กทม. ร่วมบริษัทเอ็นที เร่งนำสายสื่อสารมุดดิน 100 กม. กฟน.แจงถนนปลอดเสาไฟยังอืด

กทม.ยุคชัชชาติเริ่มเดินหน้าเอาสายสื่อสารที่รกรุงรังตามเสาไฟฟ้าลงดิน ล่าสุดรองผู้ว่า หารือร่วมกับบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ เอ็นที เตรียมนำสายสื่อสารลงใต้ดินเพิ่มเติม ขณะที่ความคืบหน้าถนนปลอดเสาไฟฟ้าและสายไฟยังมีความล่าช้า กฟน.สร้างเสร็จไปเพียง 55.7 กิโลเมตร และอยู่ระหว่างดำเนินการระยะทาง 180.4 กิโลเมตร

การประชุมหารือเรื่อง การนำสายสื่อสารลงใต้ดินของกรุงเทพมหานคร (กทม.) กับบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ เอ็นที เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2565 ที่มี รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธาน ในเบื้องต้นสรุปว่าต้องนำสายสื่อสารลงใต้ดิน 4 กลุ่ม ประกอบด้วย ดังนี้

กลุ่มที่ 1 บริเวณที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) นำเสาไฟฟ้าออกจากพื้นที่และนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินแล้ว บริเวณดังกล่าวก็ต้องนำสายสื่อสารลงใต้ดินด้วย เนื่องจากไม่มีเสาไฟฟ้าแล้ว หรือเรียกว่าภาคบังคับ จุดนี้ต้องรีบดำเนินการซึ่งจุดนี้มีระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร

กลุ่มที่ 2 บริเวณที่การไฟฟ้ายังไม่นำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน ผู้ประกอบการยังเดินสายบนเสาไฟฟ้า จุดนี้ต้องขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการ หากบริเวณใดที่มีท่อของเอ็นทีอยู่แล้วต้องขอให้นำสายสื่อสารลงดิน แม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายอยู่บ้าง แต่ก็จะคิดให้ต่ำที่สุดเนื่องจากเอ็นทีมีท่อเดิมอยู่แล้วไม่ต้องก่อสร้างใหม่ ดังนั้นค่าใช้จ่ายรวมในการนำสายสื่อสารลงใต้ดินก็จะถูกลง

กลุ่มที่ 3 บริเวณที่ต้องจัดระเบียบ แต่ยังมีเสาไฟฟ้าอยู่ ในกรณีที่ กทม.จะปรับปรุงทางเท้าบริเวณดังกล่าวจะทำการวางท่อสายสื่อสารเพื่อรองรับไว้เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย

หลังจากนั้นจะขอความร่วมมือผู้ประกอบการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน

และกลุ่มที่ 4 เป็นกลุ่มที่ต้องใช้ความพยายามมากหน่อย ซึ่งอยู่ในถนน ตรอกซอย ยังไม่มีท่อสายสื่อสารกลางได้หารือกันว่าจะทำอย่างไรที่ให้ผู้ประกอบการมาแชร์ค่าใช้จ่ายกันในการนำสายสื่อสารลงดิน เบื้องต้นเสนอว่าพร้อมที่จะเป็นตัวกลางในการประสานกับผู้ประกอบการโดยให้คณะทำงานหารือและเร่งสรุปแผนภายในหนึ่งสัปดาห์ว่าจะต้องใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ในการดำเนินงาน

ทั้งนี้ ในสมัย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าฯ กทม. ได้ระบุผ่านเฟซบุ๊กผู้ว่าฯ อัศวินไว้ตอนหนึ่งว่า ตั้งแต่ปี 2561 ที่ผ่านมา กทม. การไฟฟ้านครหลวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำข้อตกลงเพื่อนําสายไฟฟ้าสายสื่อสารลงดินในพื้นที่ กทม. โดยได้นำลงใต้ดินแล้ว 21 เส้นทาง ระยะทางรวม 133,050 เมตร

เช่น ถนนราชปรารภ ถนนพหลโยธินและถนนลาดพร้าว ถนนรัชดาภิเษกถึงถนนพระราม 9และถนนรัชดาภิเษกถึงถนนอโศก ถนนพระราม 4 ถนนพระราม 3 ถนนจรัญสนิทวงศ์ ถนนวิทยุ ถนนนานาเหนือ ถนนชิดลม โดยอดีตผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่า จะนำไฟฟ้าและสายสื่อสารลงดินอีกกว่า 20 เส้นทาง ระยะทางรวมกว่า 250 กิโลเมตร

อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าโครงการนำสายไฟและสายสื่อสารลงใต้ดินมีความล่าช้ามากโดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2565 ได้รับทราบรายงานผลการดำเนินการตามแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินของกฟน. ปี 2564 ซึ่งตามแผน กฟน.รับผิดชอบดูแลครอบคลุมพื้นที่ กทม. นนทบุรี และสมุทรปราการระยะทางรวม 236.1 กิโลเมตร

สำหรับกรอบระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2527-2570 รวม 8 แผนงาน ดำเนินการแล้วเสร็จ 55.7 กิโลเมตร และอยู่ระหว่างดำเนินการระยะทาง 180.4 กิโลเมตร ประกอบด้วย แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินปี 2551-2556 (ฉบับปรับปรุง) ระยะทางรวม 25.2 กิโลเมตร อยู่ระหว่างดำเนินการ 17.2 กิโลเมตร มีกำหนดแล้วเสร็จปี 2567 ช้ากว่าแผนร้อยละ 5.41

ได้แก่ โครงการนนทรีระยะทาง 6.3 กิโลเมตร, โครงการพระราม 3 ระยะทาง 10.9 กิโลเมตร ส่วนแผนงานเปลี่ยนระบบไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินรัชดาภิเษก ระยะทางรวม 22.5 กิโลเมตร มีกำหนดแล้วเสร็จปี 2568 ช้ากว่าแผนร้อยละ 13.84 ประกอบด้วย โครงการรัชดาภิเษก-อโศก ระยะทาง 8.2 กิโลเมตร, โครงการรัชดาภิเษก-พระราม 9 ระยะทาง 14.3 กิโลเมตร

และแผนงานเปลี่ยนระบบไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินเพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน รวมระยะทาง 127.3 กิโลเมตร มีกำหนดแล้วเสร็จปี 2568 อยู่ระหว่างดำเนินการ 120.2 กิโลเมตรช้ากว่าแผนร้อยละ 2.45 ดังนี้

1.โครงการพื้นที่เมืองชั้นในรวม 12.6 กิโลเมตร ได้แก่ ถนนวิทยุ 2.1 กิโลเมตร, ถนนพระราม 4 ระยะทาง 2.3 กิโลเมตร, ถนนอังรีดูนังต์ 1.8 กิโลเมตร, ถนนชิดลม 0.7 กิโลเมตร, ถนนสาทร 3.6 กิโลเมตร, ถนนหลังสวน 1.3 กิโลเมตร และถนนสารสิน 0.8 กิโลเมตร

2.โครงการในพื้นที่เชื่อมโยงระบบส่งระหว่างสถานีไฟฟ้าต้นทาง รวม 7.4 กิโลเมตร ได้แก่ ถนนเจริญราษฎร์ 3.8 กิโลเมตร, ถนนเพชรบุรี 1 กิโลเมตร และถนนดินแดง 2.6 กิโลเมตร

3.โครงการในพื้นที่ก่อสร้างร่วมกับหน่วยงานสาธารณูปโภคอื่นรวม 100.2 กิโลเมตร ได้แก่ โครงการในพื้นที่ตามแนวรถไฟฟ้า 87.1 กิโลเมตร และโครงการในพื้นที่ร่วมกรุงเทพมหานคร 13.1 กิโลเมตร เช่น ถนนพรานนก

ขณะที่แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินฉบับปฏิบัติการเร่งรัด ระยะทางรวม 20.5 กิโลเมตร มีกำหนดแล้วเสร็จปี 2570 ช้ากว่าแผนร้อยละ 4 ได้แก่ โครงการตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง ถนนรัตนาธิเบศร์ 4.4 กิโลเมตร, โครงการตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง ถนนกรุงเทพ-นนทบุรี ถึงถนนติวานนท์ 10.6 กิโลเมตร และโครงการตามแนวรถไฟฟ้า สายสีเขียว ถนนสุขุมวิท ซอยสุขุมวิท81-ซอยสุขุมวิท 107 ระยะทาง 5.5 กิโลเมตร

