เจ้าของเบียร์ไฮเนเก้นสั่งออกแบบ ขวดรีไซเคิลยุคแรก ๆ ของโลก เพื่อสร้างบ้านให้คนจนแต่ถูกปฏิเสธ

WOBO คือขวดเบียร์ที่มีด้านแบนพร้อมปุ่มนูนและก้นเว้า ถูกออกแบบเมื่อปี 1994 โดยที่เจ้าของต้องการใช้มันถูกนำไปใช้ต่อสำหรับการสร้างบ้านแทนที่จะถูกทิ้งเป็นขยะ  และได้รับการจดสิทธิบัตรทั่วโลก แต่กลับถูกปฏิเสธเนื่องจากเวลานั้นโลกไม่รู้จักคำว่า รีไซเคิล

อัลเฟรด เฮนรี หรือ “เฟรดดี้” ไฮเนเก้น (Alfred Henry “Freddy” Heineken) เป็นนักธุรกิจชาวดัตช์เจ้าของบริษัทไฮเนเก้น อินเตอร์เนชั่นแนล (Heineken International) สืบทอดบริษัทมาจากปู่ของเขาที่ซื้อบริษัทเบียร์แห่งนี้มาในปี 1864 ไฮเนเก้นถือเป็นหนึ่งในคนที่ร่ำรวยที่สุดในเนเธอร์แลนด์ ตอนที่เขามีชีวิตอยู่ เฟรดดี้ ไฮเนเก้น มีทรัพย์สินสุทธิถึง 9,5000 ล้านกิลเดอร์ (ประมาณ 157,257 ล้านบาท)

เฟรดดี้ ไฮเนเก้น เป็นผู้เปลี่ยนแปลงแบรนด์เบียร์ Heineken อย่างแท้จริง เขาคือผู้ที่พัฒนาแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักในเนเธอร์แลนด์เป็นหลักให้กลายเป็นชื่อแบรนด์เบียร์ที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เขายังเป็นผู้บริหารที่มีความคิดก้าวหน้าทางการเมืองและสังคม เป็นสมาชิกของพรรคประชาชนเพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย และเขียนหนังสือชื่อ The United States of Europe, A Eurotopia? โดยเสนอให้ตั้งสหพันธรัฐของยุโรปเหมือนสหรัฐอเมริกา

ด้วยความที่เฟรดดี้ ไฮเนเก้น มีหัวคิดก้าวหน้าที่เปี่ยมวิสัยทัศน์ทำให้เขาเกิดแรงบันดาลใจขึ้นมาหลังจากการไปเยือนหมู่เกาะเนเธอร์แลนด์แอนทิลลีส ประเทศในทะเลแคริบเบียนที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์  ตอนนั้นเขาอยู่ในวัยหกสิบต้น ๆ แล้ว เมื่อไปถึงที่นั่นเขารู้สึกทึ่งกับปริมาณขยะมากมายที่ทิ้งสะเปะสะปะ และขยะบางส่วนนั้นเป็นขวดเบียร์ของบริษัทเขานั่นเอง

เฟรดดี้ ไฮเนเก้นยังพบว่าหมู่เกาะอันสวยงามแห่งนี้เต็มไปด้วยความยากจน ผู้คนไม่มีบ้านเรือนดี ๆ อาศัยกัน เขาจึงเกิดความคิดหนึ่งขึ้นมา ไฮเนเก้นได้ติดต่อสถาปนิกจอห์น ฮาบราเคน (John Habraken) ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการวิจัยสถาปนิก (SAR) โดยเสนอแนวคิดในการออกแบบขวดที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ซึ่งสามารถใช้เป็นอิฐสร้างบ้านได้หลังดื่มเบียร์หมดแล้ว ฮาบราเคนรับแนวทางมาแล้วออกแบบขวดที่สามารถนำมาใช้สำหรับการก่อสร้างได้จริง 

ดีไซน์แรกมันไม่เหมือนกับขวดเบียร์ที่ไฮเนเก้นคิดไว้ ฮาบราเคนจึงทำการออกแบบที่สองจนได้ขวด Heineken World Bottle หรือ WOBO มันไม่ใช่ขวดกลม ๆ ที่เราคุ้นเคย แต่เป็นขวดที่มีด้านแบนพร้อมปุ่มนูนและก้นเว้า เพื่อทำให้มันยึดติดแน่น แข็งแรงแต่ก็มีน้ำหนักเบา ในปี 1964 ไฮเนเก้นสั่งผลิตขวดเหล่านี้ทั้งหมด 100,000 ขวด ทั้งขนาด 35 ซล. และ 50 ซ.ล. และได้รับการจดสิทธิบัตรทั่วโลก

