22 ประเทศใช้ AI ดัก ‘เสียงจากป่า’ แก้ลักลอบตัดไม้-ล่าสัตว์ ใช้สำรวจระบบนิเวศได้ด้วย

เทคโนโลยี AI ที่เรียกตัวเองว่า “ผู้พิทักษ์” (Guardian ) เป็นอุปกรณ์ “ดักสัญญาณเสียง” ที่นำไปติดตั้งไว้ในพื้นที่ป่าลึก ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่น่าทึ่ง ฉะนั้นในขณะที่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าบ้านเรากำลังเดือดร้อนเพราะหลายคนต้องถูกเลิกจ้าง, ถูกตัดเงินเดือน เพราะภาครัฐไม่มีงบจ้าง รัฐบาลจึงควรทบทวนนโยบายด้านนี้และให้ความสำคัญในการปกป้องผืนป่าแทนที่จะให้หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องมาลุ้นงบประมาณรายปี

ภายใต้วิกฤตทรัพยากรธรรมชาติ igreen จึงขอนำเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับการอนุรักษ์ป่าโดยการใช้ AI มานำเสนอหลังจากได้มีการปรับปรุงเนื้อหาเพิ่มเติมจากที่เคยนำเสนอไปก่อนหน้านี้

Rainforest Connection (RFCx) เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรในสหรัฐได้พัฒนาอาวุธชนิดใหม่ต่อสู้กับขบวนการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า โดยพัฒนาระบบให้สามารถวิเคราะห์ “เสียงของป่า” เพื่อตรวจจับการตัดไม้และการลักลอบล่าสัตว์ ระบบนี้ถูกนำไปใช้ในป่าเขตร้อนใน 22 ประเทศ อาทิ อินโดนีเซีย บราซิล และแคเมอรูน ขณะนี้ได้ถูกนำไปใช้เพื่อปกป้องสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ด้วย

RFCx ก่อตั้งขึ้นในปี 2013 หลังจาก โทเฟอร์ ไวน์ นักเทคโนโลยีการอนุรักษ์สังเกตว่า เจ้าหน้าที่ป่าไม้ในป่าฝนชาวอินโดนีเซียใช้เวลาไปกับการแก้ปัญหาการลักลอบตัดไม้มากกว่าการดูแลสัตว์ป่าในท้องถิ่น เนื่องจากความหนาแน่นของป่าเขตร้อนทำให้ตรวจจับได้ยากและอาจใช้เวลาหลายวันในการเข้าถึงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ

ในที่สุดพวกเขาก็ตระหนักว่า “เสียง” คือสิ่งที่ป่าสื่อสารกัน เพราะความหนาแน่นของป่าทำให้สัตว์และสิ่งมีชีวิตในป่าต้องใช้เสียงในการจับความเคลื่อนไหวและรับรู้การมีอยู่ของสิ่งต่าง ๆ ในป่า


RFCx จึงเริ่มต้นด้วยการติดตั้งโทรศัพท์มือถือทิ้งแล้ว แต่นำมาใช้อีก (โดยวิธี upcycled หรือนำมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณภาพหรือมูลค่าสูงกว่าของเดิม) เพื่อรับเสียงและส่งเสียงของป่าจากนั้นนำมาวิเคราะห์เพื่อหาหลักฐานการลักลอบตัดไม้

ตั้งแต่นั้นมาพวกเขาได้พัฒนาอุปกรณ์ของตัวเองที่เรียกว่า “ผู้พิทักษ์” (Guardian ) ซึ่งเป็นการรวมแผงวงจรหลักที่พัฒนาขึ้นเองไปไว้ในกล่องกันฝนพร้อมแผงโซลาร์เซลล์ เสาอากาศแบบกำหนดทิศทาง และไมโครโฟน เพื่อนำไปติดตั้งไว้บนยอดไม้ในป่าดงดิบและสามารถบันทึกเสียงทั้งหมดของป่าได้

จากนั้นข้อมูลนี้จะถูกสตรีมไปยังระบบคลาวด์ซึ่งจะถูกวิเคราะห์โดยโมเดล AI ของ RFCx เพื่อตรวจจับสัญญาณเสียงต่าง ๆ เช่น เลื่อยไฟฟ้า ยานพาหนะ เสียงของมนุษย์ เสียงปืนหรืออะไรก็ตามที่จะแจ้งให้พวกเขาทราบว่าป่าถูกรบกวน ไม่ว่าการลักลอบล่าสัตว์หรือการทำเหมืองผิดกฎหมายที่เกิดขึ้นในป่าและสามารถสร้างการแจ้งเตือนระวังภัยจากเสียงเหล่านั้นโดยอัตโนมัติ

