เฮือกสุดท้ายของแต้วแล้วท้องดำ

เดือนเมษายน 2559 เป็นครั้งสุดท้ายที่มีการพบนกแต้วแล้วท้องดำ (Gurney’s Pitta) ตัวเป็นๆ ในป่าเมืองไทย ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม (เขานอจู้จี้) จ.กระบี่

จากปากคำของผู้พบเห็นและถ่ายรูปได้ เป็นนกตัวเมียที่อยู่ในอาการ “คึก” สุดขีด และพบได้หลายวัน ก่อนนกจะเคลื่อนย้ายจุด แบบไปแล้วไปลับ

รุ่งขึ้นปี 2560 ทีมสำรวจของกรมอุทยานฯ ระบุถึงการได้ยินเสียงร้องตอบเทป แต่ไม่พบตัว

ปี 2561 ป่าเขานอจู้จี้มีแต่ความว่างเปล่า ไม่มีแม้เสียงร้องให้ทีมสำรวจได้ยิน

เช่นเดียวกับปี 2562 ซึ่งแบ่งการสำรวจออกเป็น 2 ช่วง ผลช่วงแรกออกมาแล้ว ไม่พบเบาะแสใดๆ ของนกแต้วแล้วท้องดำ ส่วนการสำรวจช่วงที่ 2 อยู่ระหว่างดำเนินการ (ณ วันที่ 2 พฤษภาคม 2562)

เหมือนโอกาสการพบนกแต้วแล้วท้องดำ สัตว์สงวนของไทยกำลังจะหลุดลอยไปตลอดกาล แต่ความหวังของกรมอุทยานฯ ยังไม่สิ้น

ยังมีความเชื่อกันว่า อาจมี “นกเดนตาย” กลุ่มสุดท้ายที่ยังซ่อนตัวอยู่ในความรกชัฏของป่าเขานอจู้จี้

ขณะที่ถนนทุกสายของเหล่า FC นกแต้วแล้วท้องดำ เวลานี้ต่างมุ่งไปที่ประเทศเมียนมา แทนที่ จ.กระบี่ เรียบร้อยแล้ว

มีนักวิจัยฝรั่ง เมียนมา และไทย เข้าไปทำงานในป่าตะนาวศรีช่วงหลายปีหลังมานี้ ถึงขั้นติดสัญญาณวิทยุบนตัวนก จนทราบขนาดอาณาเขตที่แน่ชัดของนกแต้วแล้วท้องดำกันเลยทีเดียว (ล้ำมาก)

เช่นเดียวกับการเดินสำรวจด้วยการเปิดเสียง ในช่วงจับคู่ทำรัง ก็ดำเนินการเช่นเดียวกับฝั่งไทย

ส่วนทัวร์ดูนกแต้วแล้วท้องดำ ที่มีค่าบริการแพงลิบ ก็มีการเซตโปรแกรม 7 วัน 6 คืน โดยเริ่มด้วยการบินไปลงกรุงย่างกุ้ง แล้วบินในประเทศมาลงที่เมืองมะริด ต่อด้วยรถโฟร์วีลส์ และต่อด้วยมอเตอร์ไซค์เข้าสู่ป่าเป็นทอดสุดท้าย (เฉพาะซ้อนมอเตอร์ไซค์ก็ใช้เวลานานถึง 2 ชั่วโมง)

จำนวนนกแต้วแล้วท้องดำเมียนมา ตามที่ระบุไว้ในเว็บไซต์ www.iucnredlist.org คือ ล่าสุด คือ 10,000-17,200 ตัว

โดยแนวโน้มกำลังลดจำนวนลงทุกวัน อันเนื่องจากการบุกรุกทำพื้นที่เกษตรกรรม วงจรหายนะที่เคยเกิดขึ้นกับนกชนิดนี้ในเมืองไทย กำลังอุบัติซ้ำที่เมียนมา

ทำไมนกแต้วแล้วท้องดำ สาบสูญไปจากป่าเขานอจู้จี้? แม้แต่นักวิจัยก็ยังหาคำตอบไม่ได้แน่ชัด เพราะช่วงปีหลังๆ มานี้ การบุกรุกป่าเพื่อทำสวนปาล์มน้ำมันและสวนยางพารา ก็ลดลงไป พื้นที่ป่าอันเหมาะสมแบบที่นกแต้วแล้วท้องดำชื่นชอบ ก็ยังมีอยู่มากมาย

ผมเองไม่มีหลักฐานใดๆ มีแต่ “สัญชาตญาณบ้านๆ” สังหรณ์ว่า ขบวนการค้าสัตว์ป่า อาจเป็นสาเหตุการหายไปของนกอย่างฮวบฮาบ ตั้งแต่ช่วงปี 2554-2558

เช่นเดียวกับวิธีสำรวจหาตัวนกแต้วแล้วท้องดำให้เจอ ผมก็นึกถึงวิธีการบ้านๆ ที่ไม่มีหลักวิชาการใดๆ รองรับขึ้นมาได้

ผมมโนเห็นการสร้าง “จุดล่อปลวก” ในพื้นที่ต่างๆ ของป่าเขานอจู้จี้ แล้วตั้งกล้องดักถ่าย เฝ้าจุดไว้แทนคน เพื่อให้นกระแวงน้อยที่สุด

ผมเคยเจอ “อดีตพรานนก” ยืนยันว่าจอมปลวกเล็กๆ ตามพื้นป่าที่แกเรียกว่า “ปลวกหม้อ” (เพราะขนาดเท่าๆ หม้อหุงข้าว) หรือภาษาใต้เรียกว่า “เคง” เป็นเหยื่อที่นกป่าเจอเมื่อไรเป็นคลั่ง

โดยปลวกมีภาษีเหนือกว่าหนอนนก ตรงที่เป็นของฟรี และมดไม่ค่อยกล้ายุ่งกับพวกมัน ขณะที่หนอนนก ราคาขีดละ 50 บาท และมดป่าก็มักแห่มารุมกัดกินอีกต่างหาก ไม่สามารถใช้ล่อนกได้หลายวัน

ทั้งนี้ ผมเคยซุ่มในบังไพรที่ป่าเขานอจู้จี้ ในบริเวณที่มี “จุดล่อปลวก” มันจะมีนกค่อยๆ เข้ามาทีละชนิด ในที่สุดก็เกิดบรรยากาศของงานเลี้ยง จนนกนานาชนิดแห่เข้ามากินปลวก

“โต๊ะจีนปลวก” อาจดึงดูดนกแต้วแล้วท้องดำผู้ลึกลับ ให้อดใจไม่ไหว ต้องออกจากที่ซ่อนตัวมาเข้ากล้องดักถ่ายก็เป็นได้!

อาจมีคนหมดหวังไปแล้วกับนกแต้วแล้วท้องดำของไทย แต่คนโลกสวยอย่างผม กลับมีความหวังหล่อเลี้ยงเสมอ เชื่อมั่นในส่วนลึกว่าสักวัน พวกมันจะกลับมา!

#สิงสาราสัตว์

Related posts

มหาอำนาจโลกในมือ ‘ทรัมป์’ จุดจบการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศ?

โลกจมกองพลาสติก ต้องเปลี่ยนวิธีผลิต ลดการบริโภค กำจัดอย่างยั่งยืน

อุณหภูมิทะลุ 3.1°C แผนลดก๊าซเรือนกระจกในปี 2030 เป็นเรื่องเพ้อฝัน