ใคร ๆ คงรู้จัก ก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน และหลายคนคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า เราทุกคนต้องช่วยกันลดก๊าซเรือนกระจก แต่จะช่วยอย่างไรเล่า หรือจะให้เราเริ่มต้นจากตรงไหนดี
หากมองลงไปในรายละเอียดสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละประเภทจะพบว่า พฤติกรรมการบริโภคของมนุษย์คือ ปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแต่ละภาคส่วนแทบทั้งสิ้น (1) ดังนั้นการเริ่มต้นลดก๊าซเรือนกระจกที่ง่ายที่สุดคือ เริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเราเอง และหนึ่งในพฤติกรรมที่ทำได้ไม่ยากคือ “พฤติกรรมการกิน”
การกินเกี่ยวอะไรกับโลกร้อน?
อาหารที่เรากินนั้นไม่ได้ส่งผลต่อสุขภาพอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงสิ่งแวดล้อมด้วย เนื่องด้วยอาหารจากภาคเกษตรส่วนใหญ่จำเป็นต้องเพาะปลูก แปรรูป ขนส่ง ปรุง และมีบ้างที่เหลือหรือต้องกำจัดทิ้ง แต่ละขั้นตอนนั้นล้วนปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยประมาณ 1 ใน 3 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากมนุษย์นั้นมีส่วนเชื่อมโยงกับอาหาร (2)
ก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องกับอาหารส่วนใหญ่มาจากภาคเกษตรกรรมและการใช้ที่ดิน ซึ่งแบ่งออกได้ ดังนี้
- มีเทนจากกระบวนการย่อยอาหารของวัว/โค
- ไนตรัสออกไซด์จากปุ๋ยที่ใช้ในการผลิตพืชผล
- ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อขยายพื้นที่การเกษตร
- ก๊าซเรือนกระจกทางการเกษตรอื่น ๆ เช่น การปลูกข้าว การเผาวัสดุอินทรีย์ เป็นต้น
ประเภทอาหารที่ก่อภาวะโลกร้อนแต่มักถูกมองข้ามก็คือ “ข้าว” ธนาคารโลกระบุว่า การทำนาข้าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญที่สุดของโลกมีการปล่อยก๊าซมีเทนมากถึงร้อยละ 25-30 ของจำนวนก๊าซมีเทนทั้งหมดที่ปล่อยในภูมิภาค เพราะข้าวส่วนใหญ่ที่ปลูกในแปลงนาน้ำขังจะไม่มีก๊าซออกซิเจนเปลี่ยนผ่าน ทำให้แบคทีเรียและจุลินทรีย์ในดินเติบโตได้ดี และปล่อยก๊าซมีเทนออกมาในขณะย่อยสลายสารอินทรีย์ต่าง ๆ ในดิน (3)
นอกจากก๊าซมีเทนแล้ว ยังมีอีกปัญหาหนึ่งและเป็นปัญหาใหญ่คือ มลพิษอากาศจากการเผา โดยมากชาวนาจะเลือกจัดการตอซังและฟางข้าวหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตด้วยการเผา เพราะทำได้ง่ายและรวดเร็ว
เกษตรธรรมชาติ ไม่เผา – ไม่ใช้สารเคมี
แม้ผู้บริโภคอย่างเราจะไม่ได้สร้างกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรง แต่เราก็มีส่วนในการสนับสนุนให้กิจกรรมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการเลือกซื้อและบริโภคสินค้าหรืออาหาร
พิเชษฐ โตนิติวงศ์ ผู้จัดการไปทั่ว หรือ “หนาว” ของธรรมธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคมที่สนับสนุนเกษตรกรให้ทำเกษตรกรรมธรรมชาติเพื่อผลิตอาหารมากกว่าเพื่อหวังผลกำไร ก่อนจะส่งต่อให้ผู้บริโภคซึ่งเป็นปลายน้ำอีกที คุณหนาวเล่าว่า เกษตรกรรมธรรมชาติเพื่อผลิตอาหาร คือแนวคิดหนึ่งที่ประยุกต์มาจากหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ให้เกษตรกรได้ผลิตเพื่อกินเพื่อใช้ เมื่อมีเหลือจึงค่อยนำมาขายและแบ่งปัน ซึ่งแนวคิดนี้ช่วยให้เกษตรกรเลี่ยงการใช้สารเคมีเพราะไม่มีใครอยากกินข้าว หรือผักที่มีสารเคมี และเมื่อไม่ใช้สารเคมีแล้วการทำเกษตรเพื่อผลิตอาหารก็ไม่จำเป็นต้องเผา เพราะการเผาไม่ได้แค่สร้างมลพิษ แต่ยังเป็นการทำลายจุลินทรีย์ที่ดีที่อยู่ในดิน ทำให้ดินเสื่อมสภาพและไม่สามารถทำการเกษตรได้อีกต่อไป
นอกจากมีแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นพระเอกแล้ว ยังมีพระรองคือน้ำหมักสมุนไพรรสจืดที่ใช้เป็นตัวล้างสารเคมีที่คั่งค้างในดินและช่วยย่อยวัตถุอินทรีย์ที่เหลือทิ้งจากการเกษตรทำให้ไม่ต้องเกิดการเผา
