เมืองต่างๆ ทั่วโลกเร่งปรับตัวจากคลื่นความร้อนจะที่ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มสูงถึง 35 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและอื่น
เมืองต่างๆ ทั่วโลกกำลังเผชิญกับความร้อนที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้หลายแห่งต้องหาวิธีแก้ไขและปรับตัวเพื่อลดผลกระทบจากคลื่นความร้อนและอุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างรุนแรง
หลายเมืองได้พยายามเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อช่วยลดอุณหภูมิ เช่น การปลูกต้นไม้ สร้างสวนสาธารณะ หรือการจัดสวนบนหลังคา (green roofs) ให้ช่วยดูดซับความร้อนและสร้างร่มเงา ตัวอย่างเช่น เมืองมิลานในอิตาลีได้เริ่มโครงการ “Bosco Verticale” หรือ “ป่าแนวตั้ง” โดยการสร้างอาคารที่มีต้นไม้และพืชปกคลุมทั่วอาคาร ช่วยปรับสภาพอากาศและกรองมลพิษ
บางเมืองเลือกที่จะเปลี่ยนวัสดุหรือโครงสร้างในการก่อสร้างถนนและอาคารเพื่อสะท้อนความร้อนและลดการดูดซับความร้อน เช่น ในเมืองลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา ใช้สีสะท้อนแสงบนถนนหรือหลังคาเพื่อช่วยลดอุณหภูมิภายใน
นอกจากนั้น เมืองหลายแห่งได้สร้างระบบระบายความร้อนที่สามารถให้ความเย็นแก่ชุมชนหรือเมืองในช่วงเกิดคลื่นความร้อน เช่น การติดตั้งระบบพ่นละอองน้ำในที่สาธารณะ หรือการสร้างสถานที่พักพิงที่มีเครื่องปรับอากาศให้ประชาชนได้พักพิงในช่วงที่อากาศร้อนจัด
ในขณะเดียวกันบางเมืองก็ได้สร้างระบบเตือนภัยความร้อนและแผนการจัดการเหตุฉุกเฉิน เช่น การส่งข้อความแจ้งเตือนประชาชนเมื่ออุณหภูมิสูงถึงระดับอันตราย และการเตรียมแผนรับมือสำหรับกลุ่มคนที่อาจได้รับผลกระทบรุนแรงจากความร้อน เช่น ผู้สูงอายุและผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ
ปัญหาจากคลื่นความร้อนและผลกระทบจากภาวะโลกร้อนต้องร่วมมือกัน โดยเมืองต่างๆ สามารถเรียนรู้กันและกันผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อแบ่งปันแนวทางและวิธีการจัดการกับปัญหาความร้อนที่ยั่งยืน
การรับมือกับความร้อนที่อุณหภูมิทำลายสถิติในหลายเมืองของโลก นักวางแผนเมืองและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นต้องคิดค้นวิธีการเพื่อทำให้เมืองที่ร้อนอบอ้าวเย็นลง ซึ่งภายในปี 2050 คาดว่าคลื่นความร้อนจะส่งผลกระทบต่อผู้คนมากกว่า 3,500 ล้านคนทั่วโลก โดยครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้จะอยู่ในเขตเมือง ตามข้อมูลจากศูนย์ Adrienne Arsht-Rockefeller Foundation Resilience Center (Arsht-Rock) ที่ตั้งอยู่ในสหรัฐฯ
เมืองมักมีอุณหภูมิสูงกว่าพื้นที่ในชนบทที่อยู่ใกล้เคียงหลายองศา เนื่องจากความร้อนถูกกักเก็บโดยคอนกรีตและถนนหรืออาคารที่มีสีเข้ม ซึ่งก่อให้เกิดปรากฏการณ์ “เกาะความร้อน” ส่งผลให้อุณหภูมิในตอนกลางคืนยังคงสูงอยู่