กฟน.ได้วางแผนการเบิกจ่ายเงินในปี 2564 จำนวน 4,161 ล้านบาท ณ เดือน ธ.ค.2564 เบิกจ่ายเงินได้รวม 2,276 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 54.71 ของแผนการเบิกจ่าย ส่วนในระยะต่อไป กฟน.จะได้ติดตามเร่งรัดการดำเนินการให้เสร็จตามแผนและกรอบระยะเวลาที่กำหนด แต่พบอุปสรรคที่ทำให้การก่อสร้างไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จึงจำเป็นต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบ

เช่น การเพิ่มระดับความลึกของบ่อพักและท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินเพื่อหลบอุปสรรครวมทั้งปัญหาการได้รับอนุญาตจากเจ้าของพื้นที่ล่าช้าทำให้เริ่มงานก่อสร้างได้ช้ากว่าแผนงานที่กำหนด

ด้าน นางกรณิศ งามสุคนธ์รัตนา ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) จัดระเบียบสายไฟฟ้า สายสื่อสาร

และการบริหารจัดการไฟฟ้าส่องสว่างในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ในกมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาการจัดระเบียบสายไฟฟ้า สายสื่อสาร

และการบริหารจัดการไฟฟ้าส่องสว่างอย่างทั่วถึงทั้งประเทศ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2565 ว่า จะมีการนำสายไฟฟ้าสายสื่อสารลงดิน 1,500 กิโลเมตร ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลภายใน 3 ปี

ภายในปี 2565 จะดำเนินการแบบเร่งด่วนระยะทาง 456 กิโลเมตร และอีก 936 กิโลเมตร ภายใน 3 ปี นอกจากนี้จะมีการนำสายไฟฟ้าสายสื่อสารลงดินเพิ่มเติมในต่างจังหวัดอีกกว่า 6,000 กิโลเมตร ภายใน 3 ปีด้วย

หน่วยงานที่ดูแลการนำสายไฟฟ้าสายสื่อสารลงดิน ประกอบด้วย 1.การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) มีหน้าที่กำกับดูแลการพาดสายสื่อสาร กำหนดเส้นทางการจัดระเบียบสายสื่อสารร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกำกับการจัดระเบียบสายสื่อสารในพื้นที่รับผิดชอบของ กฟน.

2.การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มีหน้าที่กำกับดูแลการพาดสายสื่อสาร กำหนดเส้นทางการจัดระเบียบสายสื่อสารร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกำกับการจัดระเบียบสายสื่อสารในพื้นที่รับผิดชอบของ กฟภ. 3. กรุงเทพมหานคร มีหน้าที่อำนวยความสะดวกการจราจรในพื้นที่การจัดระเบียบสายสื่อสาร และประสานงานกับตำรวจดูแลและอนุญาตการใช้พื้นที่ทางเท้า รวมถึงการทำความเข้าใจกับประชาชน

และ 4. สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีหน้าที่กำหนดเส้นทางการจัดระเบียบสายสื่อสารร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประสานงานกับผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม และกำกับการจัดระเบียบสายสื่อสาร

เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ที่ผ่านมา นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ก็ได้ลงพื้นที่บ่อฝรั่ง เขตจตุจักรซึ่งเป็นพื้นที่ของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย หรือ SCG มีขนาด 63 ไร่ โดยระบุว่า จากการหารือกับผู้บริหาร SCG จะมอบพื้นที่ที่เรียกว่า บ่อฝรั่งซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 53 ไร่ มาทำสวนสาธารณะกลางเมือง

#ชัชชาติ #ผู้ว่าฯกทม. #สิ่งแวดล้อมกรุงเทพฯ #กรุงเทพสำหรับทุกคน #สายไฟลงดิน

อ้างอิง:

https://news.thaipbs.or.th/content/315602

https://www.bangkokbiznews.com/news/988179

https://www.thansettakij.com/economy/512838

Related posts

จัดเดิน-วิ่ง มินิมาราธอน ปีที่ 2 ส่งต่อขาเทียมช่วยผู้พิการยากไร้

‘COP-19’ ดันอาเซียน เป็นภูมิภาคปลอด หมอกควัน

5 ปีอุณภูมิโลกส่อทะลุ 1.5 องศา ไทยเร่งรับมือ 6 สาขาเสี่ยงระดับพื้นที่