“การใช้น้ำหมักสมุนไพรรสจืดช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรได้ เพราะน้ำหมักสมุนไพรรสจืดมันเป็นกรดอ่อน ๆ ไปย่อยสลายฟางหรือใบไม้ หรืออินทรียวัตถุที่ถับถมให้ไม่ปล่อยก๊าซมีเทน มันจะย่อยสลายหมด ทั้งยังทำให้ดินตรงนั้นอุดมด้วยสารอาหารด้วย”
ศัตรูพืชที่เป็นหนึ่งในปัญหาของการทำเกษตร อย่างเช่น แมลง คุณหนาวเล่าว่า เกษตรกรรมธรรมชาติที่ไม่ใช้สารเคมีและไม่เผาจะสร้างระบบนิเวศขึ้นมาจัดการกันเอง ยกตัวอย่างแปลงนาข้าวที่จังหวัดเชียงใหม่ คุณหนาวเคยแนะนำให้ชาวนาทดลองแบ่งนาข้าวออกเป็นสองแปลง แปลงหนึ่งฉีดยาฆ่าแมลง อีกแปลงทำการเกษตรแบบธรรมชาติ
“ปีแรกที่เราไปทำนาที่เชียงใหม่มันจะมีโรคเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาด เราท้าทายชาวนาเลย คุณมีพื้นที่นา 10 ไร่ ขอไร่เดียวตรงกลางเป็นไข่แดงที่ทำตามวิถีเกษตรธรรมชาติ แล้วอีก 9 ไร่ ฉีดยาฆ่าแมลง ปรากฏว่า 9 ไร่ เสียหายมากกว่า 1 ไร่ ที่เสียหายมากกว่าเพราะ 1 ไร่ ที่ไม่ฉีดยาแมงมุมมันไม่ถูกฆ่าด้วยยาฆ่าแมลง แมงมุมจึงชักใยเต็มนา 1 ไร่ เพื่อกินเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล นั่นเท่ากับว่าเราสร้างระบบนิเวศให้เขาจัดการกันเอง”
อีกหนึ่งตัวละครที่สำคัญของเกษตรกรรมธรรมชาติคือ การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง นั่นคือ ป่าอาหาร ป่าใช้สอย และป่าเศรษฐกิจ ซึ่งประโยชน์ข้อที่ 4 อากาศร่มเย็น ไม่มี PM2.5 และช่วยโลกกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์
กินลดโลกร้อน
คุณหนาวเชื่อว่า พลังคนกินเปลี่ยนโลกได้ โดยเฉพาะภาคการเกษตร ถ้าผู้บริโภคให้เห็นความสำคัญเรื่องการกินเลือกอาหารอย่างรู้ที่มา โลกใบนี้เปลี่ยนได้แน่นอน
“โลกเดือดส่วนหนึ่งก็เกิดจากการทำการเกษตรแบบเผาแบบใช้สารเคมี และไม่ได้เพิ่มพื้นที่ป่านั่นเอง การจะลดโลกเดือดได้มันไม่ใช่แค่ลดการใช้พลาสติกหรือไม่ให้มีเศษอาหารเหลือ มันไม่ใช่แค่นั้น การจะลดโลกเดือดได้จริง ๆ มันคือการปลูกป่าเพิ่ม และการการเกษตรแบบไร้สารเคมีเพื่อรักษาหน้าดิน”
คุณหนาวเล่าเพิ่มเติมว่า นอกจากชาวนาแล้วยังมีเกษตรกรกลุ่มอื่นที่ต้องการทำเกษตรธรรมชาติไปพร้อมกับการปลูกป่า ซึ่งคุณหนาวและธรรมธุรกิจยินดีให้องค์ความรู้ทุกอย่าง “ฉะนั้นคนกินต่างหากที่ต้องเลือกกิน ไม่ต้องกินของเราก็ได้ ใครก็ได้ที่ทำ แล้วปลูกป่าเพิ่มอันนี้คือสิ่งที่อยากจะฝากถึงคนกินให้คิดถึงตรงนี้”
การปรับเปลี่ยนแนวคิดและวิถีกสิกรรมไทยเพื่อการปรับตัวการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เกิดขึ้นแล้วและเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แต่วิถีดังกล่าวจะไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ถ้าผู้บริโภคไม่ให้การสนับสนุน
“การกินช่วยลดโลกร้อนได้ ขอให้เลือกกินอย่างรู้ที่มา ถ้าเป็นผลิตผลทางการเกษตรที่เป็นธรรมชาติไม่ใช้สารเคมี แค่นั้นไม่พอต้องเป็นเกษตรที่ปลูกป่า มันถึงจะเป็นการกินที่ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างแท้จริง”
อ้างอิง
- Joseph J Merz, World scientists’ warning: The behavioural crisis driving ecological overshoot. (2023). Retrieved Apr 15, 2024, from https://journals.sagepub.com/doi/10.1177/00368504231201372
- UN, Food and Climate Change: Healthy diets for a healthier planet. Retrieved Apr 15, 2024, from https://www.un.org/en/climatechange/science/climate-issues/food
- BBC Thai, ปลูกข้าวกระทบโลกร้อนกว่าที่คิด (2023). Retrieved Apr 16, 2024, from https://www.facebook.com/BBCnewsThai/posts/752769850216515/?paipv=0&eav=AfZU6dwgherD722nuAIZNTeowItOTPwFwt1V3vFIEKyld_x1bPkHCdKnawVONGwGVGU&_rdr
- พิเชษฐ โตนิติวงศ์, ตำแหน่ง ผู้จัดการไปทั่ว, ธรรมธุรกิจ, สัมภาษณ์, 26 เมษายน 2567