ผู้คนที่อาศัยอยู่ในย่านชุมชนรายได้ต่ำมักจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากความร้อนที่รุนแรงมากที่สุด เนื่องจากไม่มีพื้นที่สีเขียว ขาดร่มเงา และสวนสาธารณะ
เว้นแต่ก๊าซเรือนกระจกจะลดลงได้ภายในปี 2050 แต่ถ้าทำไม่ได้ สหประชาชาติประมาณการว่าจะมีเมืองมากถึง 1,000 แห่งที่เผชิญกับอุณหภูมิเฉลี่ยในฤดูร้อนสูงถึง 35 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงเป็นจำนวนเกือบสามเท่าของจำนวนเมืองในปัจจุบัน
นี่คือวิธีที่เมืองต่างๆ ทั่วโลกกำลังตอบสนองต่อปัญหานี้
1) เปลี่ยนเมืองให้เป็นพื้นที่สีเขียว
การศึกษาการสร้างแบบจำลองในปี 2023 โดยทีมนักวิจัยที่ทำการศึกษาเมืองในยุโรป 93 แห่ง พบว่าการเพิ่มพื้นที่ต้นไม้จากค่าเฉลี่ยของเมืองในยุโรปที่ 14.9% เป็น 30% สามารถลดอุณหภูมิในเมืองได้ 0.4 องศาเซลเซียส ซึ่งอาจลดจำนวนการเสียชีวิตจากความร้อนได้ถึง 1 ใน 3
หลายเมืองทั่วโลก เช่น ซิดนีย์ เซี่ยงไฮ้ แวนคูเวอร์ และโจฮันเนสเบิร์ก ได้เร่งสร้างพื้นที่สีเขียวในเมืองโดยการปลูกต้นไม้และพืชพรรณบนกำแพงและหลังคาของอาคาร เพื่อให้ร่มเงาและช่วยลดอุณหภูมิ
หลังคาสีเขียวช่วยดูดซับความร้อนและทำหน้าที่เป็นฉนวน ช่วยลดพลังงานที่จำเป็นสำหรับการทำความเย็นและทำความร้อน ตามข้อมูลจากหน่วยงานพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ (EPA)
สิงคโปร์เป็นหนึ่งในเมืองชั้นนำในการทำให้พื้นที่ 100 เฮกตาร์ หรือประมาณ 1 ตารางกิโลเมตรของอาคารมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น และตั้งเป้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าภายในปี 2030 นอกจากนี้ยังพัฒนาเส้นทางธรรมชาติอีกประมาณ 50 เส้นทาง
ในเมืองเมเดยินเมืองใหญ่อันดับสองของโคลอมเบีย ได้สร้างเครือข่ายที่ทางเชื่อมต่อกันประมาณ 30 เส้นที่เต็มไปด้วยต้นไม้และพืชพรรณ ทำให้เกิดเส้นทางร่มเงาสำหรับคนเดินเท้าและนักปั่นจักรยาน
ที่ปารีส โครงการ “Oasis schoolyard” มีเป้าหมายเพื่อลดผลกระทบจากเกาะความร้อน โดยการเปลี่ยนสนามเด็กเล่นสาธารณะ 770 แห่ง ให้เป็นพื้นที่ที่มีร่มเงามากขึ้นโดยการปลูกต้นไม้มากขึ้น ภายในปี 2040
2) พลังงานลม
หอคอยลมสูงที่เรียกว่า “wind catchers” ถูกใช้มานานหลายศตวรรษในบางพื้นที่ของตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ และเอเชีย โดยเป็นระบบระบายอากาศตามธรรมชาติที่ช่วยให้เมืองเย็นลง
หอคอยลมนี้เป็นสถาปัตยกรรมที่คล้ายปล่องไฟ ซึ่งพบได้บนหลังคาอาคารและบ้านเรือน โดยมีช่องแนวตั้งที่จับและนำพาการเคลื่อนไหวของอากาศที่ขับเคลื่อนด้วยลมซึ่งสามารถช่วยลดผลกระทบจากเกาะความร้อนได้
ในสิงคโปร์ นักวางแผนเมืองและนักพัฒนาโครงการอาคารสูงใหม่ได้พยายามใช้ลม โดยการสร้างเครือข่ายทางเดินลมเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของลมธรรมชาติ และลดความร้อนที่สะสมในช่วงมรสุมต่างๆ
3) การบรรเทาความร้อนด้วยน้ำ
