ซาอุฯ ร้อนจัด 51 องศา ผู้แสวงบุญพิธีฮัจญ์เสียชีวิต 1,300 ราย

พิธีฮัจญ์ในนครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ปีนี้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 1,300 ราย เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด อุณหภูมิพุ่งสูงถึง 51 องศาเซลเซียส

ในแต่ละปีทางการซาอุดีอาระเบียมีการออกใบอนุญาตให้ชาวมุสลิมจากทั่วโลกเดินทางเข้านครเมกกะเพื่อประกอบพิธีฮัจญ์ โดยให้โควตาสำหรับแต่ละประเทศ จากรายงานของสำนักข่าว CNN ระบุว่าปีนี้ ซาอุดีอาระเบียกำหนดออกใบอนุญาต 1.8 ล้านใบ แต่กลับมีผู้เข้าร่วมแสวงบุญสูงถึง 2 ล้านคน

ในรายงานการเสียชีวิตพบว่า 83% ของ 1,301 รายที่เสียชีวิตนั้นเป็นผู้แสวงบุญที่มาร่วมงานโดยไม่มีใบอนุญาต ส่งผลให้ไม่สามารถจะเข้าถึงความช่วยเหลือและทรัพยากรที่ทางรัฐบาลซาอุดีอาระเบียได้จัดเตรียมไว้

ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ขณะนี้เป็นชาวอียิปต์รวมทั้งสิ้น 672 ราย สูญหายอีก 25 ราย ซึ่งหลังจากมีรายงานผู้เสียชีวิต รัฐบาลอียิปต์ได้ตรวจสอบและให้คำมั่นว่าจะเพิกถอนใบอนุญาตบริษัทท่องเที่ยวฮัจญ์ทั้ง 16 บริษัท ที่จัดทริปแสวงบุญอย่างผิดกฎหมาย

รัฐบาลอินโดนีเซียเผยว่ามีผู้แสวงบุญชาวอินโดนีเซียเสียชีวิต 236 ราย ขณะที่ทางการอินเดียระบุว่ามีชาวอินเดียเสียชีวิต 98 ราย ขณะเข้าร่วมพิธีฮัจญ์ในครั้งนี้
นอกจากนี้ยังมีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติมซึ่งเป็นชาวตูนิเซีย จอร์แดน อิหร่าน และเซเนกัล ทำให้ยอดรวมผู้เสียชีวิตในปีนี้มีอย่างน้อย 1,301 คน

ซีร์ราร์ อาลี วัย 40 ปีผู้เข้าร่วมแสวงบุญในครั้งนี้ให้สัมภาษณ์กับ CNN ว่า ผู้แสวงบุญจำนวนมากเดินเท้าขั้นต่ำ 5 ชั่วโมง และใช้เวลาอยู่กลางแจ้งเฉลี่ย 12 ชั่วโมงต่อวัน และระหว่างทางเขาเห็นผู้แสวงบุญจำนวนมากเสียชีวิต เกือบทุกสองสามร้อยเมตรจะมีศพนอนคลุมด้วยผ้าอิรอม (ผ้าขาว)

แม้ว่าการเดินระยะไกลเป็นส่วนสำคัญของประสบการณ์การทำฮัจญ์ แต่ซีร์ราร์เชื่อว่ารัฐบาลซาอุดีอาระเบียควรอำนวยความสะดวกและให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมได้ดีกว่านี้

“การใช้เวลาแปดชั่วโมงเพื่อเดินทางจากจุด A ไปจุด B นั่นเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกฝนความอดทน แต่ ณ จุดนั้น เราไม่ได้ถูกสอนว่าถ้าคุณไม่มีน้ำเป็นเวลา 10 ชั่วโมง ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของพิธีฮัจญ์ เราควรได้รับความสะดวกเพื่อให้เราสามารถดูแลตัวราเองได้ดีกว่านี้

สำนักข่าว BBC เชื่อว่าอุณภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ย สูงถึง 51.8 องศาเซลเซียส คือปัจจัยหลักที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากในครั้งนี้มาจาก แม้จะอยู่ในที่ร่มแต่คนจำนวนไม่น้อยก็เป็นโรคลมแดดหรือฮีทสโตรก รวมทั้งอาการป่วยอื่นๆ อันเนื่องมาจากความร้อน

หลายฝ่ายยังให้ความเห็นว่าการบริหารจัดการของทางการซาอุดีอาระเบีย มีผลทำให้ปัญหาจากสภาพอากาศที่ร้อนสุดขั้วรุนแรงมากขึ้น เช่น เต็นท์ที่พักไม่เพียงพอ ทำให้ผู้คนต้องแออัดเบียดเสียด อุปกรณ์ทำความเย็นในเต็นท์ไม่เพียงพอ หรือตู้กดน้ำเย็นที่ติดตั้งไว้ขาดแคลนน้ำ

รวมถึงปัญหาการคมนาคมขนส่งที่บ่อยครั้งผู้แสวงบุญจำต้องเดินเท้าเป็นระยะทางไกลท่ามกลางอากาศร้อนจัด และความช่วยเหลือทางการแพทย์ที่ล่าช้า
การเสียชีวิตระหว่างแสวงบุญประกอบพิธีฮัจญ์เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ ตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 15 และปีที่แล้ว ทางการซาอุดีอาระเบียรายงานว่ามีผู้แสวงบุญล้มป่วยกว่า 2,000 ราย จากความร้อน

การประกอบพิธีฮัจญ์เปลี่ยนแปลงกำหนดวันตามปฏิทินอิสลาม ซึ่งปีที่แล้วอยู่ระหว่างวันที่ 26 มิ.ย. – 1 ก.ค. ขณะที่ปีนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 14–19 มิ.ย. 2567 ซึ่งเป็นหนึ่งในเดือนที่ร้อนที่สุดของซาอุดีอาระเบีย


ที่มา :
• Jun 23, 2024. Saudi Arabia says 1,301 died on Hajj this year. CNN
• Jun 23, 2024. ‘Not enough medics’ to help pilgrims with heat, Hajj witnesses tell CNN as toll mounts. CNN
• 23 Jun, 2024. More than 1,000 die in haj amid scorching temperatures. Reuters
• 22 Jun, 2024. What’s behind deaths at this year’s Hajj pilgrimage in Saudi Arabia?. BBC

Related posts

เมืองทั่วโลกเร่งปรับตัว รับมือคลื่นความร้อนดันอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น

สรุป 10 ปัจจัยน้ำท่วมเชียงราย ไม่มีระบบบริหารจัดการน้ำระดับชาติ

โลกป่วนภูมิอากาศเปลี่ยน คุมอุณหภูมิไม่อยู่ Flexitarian ช่วยกอบกู้โลก