อัปเดตสถานะ ‘นกชนหิน’ ยังไม่ประกาศเป็นสัตว์ป่าสงวน ลำดับที่ 20 อย่างเป็นทางการ

ด้วยวันที่ 13 ก.พ. ของทุกปีเป็น “วันรักนกเงือก” ทาง iGreen จึงอัปเดตสถานการณ์นกเงือกในพื้นที่ชายแดนใต้จากปรีดา เทียนส่งรัศมี นักวิจัยโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือที่นักอนุรักษ์นกเงือกมักเรียกเขาในนาม “ปรีดา บูโด” เมื่อ 13 ก.พ. 2565 เขาบอกว่า แม้คณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติจะให้ความเห็นชอบให้ “นกชนหิน” เป็นสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20 ของประเทศไทยไปตั้งแต่ 8 มี.ค. 2564 แต่ถึงขณะนี้เท่าที่ทราบยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ เพราะยังอยู่ในกระบวนการพิจารณา

“ไม่ทราบติดขัดตรงไหน ไม่มีความคืบหน้าเท่าไหร่ แต่ที่บูโด (อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี จ.นราธิวาส) ตอนนี้ดีขึ้นมาก มีการติดกล้องวงจรปิด คนตัดไม้ก็กลัวกัน พอมีข่าวการจับกุมทางสื่อก็ได้ผล ปีนี้ถือว่าดีขึ้นเป็นลำดับ พรานรุ่นเก่า ๆ ก็แก่ตายกันไป นกชนหินปีนี้ก็ออกลูก 2 ตัว แต่ที่คลองแสง (สุราษฎร์ธานี) ทราบว่ารังเสียหายไม่มีคนซ่อม เจ้าหน้าที่ก็ยุ่ง งบก็ถูกตัด นกชนหินก็จะไม่มีรังใช้และไม่วางไข่ รังจึงสำคัญมาก ๆ สำหรับนกเงือก

“ถ้ารัฐประกาศนกชนหินเป็นสัตว์สงวนลำดับที่ 20 เป็นทางการเมื่อไหร่จะเป็นเรื่องที่ดีเพราะรัฐจะให้ความสำคัญมากขึ้นโดยเฉพาะการซ่อมแซมรัง ส่วนพรานที่เป็นอดีตทหารพรานที่เคยเป็นข่าวเข้ามาล่านกเงือกก่อนหน้านี้ก็หายไปแล้ว เพราะที่หมู่บ้านตะโหนด อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เปลี่ยนผู้ใหญ่บ้านคนใหม่ และที่หมู่บ้านยือลาแปที่ติดกัน ถ้าเข้ามาแบบไม่ประสงค์ดีหรือมาล่าสัตว์ เขาแบล็กลิสต์เขาไม่ให้เข้าหมู่บ้าน” ปรีดากล่าว

อนึ่ง เมื่อวันที่ 8 มี.ค.2564 คณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ได้ให้ความเห็นชอบให้นกชนหินซึ่งเป็น 1 ใน 13 ชนิดของนกเงือกของไทยเป็นสัตว์ป่าสงวน ลำดับที่ 20 ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2562 จากที่ก่อนหน้านั้นทางมูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้สร้างแคมเปญรณรงค์ “ขอให้นกชนหินเป็นสัตว์ป่าสงวนอันลำดับที่ 20 ของไทย” ผ่านเว็บไซต์ www.change.org 

สำหรับสถานะของนกเงือกในไทยโดยรวมพบว่า “นกชนหิน” (Helmeted Hornbill) น่าเป็นห่วงที่สุดเพราะมีการล่าในอินโดนีเซียเพื่อส่งหัวไปขายที่ประเทศจีน รวมทั้งมีข่าวการล่านกในมาเลเซียและตะเข็บชายแดนไทย นกชนหินถือเป็นสัตว์โบราณโดยบรรพบุรุษของมันมีอายุถึง 45 ล้านปี มีบทบาทสำคัญในการกระจายเมล็ดพันธุ์ไม้ หรือกล่าวได้ว่านกเงือกเหล่านี้ช่วยปลูกป่าและขยายพื้นที่ป่าจากพฤติกรรมการกินผลไม้ที่หลากหลาย

อ่านประกอบ: https://www.igreenstory.co/helmeted-hornbill/

Related posts

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

COP29 มุ่งมั่นเป้าหมายทางการเงินใหม่ ชาติพัฒนาแล้วจ่าย 1 แสนล้าน

‘เฉลิมชัย’ พาหมูเด้งบุก COP29 เปิด Thailand Pavilion โชว์แก้โลกเดือด