แม้จะมีเจตนาดี แต่ขวด WOBO กลับถูกต่อต้าน โดยเฉพาะจากแผนกการตลาดของบริษัท Heineken เพราะมีความกังวลว่าจะทำให้ภาพลักษณ์เสียหายและทำให้บริษัทถูกมองว่าเป็นตัวการทำให้เกิดการใช้ขวดอย่างไม่ถูกต้อง (อย่าลืมว่าตอนนั้นโลกยังไม่มีคอนเซปต์รีไซเคิล) อย่างไรก็ตาม เฟรดดี้ ไฮเนเก้นยังมุ่งมั่นถึงกับสร้างบ้านสวนในสวนของเขาเองจากขวด WOBO หลังจากนั้นการโต้เถียงเกี่ยวกับโครงการก็สงบลง

แต่ถึงขนาดนี้แล้ว ขวด WOBO ไม่เคยออกสู่ตลาดจริง ๆ น่าจะเป็นเพราะลูกค้าในช่วงทศวรรษ 1960 ชอบสัมผัสและรูปลักษณ์ของขวดที่โค้งมนมากกว่า ทำให้จนถึงทุกวันนี้ Heineken ก็ยังใช้ขวดกลมสีเขียวแบบเดิม ส่วนโครงการบ้านอิฐจากขวดแล้ว WOBO ก็ถูกลืมเลือนกันไป  แต่มันยังคงอยู่ในใจของผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์ของการรีไซเคิลเสมอมาในฐานะ “ผู้บุกเบิก”

สิบปีต่อมา ฮาบราเคนกลับมาหาเฟรดดี้ ไฮเนเก้นอีกครั้งหลังจากมีการตีพิมพ์เรื่อง ‘Garbage Housing’ (บ้านจากขยะ) โดยมาร์ติน พอว์ลีย์ (Martin Pawley) นักวิจารณ์ชาวอังกฤษและศาสตราจารย์ด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบ พอว์ลีย์เป็นผู้ส่งเสริมแนวคิดเรื่องการรีไซเคิลขยะ และนำเอาภาพบ้านสวนที่ทำจากขวด WOBO ของเฟรดดี้ ไฮเนเก้นไว้บนหน้าปกหนังสือของเขาอย่างเด่นชัด

ฮาบราเคนเขียนถึงไฮเนเก้นว่า “ความคิดริเริ่มของ WOBO เมื่อ 10 ปีที่แล้วถูกมองว่าเป็นความคิดริเริ่มทางอุตสาหกรรมครั้งแรกในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้” ซึ่งไฮเนเก้นตอบสนองด้วยการยืนยันอีกครั้งว่าเขาสนับสนุนโครงการนี้

เพื่อพัฒนาโครงการในบริบทที่กว้างขึ้น ทีมงาน SAR ของฮาบราเคนยังได้ติดต่อไปยังบริษัทผลิตชิ้นส่วนก่อสร้างต่าง ๆ เพื่อความช่วยเหลือของวัสดุ โดย “บ้าน” ที่ทำจากขวด WOBO ทั้งหมดจะถูกสร้างขึ้นบนพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเทคนิคไอน์โฮเฟน และจะทำหน้าที่เป็นสำนักงานของ SAR น่าเสียดายที่อาคารนี้ไม่เคยถูกสร้างขึ้นมาตามแผน เพราะคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเทคนิคไอน์โฮเฟน และเฟรดดี้ ไฮเนเก้นไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้

แต่กระนั้นก็ตาม WOBO ก็เป็นอย่างที่ฮาบราเคนบอกว่าไว้ว่ามันคือ “ความคิดริเริ่มทางอุตสาหกรรมครั้งแรกในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้” และหลังจากนั้นมีผู้คนมากมายนำขวดมาสร้างเป็นบ้านและอาคารได้จริง ๆ แม้ว่ามันจะเป็นขวดกลมก็ตาม WOBO จึงเป็นไอเดียที่มาก่อนกาล และยังเป็นไอเดียของภาคอุตสาหกรรมที่ลงมือผลิตจริง ๆ เพื่อตอบสนองการรีไซเคิล ในยุคที่มนุษยชาติยังไม่รู้จักคำว่า Recycling ด้วยซ้ำ

ข้อมูลส่วนใหญ่และภาพจาก: 

“The story behind the WOBO” ใน https://www.heinekencollection.com/en/stories/the-story-behind-the-wobo

Related posts

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

COP29 มุ่งมั่นเป้าหมายทางการเงินใหม่ ชาติพัฒนาแล้วจ่าย 1 แสนล้าน

‘เฉลิมชัย’ พาหมูเด้งบุก COP29 เปิด Thailand Pavilion โชว์แก้โลกเดือด