เปิดวาร์ป ‘เม่นหมวกกันน็อค’

ช่วงนี้เกิดปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาวเยอะมาก ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ทำให้อุทยานทั้งหลายต้องสั่งปิดแหล่งท่องเที่ยวกันจ้าละหวั่น เราก็เลยอยากพาไปทำความรู้จักสัตว์ทะเลหายากตัวหนึ่งที่เขาบอกว่า เอาตัวรอดเก่ง มันคือ “เม่นหมวกกันน็อค” ซึ่งปกติเม่นทะเลจะมีหนามแหลมๆ ตามลำตัว แต่เจ้าตัวนี้กลับไร้หนาม ทั้งที่ๆ ที่มันเป็นสัตว์ในกลุ่มผิวลำตัวเป็นหนาม (Echinoderm) เช่นเดียวกับ ดาวทะเล ดาวขนนก ดาวเปราะ และปลิงทะเล

สัตว์ทะเลหายากของประเทศไทยชนิดนี้ตามลำตัวไม่มีหนามแหลมเหมือนเม่นทะเลทั่วๆ ไป ลักษณะเป็นแผ่นหรือเกล็ดคลุมลำตัว คล้ายกระเบื้องมุงหลังคาบ้าน
พวกมันมีถิ่นอาศัยในเขต อินโด-แปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ในทะเลไทยถือว่าพบได้ยากมาก โดยครั้งล่าสุด อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน โพสต์ข้อความว่าพบเม่นหมวกกันน็อค ประมาณ 50 ตัว บริเวณเกาะบางู ขณะออกลาดตระเวนเชิงคุณภาพ เมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมาซึ่งถือเป็นครั้งแรกของอุทยานฯ หมู่เกาะสิมิลันที่พบเม่นชนิดนี้

เม่นหมวกกันน็อคมีความสามารถพิเศษตรงที่มันสามารถอาศัยในพื้นที่ที่มีคลื่นลมรุนแรงตลอดเวลาได้ การมีหนามแหลมจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการดำรงชีวิต และอีกเหตุผลที่สำคัญ ก็คือบริเวณที่มีคลื่นลมที่แรงทำให้พวกมันปลอดภัยจากนักล่า หรือเข้าถึงตัวพวกมันได้ยาก

สุธีรชัย สมทา นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล ประจำอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ให้ข้อมูลงานวิจัยเกี่ยวกับการทดสอบแรงยึดเกาะของเม่นหมวกกันน็อค Santos & Flammang (2007) ว่า เม่นหมวกกันน็อคสามารถต้านทานแรงปะทะคลื่นได้ตั้งแต่ความเร็ว 17.5 เมตรต่อวินาที ไปจนถึง 27.5 เมตรต่อวินาที หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพความเร็ว 27.5 เมตรต่อวินาที คือแรงลมที่สามารถถอนต้นไม้ได้ทั้งต้นเลยทีเดียว

จากรายงานมีการพบเม่นหมวกกันน็อคครั้งแรกในปี 2530 โดย ดร.สมชัย บุศราวิช จากโครงการ First PMBC/DANIDA Training course and workshop on taxonomy, biology and ecology of echinoderms และครั้งที่ 2 พบอีกครั้งที่เกาะราชา จ.ภูเก็ต ในปี 2547 โดย ดร.สุเมตต์ ปุจฉาการ สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา ในรายงาน Putchakarn.S and Sonchaeng.P (2004). Echinoderm Fauna of Thailand: History and Inventory Reviews. ScienceAsia 30 (2004): 417-428

สำหรับ เม่นหมวกกันน็อค (Helmet Urchins) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Colobocentrotus atratus หรือบางทีเรียกกันในชื่อ หอยเม่นกระเบื้องมุงหลังคา (shingle urchin) ซึ่งมาจากรูปลักษณะเนื้อตัวเกลี้ยงเกลาเหมือนมุงด้วยกระเบื้อง และไร้หนามแหลมแม้แต่อันเดียว

อ้างอิง:
-อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ – Mu Ko Surin National Park
-https://www.thaipbs.or.th/news/content/286045

Related posts

จัดเดิน-วิ่ง มินิมาราธอน ปีที่ 2 ส่งต่อขาเทียมช่วยผู้พิการยากไร้

‘COP-19’ ดันอาเซียน เป็นภูมิภาคปลอด หมอกควัน

5 ปีอุณภูมิโลกส่อทะลุ 1.5 องศา ไทยเร่งรับมือ 6 สาขาเสี่ยงระดับพื้นที่