สระน้ำขนาดใหญ่ คลอง และแม่น้ำที่มีต้นไม้ให้ร่มเงาสามารถช่วยลดอุณหภูมิในบริเวณโดยรอบได้ ขณะที่น้ำพุ สวนน้ำ และสถานีพ่นละอองน้ำสามารถช่วยทำให้อากาศเย็นลงและให้ความสบายในทันทีสำหรับผู้คนที่เดินผ่านไปมา
ในกรุงโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้ รัฐบาลของเมืองได้ร่วมมือกับประชาชนเพื่อฟื้นฟูลำธารชองกเยชอน ซึ่งเป็นแม่น้ำที่ถูกปิดทับด้วยทางด่วนเป็นเวลาหลายทศวรรษ โครงการฟื้นฟูธรรมชาติได้ โดยสามารถช่วยป้องกันน้ำท่วมและลดอุณหภูมิลงจากเกาะความร้อนได้
การวิจัยแสดงให้เห็นว่าอุณหภูมิตามแม่น้ำที่ไหลผ่านใจกลางกรุงโซลเย็นลง 3.3-5.9 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับถนนขนานที่อยู่ห่างออกไปเพียงไม่กี่ช่วงตึก
4) หลังคาเย็น
การทาสีหลังคาด้วยสีขาวที่สะท้อนแสงเป็นวิธีที่มีต้นทุนต่ำและง่ายในการลดอุณหภูมิภายในอาคารได้มากถึง 5 องศาเซลเซียส ตามข้อมูลจากสหประชาชาติ อย่างในเมืองอาห์เมดาบัดของอินเดีย หลังจากเกิดคลื่นความร้อนที่รุนแรงในปี 2010 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,300 คน ในชุมชนแออัดได้หลังคาบ้านเป็นสีขาว ส่งผลให้หลายเมืองในอินเดียดำเนินการเช่นเดียวกัน
ในนิวยอร์กซิตี้ โครงการ “Cool Roofs” ที่เริ่มขึ้นในปี 2009 ได้ทาสีหลังคาขาวมากกว่า 929,000 ตารางเมตร โครงการคล้ายกันนี้ยังได้นำไปใช้ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และโตรอนโต ซึ่งโครงการ “Eco-Roof” ของเมืองมีการให้แรงจูงใจทางการเงินเพื่อส่งเสริมให้มีการสร้างหลังคาเย็น
5) ถนนสะท้อนความร้อน
ถนนสีเข้มและพื้นผิวคอนกรีตดูดซับและปล่อยความร้อนออกมา ซึ่งส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ “เกาะความร้อน” โดยทำให้อุณหภูมิในเขตเมืองในเวลากลางวันสูงกว่าพื้นที่โดยรอบประมาณ 0.6-3.9 องศาเซลเซียส ตามข้อมูลของหน่วยงาน EPA ของสหรัฐฯ
หลายเมืองในสหรัฐฯ ตั้งแต่ลอสแอนเจลิสไปจนถึงฟีนิกซ์ รวมถึงโตเกียวและเมืองหลวงอื่นๆ ทั่วโลก ได้เคลือบถนน ทางเท้า ที่จอดรถ และสนามกีฬาด้วยสีสะท้อนแสงที่ป้องกันแสงอาทิตย์ ในฟีนิกซ์มีถนนประมาณ 189 กิโลเมตรที่ได้รับการเคลือบพิเศษด้วยยางมะตอยเพื่อลดความร้อน ซึ่งสามารถทำให้อุณหภูมิลดลงได้ถึง 6.7 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับถนนที่ทาด้วยสีแอสฟัลต์มาตรฐานในช่วงเที่ยงและบ่าย
6) การฟื้นฟูภูมิปัญญาโบราณ
เทคนิคการก่อสร้างแบบดั้งเดิมที่ส่งเสริมการระบายอากาศตามธรรมชาติกำลังได้รับการฟื้นฟูในกวางโจว หนึ่งในเมืองใหญ่ของจีนที่มีประชากรราว 19 ล้านคน ย่านประวัติศาสตร์ยงชิ่งฟางของเมืองนี้ได้นำช่องระบายความร้อน กำแพงกลวง และหลังคากระเบื้องสองชั้นมาใช้ ซึ่งช่วยป้องกันความร้อนได้อย่างดี
อ้างอิง: May 28, 2024 . How cities around the world are finding ways to beat extreme heat by Anastasia Moloney, Context