้มาตรการ (Adaptation Committee) พิจารณาวิธีการตรวจสอบความคืบหน้าโดยรวมในการบรรลุเป้าหมายระดับโลกในการปรับใช้มาตรการและเสนอในรายงานประจำปี พ.ศ. 2564

• ย้ำความสำคัญของการปฏิบัติตามความตกลงปารีสที่เกี่ยวข้องกับการเงิน
การถ่ายโอนเทคโนโลยีและการสร้างขีดความสามารถเพื่อตอบสนองต่อการปรับตัวตามความจำเป็นและลำดับความสำคัญของประเทศกำลังพัฒนา

• เรียกร้องให้ประเทศที่พัฒนาแล้วจัดหาทรัพยากรทางการเงินเพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในส่วนที่เกี่ยวกับการบรรเทาและการปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ตามพันธกรณีที่มีอยู่ภายใต้อนุสัญญาและสนับสนุนให้ภาคีอื่นให้การสนับสนุนหรือดำเนินการต่อไปด้วยความสมัครใจ

 

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

ชุบชีวิต ‘ขยะทะเล’ เพิ่มมูลค่า ชุมชนยั่งยืน ลดโลกร้อน