การแจ้งเตือนเหล่านี้จะส่งถึงผู้คนในภาคพื้นดิน เช่น ทหารพราน คนพื้นเมือง และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรผ่านโทรศัพท์มือถือ ผู้รับสามารถดูสเปกโตรแกรม (แถบคลื่นความถี่ของเสียงหรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า) ของการแจ้งเตือน สามารถฟังและยืนยันหรือปฏิเสธว่ามันเป็นเสียงของการลักลอบตัดไม้หรือล่าสัตว์หรือไม่ ซึ่งจะช่วยให้ RFCx ปรับปรุงอัลกอริทึม AI ให้แม่นยำมากขึ้นต่อไป

พวกเขายังร่วมมือกับบริษัทฮิตาชิ แวนทารา (Hitachi Vantara) ในเครือของฮิตาชิที่เน้นในเรื่องนวัตกรรม ฮิตาชิ แวนทารา ได้เข้ามาช่วยจับเสียงต่าง ๆ ในป่าให้แม่นยำยิ่งขึ้นและสามารถแยกแยะได้ชัดเจนมากขึ้น

นั่นก็คือเทคโนโลยี bioacoustic signature ซึ่งจะจับสัญญาณจากสัตว์ป่าที่ในภาวะปกติพวกมันจะส่งเสียงแบบหนึ่ง แต่ถ้าป่าถูกรบกวนจากการตัดไม้มันจะส่งเสียงที่แปลออกไปในลักษณะเฉพาะ (signature) ซึ่งเป็นคำเตือนว่ามีการลุกล้ำป่าซึ่งมีความแม่นยำถึง 96% สามารถช่วยให้เจ้าหน้าที่บุกไปถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้น 5 วัน

นอกเหนือจากการขัดขวางขบวนการตัดไม้ผิดกฎหมายแล้ว แอปนี้ยังมีแพลตฟอร์มสำหรับนักนิเวศวิทยาในการศึกษาสัตว์ป่าอีกด้วย โดยที่นักวิจัยสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็วโดยไม่จำเป็นต้องส่งคนไปลงพื้นที่จริงๆ แต่สามารถฟังจากเสียงได้ เช่น การบันทึกความหลากหลายทางชีวภาพ หรือเรียกว่า ecoacoustics เพื่อตรวจสอบว่าระบบนิเวศมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น

RFCx บอกไว้ในเว็บไซต์ว่า “เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่เราสร้างชุดข้อมูลที่น่าทึ่งที่สุดในโลก อีกไม่นานมันคือขุมทรัพย์วิทยาศาสตร์เพื่อชีวิตและข้อมูลเชิงนิเวศบนแพลตฟอร์มที่จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงแบบเดือนต่อเดือน ปีต่อปีกับการเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้”

คริสซี เดอร์คิน ผู้อำนวยการฝ่ายขยายธุรกิจระหว่างประเทศของ RFCx กล่าวว่า เป้าหมายที่แท้จริงของ RFCx คือการติดตั้งสถานีตรวจสอบอะคูสติกแบบเรียลไทม์ในระบบนิเวศที่สำคัญและถูกคุกคามมากที่สุดในโลก การทำเช่นนี้จะช่วยให้นักอนุรักษ์และประชากรในท้องถิ่นมั่นใจได้ว่า พื้นที่ป่ายังคงได้รับการคุ้มครองและยังช่วยสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพในระดับต่าง ๆ ลึกซึ้งมากขึ้นด้วย

ปัจจุบัน Rainforest Connection มีโครงการใน 22 ประเทศและกำลังเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อใช้เทคโนโลยีและข้อมูลขนาดใหญ่ช่วยรักษาป่าฝนและแหล่งที่อยู่อาศัยที่ถูกคุกคามมากที่สุดในโลก นอกจากการอนุรักษ์ป่าเพื่อการหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว การใช้เครื่องมือ AI นี้ยังมีความสำคัญต่อการสนับสนุนชุมชนที่ยากจนที่สุดในโลกหลายแห่งที่ต้องพึ่งพาป่าฝนเพื่อหาอาหาร ที่พักพิง และการดำรงชีวิตอีกด้วย

อ้างอิง:
• Cristina Lago (Feb 8, 2021) “Sounds of the forest: How ‘bioacoustic’ analysis is helping to fight illegal logging”. Tech Monitor.
• Rachel Cavanaugh (March 26, 2018) “Cell phones in Amazon trees alert rangers to illegal logging, record wildlife” . Digitaltrends
• https://rfcx.org/
ภาพ : Rainforest Connection

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

ชุบชีวิต ‘ขยะทะเล’ เพิ่มมูลค่า ชุมชนยั่งยืน ลดโลกร้อน